วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รถไฟไทย เมื่อประชาชนเป็นตัวประกัน‏

รถไฟไทย เมื่อประชาชนเป็นตัวประกัน
Mon, 29/06/2009 - 13:25 — วันชัย ตัน
มีคนเคยบอกผู้เขียนว่า ข้อดีของรถไฟไทยที่สอบผ่านมีอยู่ประการเดียวคือ เกิดอุบัติเหตุน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์

ส่วนข้ออื่นสอบตกหมด

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสขึ้นรถไฟไปหนองคาย มีนัดหมายสำคัญ ออกจากกรุงเทพฯประมาณหกโมงเย็นเศษๆ ตามหมายกำหนดการจะถึงหนองคายประมาณเจ็ดโมงกว่าของวันรุ่งขึ้น แต่เอาเข้าจริงรถไฟมาถึงหนองคายร่วมสิบโมง

สายไปเกือบสามชั่วโมง ทำให้ผู้เขียนพลาดธุระครั้งสำคัญ แต่ไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องจากใคร เพราะการรถไฟไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ไม่มีคู่แข่งที่จะคอยกดดันให้ต้องปรับปรุงบริการ

แน่นอนว่าผู้โดยสารทุกคนต่างมีประสบการณ์ร่วมกัน ก้มหน้าก้มตายอมรับความจริง ไม่ปริปากบ่น หากเลือกได้คงจะหนีไปใช้รถโดยสาร รถยนต์ส่วนตัวกันหมดแล้ว

การไม่ตรงเวลา ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง ห้องน้ำเหม็น การบริการห่วยแตก มีหนู แมลงสาบวิ่งพล่านในตู้รถไฟ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ประจานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มาหลายสิบปีแล้ว

ขณะที่ เมื่อ พ.ศ.2471 ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนหัวรถจักรไอน้ำมาเป็นหัวรถจักรดีเซล ด้วยฝีมือบริหารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงคนแรก ทำให้รถไฟไทยทันสมัยที่สุดในเอเชีย

แทบไม่น่าเชื่อว่า จากการรถไฟอันทันสมัยที่สุดในเอเชีย มีโรงเรียนช่างเป็นของตนเอง มีที่ดินมหาศาล แต่ทุกวันนี้กลับล้าหลังกว่าหลายประเทศในแถบอินโดจีน

ในอดีต ร.ฟ.ท.เคยเป็นที่รวมวิศวกรชั้นนำหัวกะทิของประเทศ ไม่ต่างจาก กฟผ. หรือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย แต่เวลาผ่านไปคนเก่งๆ ค่อยๆ ทยอยลาออก เหลือแต่ผู้บริหารที่ด้อยคุณภาพ

เมื่อไม่นานมานี้ บรรดาผู้บริหารของ ร.ฟ.ท.พากันแห่ไปดูงานการรถไฟของประเทศอินเดีย เพราะตอนนี้รถไฟอินเดียกลายเป็นกรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่สามารถพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรมหาศาลได้สำเร็จ

รถไฟอินเดีย มีอายุเก่ากว่าร้อยห้าสิบกว่าปีมากกว่ารถไฟไทยที่มีอายุ 113 ปี และผูกพันกับคนอินเดียมาก เพราะถือเป็นการคมนาคมที่มีเครือข่ายกว้างขวาง เข้าถึงผู้คนทั่วประเทศได้มากที่สุด

รางรถไฟอินเดียมีความยาวทั้งหมดถึง 64,000 กิโลเมตร ขณะที่รางรถไฟไทยมีไม่ถึง 4,000 กิโลเมตร และส่วนใหญ่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

แต่ละวัน อินเดียมีรถไฟวิ่งมากกว่า 11,000 ขบวน เพื่อขนผู้โดยสาร 18 ล้านคน และสินค้า 2 ล้านตัน มีตั๋วรถไฟหลายระดับราคาให้เลือกนั่ง เป็นรถไฟสำหรับคนจนไปถึงคนรวยโดยแท้ ราคาค่าโดยสารชั้นสามของคนจนระยะทางข้ามคืนราคาเพียง 80 กว่าบาท ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟชั้นหนึ่งอาจจะพอๆ กับค่าโดยสารเครื่องบิน

การรถไฟอินเดียเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดยักษ์ ใหญ่โต อุ้ยอ้าย ถือว่าเป็นองค์กรที่มีลูกจ้างมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง คือมีพนักงานทำงานถึง 1.6 ล้านคน และหากรวมถึงผู้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกิจการการรถไฟอินเดียทั้งทางตรงและ ทางอ้อม อาจจะมีมากถึง 80 ล้านคน

ในอดีตรถไฟของอินเดียได้ชื่อว่าสกปรก ห้องน้ำเหม็น ไม่ตรงเวลา ไม่ทันสมัย และขาดทุนมหาศาล แต่ทุกวันนี้รถไฟอินเดียที่อุ้ยอ้าย ได้มีการปรับปรุงคุณภาพขึ้นมากจนพลิกจากขาดทุนสะสมมานับสิบปี เป็นกำไรขึ้นมา

รถไฟอินเดีย ได้ผ่านการปฏิรูปการบริหารอย่างจริงจัง เอามืออาชีพเข้ามาทำงานในทุกภาคส่วน ผู้บริหารการรถไฟอินเดียได้ปรับปรุงการขนส่งและการบริหารอย่างจริงจัง ทั้งการใช้หัวรถจักรและรางรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเพิ่มรอบการบรรทุกขนส่งสินค้าและผู้โดยสารให้มากขึ้น จนทำให้การรถไฟอินเดียทำรายได้ถึงปีละประมาณ 600,000 ล้านบาท

อีกไม่กี่ปีการรถไฟของอินเดียจะพัฒนาให้มีรถไฟหัวจรวดขับเคลื่อนด้วยความ เร็วชั่วโมงละ 350 กิโลเมตร เช่นเดียวกับการรถไฟเวียดนามที่เกิดทีหลังบ้านเรา แต่ตอนนี้กำลังสร้างรถไฟหัวกระสุนความเร็วสูง จากกรุงฮานอยเมืองหลวงของเวียดนามสู่เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ทางใต้

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย มีหัวจักร 212 หัวจักร แต่วิ่งได้เพียง 135 หัวจักร และมีผลประกอบการขาดทุนปีละเกือบ 8,000 ล้านบาท ต่อเนื่องกันมาตลอด และมีหนี้สินสะสม 70,000 กว่าล้านบาท หากเป็นบริษัทเอกชนก็ล้มละลายมานานแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ใน ร.ฟ.ท. มักจะถูกต่อต้านจากคนของการรถไฟภายใต้ชื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ แห่งประเทศไทย ด้วยเหตุผลเดิมๆ คือ ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือป้องกันนักการเมืองเข้าไปล้วงลูก แต่ที่ผ่านมาคนภายนอกไม่มีโอกาสเข้าไปดูว่าภายในการรถไฟมีการบริหารจัดการ กันอย่างไร จึงได้ขาดทุนบักโกรกขนาดนี้

หลายคนคงไม่ทราบว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานเดียวที่มีการสืบทอด ทายาท หากพ่อทำงานที่การรถไฟแล้ว ลูกๆ จะได้สิทธิทำงานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้แผนการปรับโครงสร้างรถไฟมีการระบุว่าสามารถรับคนภายนอกมาทำงานแค่ 5% ยังถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานฯ

ร.ฟ.ท.เป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งในสองแห่ง ที่คนเกษียณอายุได้บำเหน็จก้อนหนึ่งแล้วยังสามารถได้บำนาญกินไปตลอดชีวิต จนทำให้ทุกวันนี้มีพนักงานเกษียณอายุไปแล้ว 13,000 คน ที่ ร.ฟ.ท.มีภาระต้องจ่ายเงินค่าบำนาญให้อีก 5 หมื่นกว่าล้านบาท

ทุกวันนี้ ร.ฟ.ท.มีพนักงาน 13,000 คน เรียกว่าคนล้นงานเกินครึ่ง แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีการพัฒนา ไม่มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น ที่ดินหลายหมื่นไร่ทั่วประเทศก็ถูกคนในการรถไฟและนักการเมืองช่วยกันเถือ ช่วยกันแล่ไปทีละชิ้น

เป็นองค์กรแดนสนธยาที่คนนอกอย่างนักการเมืองเข้ามาหาประโยชน์ ขณะที่คนในก็อยู่ไปวันๆ แบบซังกะตาย แต่เงินเดือนไม่เคยลดลง มีเงินเกษียณใช้จนวันตาย

การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างของรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวการบริหารจัดการ มากที่สุด ทั้งๆ ที่ตัวเองมีทรัพย์สินมหาศาลอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน รางรถไฟ หรือหัวรถจักร แต่ไม่สามารถจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

แต่หากใครคิดจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปแดนสนธยาแห่งนี้ สหภาพแรงงานฯก็จะเอาประชาชนเป็นตัวประกัน โดยการนัดหยุดงานประท้วง ภายใต้ผ้ายันต์ผืนเดิมว่า "ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านหลายแสนคน ภายใต้คำพูดสวยหรูว่า

"รู้สึกเจ็บปวดที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแต่ก็ต้องทำ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน"

ถามจริงๆ เถอะ ผลประโยชน์ของประชาชน 60 ล้านคน หรือผลประโยชน์ของคนเพียง 13,000 คน กันแน่ รถไฟอินเดียหรือรถไฟเวียดนาม ที่เป็นของรัฐบาลกำลังวิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงจากฝีมือการบริหารอย่าง มืออาชีพ พลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรได้สำเร็จ

ขณะที่รถไฟไทยเป็นรัฐวิสาหกิจและถือเป็นของคนทั้งประเทศ แต่คนในองค์กรทำตัวเหมือนเป็นเจ้าของเสียเอง คนนอกห้ามแตะ เป็นเสือนอนกิน กัดแทะผลประโยชน์ของประเทศชาติ บริหารจนขาดทุนหลายหมื่นล้าน แถมยังจะมาเบียดบังภาษีของชาวบ้านเอาไปโปะอีกต่างหาก


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา