"เล่นสกปรกเลอะเทอะ" กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้หนูน้อยได้จริงหรือ?
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
10 พฤษภาคม 2553 12:18 น.
การที่เด็กได้เล่นเลอะเทอะหรือสัมผัสกับดินโคลนสกปรกบ้าง แบคทีเรียในสิ่งสกปรกเหล่านี้จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในเด็กได้ฝึกฝนตนเองให้แข็งแรงและลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด หรืออาการอักเสบเรื้อรังในเด็กได้ (ภาพประกอบจาก Getty Images/green.yahoo.com)
"สะอาดมากเกินไป อาจเป็นผลร้ายต่อลูกน้อยของคุณ" - การที่พ่อแม่ผู้ปกครองปกป้องลูกน้อยให้ห่างไกลจากเชื้อโรคทุกชนิด อาจเป็นสาเหตุให้พวกเขาอ่อนแอและมีโรคประจำตัวเมื่อเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด หรือโรคผิวหนัง
สมองของเด็กเล็กจะเรียนรู้และพัฒนาได้ ก็ต่อเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่นเดียวกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งแบคทีเรียที่มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมจะช่วยฝึกให้ระบบภูมิคุ้มกันเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า และปกป้องหนูน้อยจากโรคภัยไข้เจ็บได้
แม้ว่าจุลชีพหลายชนิดจะเป็นสาเหตุทำให้เด็กๆ เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ก็มีหลักฐานระบุว่าแบคทีเรียและไวรัสในกระเพาะอาหารบางชนิด ทั้งที่เป็นตัวก่อโรคและไม่ก่อโรค อาจช่วยปกป้องเด็กเล็กจากอาการโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และอาการอักเสบได้ แต่ไม่มีผลต่อโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น หนูน้อยควรได้สัมผัสกับสิ่งสกปรกบ้าง ได้เล่นเลอะเทอะกับดินโคลน ได้ขบกัดของเล่นที่ตกพื้นแล้ว หรือไปเที่ยวสวนสัตว์บ้าง แต่ควรอยู่ให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่เข้าไว้
ทั้งนี้ แนวคิดที่ว่าเชื้อแบคทีเรียช่วยปกป้องเด็กน้อยจากโรคภูมิแพ้ มีมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนแล้ว โดยนักวิจัยชื่อ เดวิด สตราแคน (David Strachan) พบว่าเด็กที่มีพี่น้องหลายคน โดยเฉพาะมีพี่ชายหลายคน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคไข้จามหรือไข้ละอองฟาง (hay fever) แต่สตราแคนก็ไม่ได้พิสูจน์ถึงความเกี่ยวพันที่เป็นมูลเหตุของเรื่องดังกล่าว และที่อยู่อาศัยของพวกเขาด้วย (เช่นเดียวกับงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น) ซึ่งตัวเด็กอาจจะเรียนรู้จากระบบภูมิคุ้มกันของพี่น้องคนอื่นๆ
เชื้อโรคทุกชนิดที่ติดตามมือไม้ที่สกปรกหรือน้ำมูกที่ไหลย้อย อาจมีส่วนช่วยให้เด็กๆ มีอายุยืนยาว ซึ่งมีนักวิจัยหลายคนได้ศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างเด็กที่เติบโตขึ้นในฟาร์ม มีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ต่ำ เช่นเดียวกับเด็กที่เติบโตมาในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน
ธอม แมคแดด (Thom McDade) นักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสต์เทิร์น (Northwestern University) ได้ทำการศึกษาข้อมูลจากประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงปี 1980 ที่มีการติดตามเด็กเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งมีทั้งข้อมูลครอบครัวที่เด็กเหล่านั้นเกิด และประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วยของมารดาในช่วงที่เด็กมีอายุไม่ถึง 2 ปี พบว่า เด็กที่ได้สัมผัสกับอุจจาระของสัตว์มากกว่า และเด็กที่เคยป่วยเป็นโรคท้องร่วงบ่อยครั้งกว่าในช่วงอายุไม่ถึง 2 ปี มีแนวโน้มที่จะมีระดับของโปรตีน ซี-รีแอคทีฟ (C-reactive protein) ต่ำ ในช่วงอายุ 20 ต้นๆ ซึ่งโปรตีนดังกล่าวเป็นตัวสำคัญของการเกิดอาการอักเสบ นั่นหมายความว่าเด็กเหล่านี้จะมีโอกาสเกิดอาการอักเสบเรื้อรังที่เกี่ยวพันธ์กับโรคไขข้ออักเสบหรือโรคหัวใจน้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ และมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ยังแสดงผลว่ามีส่วนช่วยให้เด็กมีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดน้อยลงด้วย เช่น เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลริ (Helicobacter pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในกระเพาะอาหารของคนประมาณครึ่งโลกที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้ แม้ว่าเชื้อดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการเกิดแผลเน่าเปื่อยพุพอง
อีกผลงานวิจัยหนึ่งรายงานว่า เด็กก่อนวัยเรียนที่มีเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลริ มีแนวโน้มต่ำที่จะได้รับความทรมานจากอาการคันผิวหนังหรือโรคเรื้อน และเชื้อดังกล่าวยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคหอบหืดต่ำในเด็กอีกด้วย
ขณะที่เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A) ที่แพร่กระจายและถ่ายทอดถึงกันได้ด้วยการปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอาหาร ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมการฝึกฝนระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงได้ด้วยเช่นกัน โดยเด็กที่มีความหลากหลายของยีนในระดับปกติและเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ปรากฏว่าส่วนใหญ่มีอาการภูมิแพ้ต่ำ ตามรายงานการวิจัยของเกรแฮม รูค (Graham Rook) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London) ซึ่งเชื้อดังกล่าวน่าจะไปมีส่วนกระตุ้นความสมดุลของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ
ส่วนงานการวิจัยของแอนน์ ไรท์ (Anne Wright) นักวิจัยของศูนย์โรคทางเดินหายใจแอริโซนา (Arizona Respiratory Center) ระบุว่า เด็กที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือหลอดลมอักเสบรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล อาจมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นโรคหอบหืดได้ในภายหลังสูงกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่ก็อาจมีส่วนกระตุ้นการเกิดโรคหอบหืดด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินหายใจ และไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคหัด คางทูม หัดเยรมัน หรืออีสุกอีไส ไม่น่าจะมีบทบาทในการช่วยกระตุ้นการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune regulation) ได้เหมือนกับเชื้อโรค เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลริ และเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน โคลน และผักเน่า
ฉะนั้น เพื่อให้ลูกน้อยของคุณเติบโตแข็งแรงพร้อมกับพัฒนาการของระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ควรปล่อยให้หนูน้อยได้เล่นหรือสัมผัสกับสิ่งสกปรกและเชื้อโรคบ้างอย่างเหมาะสม
(ข้อมูลจาก www.slate.com)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น