วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

###...ผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศ...###..โปรดอ่าน..นี่คือสิทธิของท่าน.

Subject: ผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศ...###..โปรดอ่าน..นี่คือสิทธิของท่าน..


###...ผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศ...###..โปรดอ่าน..นี่คือสิทธิของท่าน..
หน้า ๑๑
เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๒๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

ประกาศกระทรวงคมนาคม
เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย
ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๓
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ (๔) ข้อ ๔ ข้อ ๗ และข้อ ๙ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๕๘ ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจ
หน้าที่เกี่ยวกับกิจการเดินอากาศ และรัฐมนตรีสามารถกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการ
ค้าขายในการเดินอากาศอันเป็นสาธารณูปโภคได้ตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อความปลอดภัยหรือผาสุก
ของประชาชน รวมทั้งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขนี้ได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบิน
ประจำภายในประเทศไว้ในเงื่อนไขประกอบใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ
แบบประจำของไทยทุกราย ทั้งที่ได้รับใบอนุญาตในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ
ยึดถือและปฏิบัติตาม ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สิทธิของผู้โดยสารซึ่งใช้บริการ
สายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ ประกาศ ณ วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๐

ข้อ ๒ ในประกาศนี้
“สายการบิน” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ
แบบประจำในเส้นทางบินภายในประเทศ
“สำรองที่นั่ง” หมายความว่า ข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานยืนยันว่าสายการบินได้ยอมรับและจดแจ้ง
การสำรองที่นั่งไว้แล้ว
“การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน” หมายความว่า การจัดให้ผู้โดยสารเดินทางโดยเที่ยวบินอื่น
ของสายการบินนั้นเอง หรือของสายการบินอื่น
“เที่ยวบินล่าช้า” หมายความว่า เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดตามตารางการบิน
ซึ่งได้ประกาศไว้แล้ว
“การยกเลิกเที่ยวบิน” หมายความว่า การที่สายการบินยกเลิกเที่ยวบินใด ๆ ตามตารางการบิน
ที่ประกาศไว้แล้ว และรวมถึงการยกเลิกเที่ยวบินพิเศษ (Extra Flight)

เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๒๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
“การปฏิเสธการขนส่ง” หมายความว่า การปฏิเสธที่จะรับขนผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปกับ
เที่ยวบินที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร แม้ว่าผู้โดยสารนั้นจะได้มาแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่องตามที่กำหนด
ไว้ในประกาศนี้แล้วก็ตาม เว้นแต่ การปฏิเสธนั้นมีเหตุผลอันสมควร เช่น สุขภาพ ความมั่นคง
ความปลอดภัย เอกสารการเดินทางไม่สมบูรณ์ เป็นต้น
“คนพิการ” หมายความว่า คนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ข้อ ๓ ขอบเขต
ผู้โดยสารที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามประกาศนี้ ได้แก่
(๑) ผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ ซึ่งได้สำรองที่นั่งสำหรับ
เที่ยวบินนั้นและได้ชำระค่าบัตรโดยสารแล้ว รวมถึงผู้โดยสารที่เดินทางในโครงการสะสมไมล์
หรือโครงการส่งเสริมการขายอื่น ๆ ที่สายการบินจัดขึ้น และ
(๒) ผู้โดยสารนั้น
(ก) ได้มาแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง (Check In) ภายในเวลาที่สายการบินระบุไว้ล่วงหน้า
เป็นลายลักษณ์อักษร หรือภายในเวลาที่ผู้โดยสารได้รับการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็ปไซต์
เอสเอ็มเอส (SMS) เป็นต้น หากสายการบินไม่ได้ระบุเวลาไว้ให้ถือว่าไม่น้อยกว่า ๔๕ นาที ก่อนเวลา
ที่ระบุไว้ในตารางการบินที่ประกาศ หรือ
(ข) ถูกสายการบินย้ายโอน (Transfer) จากเที่ยวบินที่ตนสำรองที่นั่งไว้แล้วมายัง
อีกเที่ยวบินหนึ่งไม่ว่าด้วยสาเหตุใด

ข้อ ๔ เที่ยวบินล่าช้า
(๑) กรณีล่าช้าเกินกว่า ๒ ชั่วโมง แต่ไม่เกิน ๓ ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อ
ผู้โดยสาร ดังนี้
(ก) จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับระยะเวลาที่รอ
ขึ้นเครื่องบินโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
(ข) จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ เช่น
โทรศัพท์ โทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) เป็นต้น ตามความจำเป็นและเหมาะสมโดยไม่คิด
ค่าใช้จ่าย
(ค) เมื่อผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อไปให้สายการบินคืนเงินค่าโดยสาร
และค่าธรรมเนียมอื่นใดที่เรียกเก็บเต็มตามจำนวน ซึ่งผู้โดยสารได้ชำระไปสำหรับการเดินทางหรือ
เฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้เดินทางตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ ๖ แต่หากสายการบิน
ประสงค์จะคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมดังกล่าว
จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น

เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๒๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
(๒) กรณีล่าช้าเกินกว่า ๓ ชั่วโมง แต่ไม่เกิน ๕ ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร
ดังนี้
(ก) จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับระยะเวลาที่รอ
ขึ้นเครื่องบินโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
(ข) จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ เช่น โทรศัพท์
โทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) เป็นต้น ตามความจำเป็นและเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
(ค) เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง
๑) รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวน
ที่ชำระไปสำหรับการเดินทาง หรือเฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้เดินทาง ตามวิธีการและภายในระยะเวลา
ที่กำหนดในข้อ ๖ แต่หากสายการบินประสงค์จะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทน
เงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นดังกล่าว จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น หรือ
๒) เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร
หรือไปยังจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกัน
วันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร
และที่นั่งว่างซึ่งสายการบินสามารถจะจัดให้ได้ โดยสายการบินไม่สามารถคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้
ไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่หากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นมีค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นที่ต่ำกว่า
จำนวนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ผู้โดยสารได้ชำระไว้แล้ว สายการบินต้องชำระเงิน
ส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ ๖
ในกรณีที่สายการบินเสนอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอื่นที่ใกล้เคียงกับ
จุดหมายปลายทางเดิม สายการบินจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยัง
สนามบินที่เป็นจุดหมายปลายทางเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย หรือ
๓) เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุ
ไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมตามความประสงค์
ของผู้โดยสารโดยเร็วที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่หากกรณีที่ค่าใช้จ่าย
ในการเดินทางโดยการขนส่งทางอื่นต่ำกว่าจำนวนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ผู้โดยสาร
ได้ชำระไว้แล้ว สายการบินจะต้องชำระเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารตามวิธีการและภายใน
ระยะเวลาที่กำหนดในข้อ ๖

เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๒๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
(๓) กรณีล่าช้าเกินกว่า ๕ ชั่วโมง แต่ไม่เกิน ๖ ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร
ดังนี้
(ก) ปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกินกว่า ๓ ชั่วโมง แต่ไม่เกิน ๕ ชั่วโมง
ตาม ข้อ ๔ (๒) และ
(ข) ชำระค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน ๖๐๐ บาท ให้แก่ผู้โดยสารทันทีก่อนที่ผู้โดยสาร
จะออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการล่าช้าของเที่ยวบินนั้น
เกิดจากเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน เช่น สถานการณ์ทางการเมือง
สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เหตุการณ์ใด ๆ ที่มีหรืออาจ
มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการทำการบินของอากาศยานและผู้โดยสาร เป็นต้น ตลอดจนการนัด
หยุดงานหรือการกระทำใด ๆ ของพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ
ของสายการบิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบินของสายการบิน
ในกรณีสายการบินประสงค์จะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชย
เป็นเงินสด ๖๐๐ บาท ตามวรรคหนึ่ง จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น
(๔) กรณีล่าช้าเกินกว่า ๖ ชั่วโมง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร เช่นเดียวกับ
มาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินตามที่กำหนดในข้อ ๕

ข้อ ๕ การยกเลิกเที่ยวบิน หรือการปฏิเสธการขนส่ง สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสาร
ดังนี้
(๑) เสนอให้ผู้โดยสารเลือกระหว่าง
(ก) รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไป
สำหรับการเดินทางหรือเฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้เดินทางตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในข้อ ๖ แต่หากสายการบินประสงค์จะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงินค่าโดยสาร
และค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น หรือ
(ข) เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร
หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมโดยเร็วที่สุดภายในวันเดียวกัน
วันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสาร
และที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจัดให้ได้ โดยสายการบินต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ
แต่หากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นมีค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นที่ต่ำกว่าจำนวนเงินค่าโดยสาร
และค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสารได้ชำระไว้แล้ว สายการบินต้องชำระเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสาร
ตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ ๖

เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๒๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ในกรณีที่สายการบินเสนอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอื่นที่ใกล้เคียงกับ
จุดหมายปลายทางเดิม สายการบินจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยัง
สนามบินที่เป็นจุดหมายปลายทางเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย หรือ
(ค) เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ใน
บัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิมตามความประสงค์
ของผู้โดยสารโดยเร็วที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ แต่หากค่าเดินทางโดยการ
ขนส่งทางอื่นต่ำกว่าจำนวนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่ผู้โดยสารได้ชำระไว้แล้ว สายการบิน
ต้องชำระเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ ๖
(๒) ให้การดูแลผู้โดยสาร ดังนี้
(ก) จัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับระยะเวลาที่รอ
ขึ้นเครื่องบินโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
(ข) จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ เช่น
โทรศัพท์ โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) เป็นต้น ตามความจำเป็นและเหมาะสม
โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
(ค) จัดที่พักแรมให้แก่ผู้โดยสารตั้งแต่ ๑ คืน ขึ้นไป ตามความจำเป็นและเหมาะสม
ในการจัดการขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักแรม ในกรณีที่เป็นเที่ยวบินใหม่ที่มีกำหนดเวลา
การออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่า ๑ วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
(๓) ชำระค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน ๑,๒๐๐ บาท ให้แก่ผู้โดยสารทันทีก่อนที่ผู้โดยสาร
จะออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่า
(ก) ได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินและรายละเอียดเกี่ยวกับทางเลือกในการเดินทางอื่น ๆ
ให้ผู้โดยสารทราบก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า ๓ วัน หรือ
(ข) ได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินให้ผู้โดยสารทราบก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่ถึง
๓ วัน ในกรณีที่เที่ยวบินใหม่ที่เปลี่ยนแปลงนั้นจะออกเดินทางก่อนหรือหลังกำหนดวันเวลาเดิม
และไปถึงจุดหมายปลายทางที่ระบุในบัตรโดยสารเร็ว หรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน ๓ ชั่วโมง
หรือ
(ค) การยกเลิกเที่ยวบินนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน
เช่น สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย
เหตุการณ์ใด ๆ ที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการทำการบินของอากาศยาน
และผู้โดยสาร เป็นต้น ตลอดจนการนัดหยุดงานหรือการกระทำใด ๆ ของพนักงานหรือลูกจ้าง
ของหน่วยงานอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้บริการของสายการบิน ที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน
ของสายการบิน

เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๒๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
โดยการแจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินตาม (ก) และ (ข) ให้สายการบินแจ้งไปยังสถานที่ติดต่อ
หรือช่องทางการสื่อสารทางอื่นใดที่ผู้โดยสารได้แจ้งไว้กับสายการบินเมื่อทำการสำรองที่นั่งไว้แล้ว
ทั้งนี้ การพิสูจน์ว่าสายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินให้ตกเป็นภาระของสายการบิน
ในกรณีที่สายการบินประสงค์จะชำระเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชย
เป็นเงินสด จำนวน ๑,๒๐๐ บาท ตามวรรคหนึ่ง จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น

ข้อ ๖ วิธีปฏิบัติในการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใด หรือเงินส่วนต่าง
สายการบินต้องปฏิบัติ ดังนี้
(๑) จัดทำแบบในการแสดงความจำนงขอคืนค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใด หรือเงินส่วนต่าง
ตลอดจนจัดไว้ ณ ท่าอากาศยาน บริเวณอาคารผู้โดยสาร (ห้องโดยสารอากาศยาน) และสำนักงานใหญ่
หรือสำนักงานสาขาของสายการบิน หรือจัดให้ผู้โดยสารสามารถดาวน์โหลดผ่านทางเว็บไซต์ของ
สายการบินได้ ทั้งนี้ รายการในแบบแสดงความจำนงอย่างน้อยต้องประกอบด้วย วัน เวลา และเที่ยวบิน
ที่สายการบินปฏิเสธการขนส่ง ยกเลิกเที่ยวบิน หรือทำการบินล่าช้า วิธีการที่ผู้โดยสารชำระค่าโดยสาร เช่น
เงินสด บัตรเครดิต เป็นต้น จำนวนเงินค่าโดยสารที่ชำระ ที่อยู่และช่องทางที่สามารถติดต่อได้
รวมทั้งวิธีการรับคืนค่าโดยสารที่เลือก เช่น เงินสด การโอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น
(๒) กำหนดและประกาศให้ผู้โดยสารทราบถึงสถานที่หรือช่องทางที่สามารถยื่นแบบแสดง
ความจำนงได้ เช่น เคาน์เตอร์ของสายการบิน ณ ท่าอากาศยาน บริเวณอาคารผู้โดยสาร
(ห้องโดยสารอากาศยาน) และสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาของสายการบิน หรือยื่นผ่านทาง
เว็บไซต์ของสายการบิน
(๓) คืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสาร ด้วยวิธีการ
ที่ผู้โดยสารเลือก เช่น เงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น ภายในระยะเวลาที่นับจาก
วันซึ่งสายการบินได้รับแบบแสดงความจำนงและเอกสารที่จำเป็นครบถ้วนแล้ว ดังนี้
(ก) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยเงินสดต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายใน
ระยะเวลาไม่เกิน ๗ วัน
(ข) กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิตต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายใน
ระยะเวลาไม่เกิน ๔๕ วัน

ข้อ ๗ การเพิ่มหรือลดชั้นของบริการในเที่ยวบิน สายการบินต้องปฏิบัติ ดังนี้
(๑) กรณีที่จัดให้ผู้โดยสารเดินทางในชั้นบริการที่สูงกว่าชั้นบริการที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร
สายการบินต้องไม่คิดค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติม

เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๒๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
(๒) กรณีที่จัดให้ผู้โดยสารเดินทางในชั้นบริการที่ต่ำกว่าชั้นบริการที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร
สายการบินต้องคืนเงินส่วนต่างของราคาค่าโดยสารแก่ผู้โดยสารตามวิธีการและภายในระยะเวลา
ที่กำหนดในข้อ ๖

ข้อ ๘ ในกรณีผู้โดยสารเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี (เดินทางโดยลำพัง) คนพิการ
หรือบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สายการบินต้องปฏิบัติโดยให้บริการและดูแลเป็นกรณี
พิเศษตามหลักปฏิบัติสากล และไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ๆ หากสายการบินได้ปฏิเสธ
การขนส่ง ยกเลิกเที่ยวบิน หรือทำการบินล่าช้าไม่ว่าเป็นเวลามากน้อยเพียงใด สายการบิน
ต้องให้บริการและดูแลแก่ผู้โดยสารดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

ข้อ ๙ มาตรการคุ้มครองที่ดีกว่า
ในกรณีที่สายการบินได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตนไว้ในระดับ
ที่ดีกว่า และไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการตามประกาศนี้ ให้สายการบินนั้นใช้มาตรการดังกล่าว
เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตน

ข้อ ๑๐ การร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติของสายการบิน
ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนสายการบินซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มายังกรมการบิน
พลเรือน เลขที่ ๗๑ ซอยงามดูพลี ถนนพระราม ๔ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพ ฯ ๑๐๑๒๐
โทรสาร ๐ ๒๒๘๗ ๓๓๗๓ จดหมายอิเล็กทรอนิคส์ : airtravelcomplaint@aviation.go.th หรือสายด่วน
๑๑๑๑ โทร ๐ ๒๒๘๖ ๓๗๗๕ (ในเวลาราชการ) เพื่อกรมการบินพลเรือนจะได้ทำการตรวจสอบ
ข้อเท็จจริงและดำเนินการต่อไป

ข้อ ๑๑ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
โสภณ ซารัมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

##..ผู้บริหารสายการบินทุกสายการบินของไทย..เจ้าหน้าที่สายการบินทุกสายการบินที่ที่มีเส้นทางบินประจำภายในประเทศที่ประจำยังท่าอากาศยานต่างๆๆ..โปรดอ่านและศึกษาประกาศฉบับนี้ให้ท่องแท้..และปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา