วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

การตายและงานศพของฉัน

การตายและงานศพของฉัน

ประทุมพร วัชรเสถียร**
เมื่อชีวิตของฉันเดินทางมาถึงวันนี้ ฉันไม่มีความกลัวเรื่องความตายของตัวเองอีกต่อไปแล้ว ฉันไม่สนใจว่าฉันจะตายเมื่อไร เหตุใดจึงตาย ตายแล้วจะไปไหน ฉันไม่สนใจใคร่รู้ทั้งนั้น รู้อยู่แต่ว่าฉันอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ (อีกนานเท่าไรไม่ทราบ) ให้เป็นประโยชน์ที่สุด และอย่างมีความสุขที่สุด
การทำชีวิตให้เป็นประโยชน์ที่สุด และมีความสุขที่สุดในทัศนะของฉัน น่าจะเป็นดังนี้คือ


๑.ปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ให้ดีที่สุด สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด อย่างเต็มใจและอย่างสนุกที่สุด ภารกิจใดถ้าคิดว่าต้องฝืนใจทำ ทำแล้วไม่สนุก ทำแล้วเกิดความทุกข์ เกิดความกดดัน ทำให้เคร่งเครียด ฉันจะพยายามหลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุด
ฉันมีวิธีเลือกภารกิจของฉันดังนี้คือ
๑.๑ ทำงานชนิดที่ชอบ ทำด้วยใจรัก ทำแล้วสนุก ทำแล้วมีความสุข
๑.๒ ทำงานที่ให้ประโยชน์แก่เพื่อนร่วมโลก
๑.๓ ทำงานที่ให้ค่าตอบแทนเป็นเงินตรา หากฉันยังคงมีความต้องการด้านนี้
๑.๔ ทำงานที่ให้ความสุขแก่ผู้อื่น แม้จะไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ก็ตาม (แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรม)


๒. คบคนที่คบแล้วทำให้จิตใจสบาย ร่าเริง เบิกบาน เปิดสมองและโลกทัศน์ ฉันไม่กลัวว่าจะมีเพื่อนน้อย หากเพื่อนเพียง ๒ – ๓ คน ที่ฉันคบสนิทด้วยทำให้ฉันสบายใจ ผู้ใดที่ทำให้ฉันรกตาด้วยภาพ รกหูด้วยคำพูด รกใจด้วยเรื่องร้าย ฉันขออยู่ห่างที่สุด


๓. สิ่งใดที่ฉันคิดว่าเป็นสิ่งดีที่ควรทำ ฉันจะไม่ผลัดวันประกันพรุ่งอีกต่อไป เช่น
๓.๑ เขียนจดหมายถึงเพื่อนรักที่ไม่ได้เจอกันมานาน หรือติดต่อนัดพบกับเขา หากทำได้
๓.๒ ไปเยี่ยมผู้ใหญ่อันเป็นที่รักและเคารพ ซึ่งมิได้เยี่ยมเยือนมานาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีใครเหลียวแล
๓.๓ อ่านหนังสือที่เคยคิดอยากอ่าน หรือหยิบมาเตรียมไว้ แต่ยังไม่เคยมีเวลาเปิดอ่าน
๓.๔ ตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อออกไปเดินเล่นท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ในสถานที่เหมาะสม เช่น สวนสาธารณะ หรือเดินชมกรุงเทพฯ ย่านที่ฉันเคยรู้จักและอยากกลับไปฟื้นความหลังอีก หรือย่านที่ไม่รู้จัก แต่อยากทำความรู้จัก ในฐานะที่ฉันเป็นชาวกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เกิด
๓.๕ ส่งเงินหรือสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน โดยผ่านตัวแทนที่เชื่อใจได้ว่าจะนำความช่วยเหลือของฉันไปถึงตัวบุคคลที่ต้อง การ (หากให้โดยตรงไม่ได้)
๓.๖ อ่านหนังสือธรรมะ หรือฟังข้อคิดทางธรรมะเป็นประจำ และปฏิบัติตามนั้น จะเป็นธรรมะของศาสนาใดก็ได้ ธรรมะที่ช่วยแก้ปัญหา อ่าน/ฟัง แล้วใจสบายนั้นคือธรรมะที่ถูกต้อง ธรรมะใดที่อ่าน/ฟังแล้วหนักใจ ทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยโมหะ สร้างความแตกแยก นั่นมิใช่ธรรมะ


๔. หากร่างกายและจิตใจของฉันอำนวย ฉันอยากมีอาชีพเป็นนักเขียนจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตของฉัน ฉันอยากเขียนเรื่องทุกชนิดที่มีสื่อเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย บทความ เรื่องท่องเที่ยวจากประสบการณ์ คอลัมน์ประจำ บทวิจารณ์ หรือการตอบจดหมายแนะแนวทางแก้ไขปัญหาชีวิต รวมทั้งเรื่องธรรมะและการอบรมกล่อมเกลาจิตใจ และพฤติกรรมของมนุษย์


๕. ฉันจะรู้จักมี “มุมชีวิต” ของตัวเอง หมายความว่า ฉันจะต้องรู้ข้อจำกัดของบทบาทของฉันว่าควรยุ่งเกี่ยวกับชีวิตคนอื่นมากน้อย เพียงใด และควรพอใจบทบาทความเป็น “คนนอก”ของตัวเองเพียงใด ฉันจะต้องรู้ว่า ไม่ว่าฉันจะเป็นภรรยา หรือแม่ หรือพี่ หรือย่า หรือยายของผู้ใด ฉันย่อมไม่มีสิทธิ์เข้าไปเกี่ยวข้องในการตัดสินใจเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต ของคนเหล่านั้น หากฉันถูกขอคำปรึกษาหารือ ฉันจะให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ฉันจะไม่โกรธเคือง หรือเก็บเอามาเป็นอารมณ์ หากบุคคลเหล่านั้นไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำของฉัน ฉันจะมีแค่ หูเปิด ตายิ้ม ปากปิด ต่อพวกเขาเหล่านั้น


๖. ฉันจะไม่ “แบกโลก” ฉันจะไม่เป็นคนเจ้าทุกข์ ฉันจะไม่ทุกข์เกินขนาดที่ควรทุกข์ ฉันจะต้องเตือนใจตัวเองว่า
- ฉันจะไม่ทุกข์ต่อเรื่องที่แก้ไขได้ เพราะหากฉันสามารถแก้ไขได้ ฉันก็ไม่จำเป็นต้องมีความทุกข์
- ฉันจะไม่ทุกข์ต่อเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ เพราะต่อให้ฉันทุกข์จนหน้าไหม้ใจขมไปหมด ฉันก็ยังแก้ปัญหานั้นไม่ได้ แล้วฉันจะปล่อยให้ความทุกข์มาครองใจฉันจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิตของฉันด้วย ประโยชน์อันใด


๗. ฉันจะไม่โกรธ ฉันจะไม่โมโห เพราะความโกรธคือความโง่ ความโมโหคือความบ้า ฉันจะไม่เตรียมตัวตายอย่างคนโง่และคนบ้า

ก่อนฉันจะตาย

1. หากฉันตายโดยกะทันหัน เช่น อุบัติเหตุใหญ่ หรือหัวใจวายเฉียบพลันก็แล้วไป โปรดจัดงานศพของฉันดังที่ฉันจะได้เขียนต่อไป
2. หากฉันเจ็บไข้ด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ ต้องนอนแซ่วอยู่บนเตียง หรือไม่รู้สึกตัว ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยสายระโยงระยาง และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ฉันขอร้องว่าอย่าเสียเวลาและเสียเงินเพื่อฉันมากมายอย่างนั้น ขอให้ใช้เวลาดูอาการของฉันไม่เกิน ๑ เดือน ต่อจากนั้นขอให้ยุติการต่อชีวิตฉันด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ โปรดอนุญาตให้ฉันจากไปด้วยวิธีธรรมชาติที่สงบที่สุดเถิด
3. หากฉันมีโรคภัยชนิดที่ทำให้ต้องเจ็บปวดทุรนทุราย และร้องครวญคราง ขอให้บอกแพทย์ให้ใช้ระงับความเจ็บปวดแก่ฉัน ในอัตราที่ฉันจะสงบทั้งความเจ็บปวดและเสียงครวญครางของฉันได้อย่างราบคาบ แม้ว่าวิธีนั้นจะทำให้ฉันตายเร็วขึ้น ก็ไม่เป็นไร ฉันคิดว่าชีวิตของฉันที่ผ่านมา ฉันใช้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมและชีวิตมนุษย์รอบตัวฉันมากพอที่ฉันไม่ควรจะ ต้องได้รับความทรมานในบั้นปลายของชีวิตเช่นนั้น
4. ก่อนฉันตาย ฉันอยากเห็นหน้าญาติมิตรและเพื่อนรักของฉัน และเพื่อนที่รักฉัน แต่ถ้าการมาหาฉัน ทำให้พวกเขาเสียเวลา หรือไม่สบายใจที่ต้องมาเห็นฉันในสภาพที่ผิดไปจากคนเดิมที่พวกเขาเคยเห็น เขาจึงไม่มาหาฉัน ฉันก็จะไม่โกรธ ไม่น้อยใจ จะไม่บ่นว่าอย่างใดเลย ในสภาพและวาระสุดท้ายเช่นนั้น ฉันควรจะต้องรู้จักให้อภัย และมีความเข้าใจต่อทุกสิ่งที่ว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมเกิดมาจาก “เหตุ”อันมี “ตรรกะที่เข้าใจได้” ทั้งสิ้น


งานศพของฉัน
ฉันได้อุทิศร่างกายและดวงตาให้แก่โรงพยาบาลที่มีวิทยาลัยแพทย์เรียบร้อยแล้ว
ฉันไม่อยากรบกวนญาติมิตร เพื่อนฝูงให้ต้องมาลำบาก เพราะความตายของฉัน เช่น ลำบากเดินทางมางานของฉัน ลำบากเสียเงินซื้อพวงหรีด หรือดอกไม้ หรือเสียเงินใส่ซอง
อย่างไรก็ตาม ฉันก็ไม่อยากจะหายไปจากโลกนี้อย่างเงียบเชียบจนเกินไป มันดูเหงาพิลึก!
ฉันอยากขอร้องผู้ที่อยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิท หรือมิตรสหายที่รักชอบฉัน ให้ช่วยระลึกถึงการตายของฉัน ดังนี้
๑. ช่วยแจ้งแก่วิทยุที่มีบริการประกาศข่าวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงข่าวตายของ ฉัน เพื่อคนรู้จัก เพื่อนฝูง ญาติที่ไม่เจอกันนานๆ จะได้ทราบว่าฉันไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว
๒. หากญาติมิตรคิดจะจัดงานระลึกถึงฉัน อยากให้หาสถานที่มารวมกันสักครั้งหนึ่ง เพื่อพูดคุยถึงฉันและผลงานของฉัน ไม่ต้องแต่งดำ ฉันอยากให้คนเหล่านั้นใส่เสื้อผ้าสีสวยๆ และนึกถึงฉันอย่างมีความสุขที่สุด ไม่ต้องชมเชยฉัน (และผลงานของฉัน) หรอก ตำหนิก็ได้ แต่อยากให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ที่เคยรู้จักฉันสักครั้งหนึ่ง ครั้งเดียวเท่านั้นเป็นพอ อย่าลืมว่าเมื่อฉันมีชีวิตอยู่ เราเคยมีความสุข สนุกรื่นเริงด้วยกัน ขอโอกาสอย่างนั้นให้แก่ฉันเป็นครั้งสุดท้ายเถิด
และถ้าไม่ “เวอร์” จนเกินไป ฉันอยากให้มีเพลง In The Monastery Garden ของ A. Ketelbeyเปิดคลอไปด้วย เพราะฉันชอบเพลงนี้มาก ทำนองเพลงนี้มีบรรยากาศเหมาะแก่การส่งดวงวิญญาณไปสู่สถานที่แห่งใหม่ (ซึ่งน่าจะสวยสดและเย็นฉ่ำ แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร)
๓. ฉันคิดว่า เมื่อฉันตายไปแล้ว ผู้ที่อยู่ข้างหลังคงไม่เดือดร้อน เพราะฉันไม่มีหนี้สินอะไร และพินัยกรรมฉันก็ทำไว้แล้ว ผู้ที่ได้รับสิ่งของจากฉันตามพินัยกรรมนั้น หากไม่พอใจ (เพราะน้อยเกินไป) ฉันต้องขอโทษด้วย เพราะฉันไม่ใช่คนรวย ฉันรับราชการด้วยความสุจริต รับแต่เงินเดือนมาตลอดชีวิต รายได้พิเศษของฉันก็มีเพียงจำกัดจากการเขียนหนังสือเท่านั้น หวังว่าผู้ที่ได้รับมรดกจากฉันคงเข้าใจ
๔. ฉันเตรียมบทความที่เขียนเอง (และเคยตีพิมพ์มาแล้ว) ไว้จำนวนหนึ่ง ถ้านำมารวมกันในเล่มเดียวจะเป็นการเล่าประวัติของฉัน และวาดภาพสังคมไทย (ในวงที่จำกัด) ช่วงหนึ่ง ฉันหวังว่าคนที่อ่านคงจะสนุกเพลิดเพลินและได้รับประโยชน์บ้าง หากเงินสวัสดิการต่างๆ ที่เป็นสิทธิ์ของฉันยังมีเหลืออยู่บ้าง ฉันอยากให้ญาติมิตรคนใดก็ตามช่วยจัดพิมพ์หนังสือนั้นให้ฉันด้วย ภายใต้ชื่อว่า “พาดผ่านกาลเวลา” คิดว่าพิมพ์เพียง ๒,๐๐๐ เล่มก็เกินพอแจกญาติมิตรและคนรู้จักที่ต้องการอ่านหนังสือเล่มนี้ ขอให้จัดส่งไปยังห้องสมุดต่างๆ สักจำนวนหนึ่งด้วย
ทั้งหมดที่ได้เขียนมา คงจะเพียงพอแล้วสำหรับที่ฉันจะบอกแก่คนใกล้ชิดว่า ฉันอยากให้วาระสุดท้ายของฉันมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง ความจริงวิธีที่ดีสุดก็คือ ฉันไม่ควรกระทำการคล้ายกับ “เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง”เช่นนี้เลย แต่ฉันเกรงว่า หากไม่บอกแจ้งไว้เช่นนี้แล้ว ผู้ที่หวังดีต่อฉัน อาจต้องเสียแรง เสียเวลา และเสียเงินทองเพื่อฉัน โดยที่มิได้เป็นความปรารถนาของฉันเลย ฉันจึงควรบอกไว้เช่นนี้จะดีกว่า
ท้ายที่สุดนี้ ฉันขอให้ทุกคนที่เคยโกรธฉัน หรือไม่พอใจฉันด้วยเรื่องอะไรก็ตาม จงอโหสิให้แก่ฉัน และขอให้เข้าใจว่าฉันไม่เคยตั้งใจหรือวางแผน ทำให้ผู้ใดโกรธ หรือเสียใจ หรือน้อยใจเลย หากสิ่งนั้นเกิดแก่ผู้ใดอันเนื่องมาจากฉัน ขอได้โปรดรับทราบว่า สิ่งเหล่านั้นเกิดจากความโง่เขลาของฉันโดยแท้จริง ที่ทำให้ฉันตาบอด และใจบอด จนไม่สามารถมองเห็นและหยั่งไม่ถึงความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น ขออโหสิแก่ฉันด้วยเถิด...
คำสุดท้ายที่ฉันอยากจะบอกแก่ใครๆ ก็คือ ขอให้ทุกท่านจงมีชีวิตที่ตั้งอยู่ใน “ธรรมะ” ไม่ว่าจะเป็นธรรมะของศาสนาใด หรือธรรมะจากธรรมชาติของโลก การเข้าถึงธรรมะได้อย่างแท้จริง คือการปฏิบัติตามธรรมะ จนธรรมะนั้นเกิดผลตรงตามเจตนารมย์ของธรรมะนั้นๆ ธรรมะทำให้จิตเป็นกุศล เมื่อจิตเป็นกุศลแล้ว เราจะมีความสุข และจะรู้จักแผ่สุขให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย
ฉันดีใจที่ได้เกิดมา และได้รู้จักท่านทุกคน
ขอขอบใจทุกท่านที่ยินดีเป็นเพื่อนของฉัน และช่วยเหลือเกื้อกูลฉัน
ขอขอบพระคุณท่านที่เคยมีบุญคุณแก่ฉัน
ขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับท่านที่คิดว่าเป็นเพื่อนกับฉันแล้วท่านสนุกและได้ รับประโยชน์จากการพบปะ พูดคุย หรือปรึกษาหารือกับฉัน

ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านทุกคน

**ประทุมพร วัชรเสถียร เป็นอดีตรองอธิการบดี และรองศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนอกจากเป็นอาจารย์แล้ว ยังเป็นนักเขียนเจ้าของนามปากกา“ดวงใจ” รวมถึงคอลัมนิสต์ พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ และในปี พ.ศ.๒๕๔๙ หลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน รศ.ประทุมพรได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย ทั้งนี้ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ที่ผ่านมา


http://www.teenpath.net/content.asp?ID=13220

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา