Subject: ส่งต่อ: Productivity : ข่าวสารการเพิ่มผลผลิต เดือน กันยายน 2552
ทำอย่างไร...
เมื่อลูกน้องหมดไฟทำงาน
ในสังคมปัจจุบันที่คนทำงานรุมเร้าไปด้วยสารพันปัญหาทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องปากท้อง ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ และเมื่อมาที่ทำงานก็ยังมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้คนตกอยู่ในสภาพล้มเหลว หมดกำลังใจ ไม่สามารถเผชิญหน้ารับมือกับปัญหาได้ หากใครมีอาการแบบนี้เรียกว่ากำลังอยู่ในภาวะของคน “หมดไฟ” (Burnout) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ปรากฏการณ์นกฟินิกซ์” (Phoenix Phenomenon) สามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่คนอื่นๆ ได้ด้วย
ใครบ้าง..? ที่เสี่ยงต่อสภาพหมดไฟ
ที่จริงแล้ว ภาวการณ์หมดไฟสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย รวมทั้งทุกสถานภาพงาน แต่คนที่มีความเสี่ยงสูงมักจะเป็นคนบอบบาง ความรู้สึกไว ฉลาด มีความสามารถแต่ถูกกดดันมากเกินไป อาการหมดไฟนี้ทำให้องค์กรขาดคนเก่งๆ ในการทำงาน บุคคลที่มีลักษณะเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการหมดไฟได้ง่าย เช่น
o ยอดมนุษย์ (Superpeople) คือคนที่ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าไม่มีใครที่จะมีความสามารถหรือทำได้ดีเท่ากับตัวเอง
o คนบ้างาน (Workaholics) คือคนที่มีแรงผลักดันในการทำงานสูงจากความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผลทั้งจากตัวเองและผู้อื่น
o นักบุญหมดไฟ (Burned-Out Samaritans) คือผู้ที่มักจะทุ่มเททำงานให้ผู้อื่นมาก ในขณะที่ได้รับความช่วยเหลือหรือความชื่นชมกลับมาเพียงเล็กน้อย
o ผู้ไม่สมหวัง (Mismatched People) คือบุคคลที่ทำงานดี แต่ไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองทำ
o ผู้เชี่ยวชาญนอกวงการ (Midcareer Coasters) คือบุคคลที่ครั้งหนึ่งเป็นผู้มีผลงานสูง แต่ปัจจุบันขาดความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรแล้ว
o ผู้ที่มีงานมาก (Overstress Student) คือผู้ที่ใช้เวลาทั้งหมดไปกับงานและมีภาระงานมาก
ความเครียดในงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหมดไฟ
ในองค์กรใดๆ ก็ตามเป็นภารกิจที่ทุกคนต้องปฏิบัติ งานอาจสร้างความสุข ความพอใจ หรืออาจสร้างความเบื่อหน่าย ความไม่พึงพอใจให้เกิดขึ้นได้ และความเครียดนี้เองที่ส่งผลให้คนหมดไฟในการทำงาน โดยทั่วไปบุคคลจะมีการปรับตัวแบ่งเป็น 3 ช่วง คือช่วงการตื่นตัว ช่วงการต่อต้าน และช่วงหมดแรง และเมื่อเกิดความเครียด ก็จะส่งผลทั้งด้านจิตใจและอารมณ์ ด้านร่างกาย และด้านพฤติกรรม ประเด็นสำคัญคือเราต้องหาทางป้องกันโดยสังเกตตัวเองว่าขณะนี้มีความเครียดหรือไม่ ต้องทบทวนหาสาเหตุ ต้องรู้จักยอมรับสภาพความเป็นจริงของชีวิต และต้องเต็มใจแก้ไขตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด
กลยุทธ์การจัดการกับปัญหาคนหมดไฟ
เราสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างพลังงานใหม่ขึ้นมาได้ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้องเหมาะสม ได้แก่
o การช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน (Emergency Aid) เมื่อเกิดอาการหมดไฟแบบเฉียบพลัน สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่น สูดลมหายใจลึกๆ ให้กำลังใจตัวเอง พูดกับตัวเองในทางบวก รักษาสุขภาพกาย พูดคุยกับเพื่อนๆ
o การกระทำระยะสั้น (Short-Term Actions) เช่น ลดภาระงานลงไปบ้าง กำหนดลำดับความสำคัญของงาน ดูแลเอาใจใส่ตัวเอง เน้นการคิด ทำ พูดในทางบวก
o การแก้ปัญหาระยะยาว (Long-Term Solutions) ได้แก่ การทำค่านิยมให้กระจ่างชัด สร้างความผูกพันในงานขึ้นมาใหม่ การเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต และการพัฒนาสมรรถนะส่วนบุคคล
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ปรากฏการณ์นกฟินิกซ์หรือคนหมดไฟทำงานคงหมดไป หากผู้บริหาร หรือแม้แต่พนักงานทุกคนให้ความใส่ใจ และคอยกระตุ้นจุดไฟในการทำงานอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องไม่มากเกินไปจนไฟเผาตัวเองเหมือนนกฟินิกซ์ เพราะกว่าจะกลับมาเป็นคนเดิมก็ต้องกลายเป็นลูกนกก่อน ซึ่งเท่ากับเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ดังนั้น เมื่อมีคนดีๆ มือดีๆ อยู่ในองค์กรก็ควรจะดูแลรักษาไว้ให้เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าขององค์กรต่อไปนานๆ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก วารสารการบริหารคน
แผนกบริหารงานบุคคล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น