วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

9 คาถาคุมสติ (แตก) เมื่อตกงาน!‏

9 คาถาคุมสติ (แตก) เมื่อตกงาน!

เรื่องชวนสติแตกที่สุดของชาวไทย (และชาวโลก) ในเวลานี้ ก็คือการตกงาน คนไทยหลายคน (ที่สูงวัยหน่อย) มีภูมิต้านทานจากเมื่อครั้งต้มยำกุ้ง แต่เอาเข้าจริงเรื่องตกงานก็ไม่เข้าใครออกใคร







ตอนนี้มองไปทางไหนก็มีแต่คนตกระกำลำบาก ยุคข้าวยากหมากแพง ปัญหาบ้านเมืองไม่สงบ ปัญหาเศรษฐกิจซับซ้อน ยิ่งยุคนี้ค่านิยมคนในสังคมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเป็นหลัก ยุคสังคมทุนนิยมแบบนี้ ใครอยู่แบบไม่มีเงินก็ลำบาก ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า การตกงานตามมา หลายคนตอนนี้นอนเอามือก่ายหน้าผากแล้ว คิดมากจนจะกลายเป็นโรควิตกกังวล หรือกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็มี

เงินกำหนดความสุข (ไม่) ได้

นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลมนารมย์ให้ความเห็นว่า ความกังวลของคนที่ตกงานนั้น หากให้อธิบายก็คือคนที่ยอมให้ “เงิน” มาเป็นตัวกำหนดความสุขความทุกข์ อารมณ์ความรู้สึกที่บั่นทอนอธิบายได้ดังนี้

1.ความรู้สึกกังวล กังวลว่าจะไม่สามารถหาเงินมาใช้ในการดำเนินชีวิต ใครที่เป็นหนี้อยู่ก็วิตกว่าจะต้องถูกยึดทรัพย์สินบางอย่าง (ที่อาจจะเป็นสิ่งที่รักและหวงแหน) หรืออาจจะไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องอันเป็นที่รัก ดังจะเห็นว่ามีการขายลูกเพื่อใช้หนี้ ก็นำมาซึ่งความทุกข์ระทมใจกันทุกฝ่าย รวมถึงความกังวลว่าจะไม่สามารถใช้หนี้ได้ ยิ่งทุกวันนี้มีเจ้าหนี้โหดๆ ประเภทขูดเลือดขูดเนื้อ แถมขู่ทำร้ายด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ความทุกข์ทวีคูณ

2.ความรู้สึกอับอาย อับอายที่จะต้องเสียหน้าที่การงาน ตกงาน มองว่าตัวเราไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ เป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก น่าสมเพช ทั้งๆ ที่ภาวะเศรษฐกิจรอบนี้เป็นเหมือนกันทั้งโลก การปลดคนงานออกเป็นความจำเป็นของนายจ้าง และเป็นไปตามกระแสเศรษฐกิจ

พวกไม่กลุ้มเพราะตกงาน

นพ.กัมปนาท กล่าวว่า คนมักถามจิตแพทย์ว่า การตกงานจะมีเรื่องสุขภาพจิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ คำตอบคือเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะเรื่องเงินเรื่องหนี้ เรื่องเหล่านี้หนีความกังวลในความสัมพันธ์และความรู้สึกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็พบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกเฉยๆ และไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรจากการตกงาน ลองศึกษาดูว่าคนพวกนี้เป็นใครและมีวิธีคิดอย่างไร รวมทั้งผลลัพธ์

1.คนที่ตกงานหรือเปลี่ยนงานเป็นประจำจนเคยชิน เจอสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่ไม่เห็นว่าจะต้องเครียดให้เหนื่อยใจไปเปล่าๆ

2.มีความกังวลอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เช่น ครอบครัว ญาติพี่น้อง เมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ถ้าทุนเดิมมีน้อยก็อาจจะเครียดมากกว่า แต่ก็ยังสามารถที่จะแยกแยะอารมณ์กับเรื่องภาระหน้าที่ของตนเอง คือ ต้องหางานใหม่ให้ได้ หรือคิดขยับขยายทำอย่างอื่น และก็บอกตัวเองเสมอว่าจะต้องค่อยๆ ทำงานหาเงินไป ป่วยการที่จะไปทุกข์ใจ เพราะทุกข์ไป เงินก็ไม่งอกเงยขึ้นมาให้ฟรีๆ อาจจะยิ่งทำให้หมดแรงในการหาเงิน ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่

3.อีกประเภทคือเป็นพวกทองไม่รู้ร้อน คือ ไม่คิดว่าจะต้องรับผิดชอบอะไร เกาะคนอื่นกิน เช่น พ่อแม่ หรือคู่สมรส พวกนี้ในที่สุดมักนำปัญหามาให้คนที่อยู่ด้วย

9 คาถารับมือการตกงาน

คนทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นมีปะปนอยู่ในสังคม แต่ถ้าคุณไม่เข้ากลุ่มใดเลย ต่อไปนี้คือคำแนะนำที่พึงกระทำ นพ.กัมปนาท กล่าวว่า อาจมีหลายคนไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่อันดับแรกขอให้มุ่งประเด็นที่ใจของตนเอง ขอให้อยู่อย่างใจสงบและอิสระจากการผูกมัดจากเรื่องภายนอก คิดเสียว่าทุกอย่างที่เป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงเรื่องราวเรื่องหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราก็แล้วกัน ดังนั้น เราจะรับมือกับการตกงานให้ดีที่สุด

1.) เริ่มต้นจากการมองโลกในแง่ดีให้มากเข้าไว้ คิดเสียว่าการที่เราตกงาน ก็เพื่อให้ตนเองได้พักผ่อน เพราะบางคนทำงานหนักจนแทบไม่ได้พักเลย ได้เงินมาแต่ไม่ได้ดูแลสุขภาพตัวเองเลยจะมีประโยชน์อะไร ที่มีเงินแต่อยู่ในสุขภาพที่ย่ำแย่ในที่สุดก็จะไม่มีโอกาสได้ใช้เงินอยู่ดี

2.) อย่าเป็นคนรักษาหน้ามากนัก บางคนมองว่าการตกงาน เป็นการบอกว่าเราด้อย ไม่มีความสามารถ ทนไม่ได้กับการที่ต้องตกงาน ก็เลยไม่กล้าลงทุนทำอะไรอย่างอื่นอีก หรือคิดรวยทางลัด หาเงินจากแหล่งการพนัน เสี่ยงโชค ยอมขายตัวขายศักดิ์ศรีแลกเงิน อย่างนี้ทำให้สถานการณ์เลวร้าย

3.) มองว่าการตกงานก็เพื่อฝึกทบทวนความสามารถตนเองใหม่ ว่าควรจะได้มีการพัฒนามากขึ้นจนได้อยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงน้อย รวมทั้งได้ฝึกการบริหารจัดการเรื่องเงินเรื่องทองให้ได้ ถ้าทำได้หรือฝ่าฟันไปได้ก็จะเป็นคนที่มีประสบการณ์และแกร่งขึ้น

4.) เผื่อใจไว้สำหรับการไม่มีเงิน หากจำเป็นต้องใช้เงิน ก็อาจจะต้องยอมสละอะไรบางอย่าง (ที่เคยยึดติด) เช่น อาจจะต้องยอมขายหรือเสียอะไรบางอย่างบ้าง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินให้ได้ อย่าเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบยึดติดกับวัตถุมากเกินไป เพราะเงินทองเป็นของนอกกายไม่ตายก็หาใหม่ได้ อย่าไปปักใจอยู่กับคุณค่าของวัตถุมากเกินไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว คุณค่าที่เกิดขึ้นเกิดจากใจของเราเองต่างหากที่ไปสร้างเงื่อนไขทางความคิด จัดลำดับความสำคัญในชีวิตดีๆ ว่าจะทำอย่างไรให้พอดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้จะต้องสูญเสียวัตถุสิ่งของที่รักไปบ้าง

5.) ส่วนใครที่ไม่มีทรัพย์สินอะไรให้ขายชดใช้หนี้ ก็อย่าลืมทรัพย์สินทางปัญญา ต้องพยายามหาทางนำออกมาใช้ให้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าไม่มีทรัพย์ใดจะมีค่ามากไปกว่าปัญญาของเราเอง ยิ่งไปกว่านั้นการได้คิดได้ร่วมแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินใดๆ เพราะประสบการณ์ที่ได้ จะทำให้ทั้งแข็งทั้งแกร่ง ไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงินทองหรือของมีค่า

6.) พยายามคิดหาทางเลือกอื่นๆ ไว้ เมื่อตกงาน อย่าเพิ่งคิดสั้นๆ และมองว่าตนเองไม่มีทางเลือก อย่าลืมว่าปัญหามักจะมีทางออกสำหรับผู้ที่ฝึกคิดเสมอ

7.) พึงคิดไว้เสมอว่าหากวันนั้นมาถึง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” สำคัญที่สุด อย่าไปหวังว่าใครจะมาช่วยเราถ้าเรายังไม่เริ่มต้นที่จะคิดช่วยเหลือตนเอง

8.) ฝึกให้ตนเองมุ่งมั่นในการหางานใหม่ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคิดเรื่องการตกงานให้อยู่ในสมองมากนัก คิดเพียงการมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเอง เมื่อนั้นคุณจะรู้สึกว่าภูมิใจที่เราเป็นคนที่มีความรับผิดชอบที่ดี อย่าลืมชมตัวเองบ่อยๆ ก็แล้วกัน

9.) สำหรับคนที่ค่อนข้างเครียดเรื่องตกงาน ให้ลองสำรวจตนเองว่าเป็นคนวิตกกังวลเกินไปหรือไม่ ความวิตกกังวลนั้นส่งผลต่อชีวิตอย่าง ทำให้ขยันขึ้น หรือทำให้หมดเรี่ยวหมดแรงในการต่อสู้กับปัญหากันแน่ ถ้าเป็นประเด็นหลังอาจต้องมารับการบำบัดทางด้านสุขภาพจิต เพราะหากปล่อยไว้ ชีวิตจะค่อยๆ หมดพลังในที่สุด

คำแนะนำส่งท้าย นพ.กัมปนาท กล่าวว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ในช่วงนี้ก็อย่าเพิ่งเปลี่ยนงานหรือโลภมากขออัพเกรดตัวเองเร็วนัก สำคัญคืออย่าเลือกงาน แต่ขอให้รับผิดชอบในหน้าที่ ณ เวลาที่เป็นอยู่ตอนนี้ให้ดีที่สุด รวมทั้งอย่าหาความสุขที่มากเกินพอดี ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เล่นการพนัน หรือหาทางออกด้วยยาเสพติด

“ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน อย่าลืมว่าความพยายามและความอดทนอยู่ที่ไหน ปัญหาทางใจก็จะไม่อยู่ที่นั่นอีกต่อไป จัดการกับปัญหา (ทางใจ) ของคุณให้ได้ เพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดีแม้ภาวะเศรษฐกิจจะแย่ก็ตาม” นพ.กัมปนาท กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา