Subject: เปิดกรุสินทรัพย์ดูไบเวิลด์ก่อนคาดถูกขายหาเงินใช้หนี้
xBT> DUBAI:เปิดกรุสินทรัพย์ดูไบเวิลด์ก่อนคาดถูกขายหาเงินใช้หนี้
ดูไบ--30 พ.ย.--รอยเตอร์
รัฐบาลดูไบจะพยายามสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดและนักลงทุนในวันนี้
สำหรับแนวทางที่รัฐบาลวางแผนจะปรับโครงสร้างเครือบริษัทดูไบ เวิลด์ หลังจาก
ดูไบขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทพักการเรียกชำระหนี้หุ้นกู้ 3.5 พันล้านดอลลาร์ที่จะ
ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 ธ.ค.นี้
การขาดความชัดเจนและแนวโน้มที่ผู้ถือหุ้นกู้จะปฏิเสธการเลื่อนกำหนด
การชำระหนี้ อาจส่งผลให้ดูไบต้องขายสินทรัพย์สำคัญออกมาในราคาถูก และอาจ
ทำให้ดูไบลดการลงทุนแบบเก็งกำไรที่เคยทำไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูเป็นเวลา
นาน 6 ปี เนื่องจากไม่มีแนวโน้มที่การลงทุนแบบนี้จะก่อให้เกิดรายได้ในระยะยาว
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของสินทรัพย์สำคัญที่รัฐบาลดูไบอาจขายออกมา:-
--สินทรัพย์ของบริษัทดูไบ เวิลด์
บริษัทดีพี เวิลด์
ดีพี เวิลด์เป็นหนึ่งในบริษัทประกอบการท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอาจถือ
เป็นหนึ่งในสินทรัพย์สำคัญที่สุดของดูไบ เวิลด์ ซึ่งการทำ IPO ในปี 2007 ของดีพี
เวิลด์ ถือเป็นการทำ IPO ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคตะวันออกกลาง และระดมทุนได้
เกือบถึง 5 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นดังกล่าวดิ่งลงกว่า 2 ใน 3
จากมูลค่าเริ่มต้นในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ดีพี เวิลด์พยายามสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ด้วยการระบุว่า ดีพี เวิลด์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการปรับโครงสร้างของดูไบ เวิลด์
ขณะที่ดูไบ เวิลด์อยู่ในระหว่างการเจรจาเรื่องการขายหุ้นในดีพี เวิลด์ให้แก่บริษัท
กองทุนร่วมทุนแห่งหนึ่ง
ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด
บริษัทอิสทิธมาร์ เวิลด์ ซึ่งเป็นกิจการด้านการลงทุนในเครือดูไบ เวิลด์
เข้าซื้อหุ้น 2.7 % ของธนาคารอังกฤษแห่งนี้ในวงเงินราว 1 พันล้านดอลลาร์ใน
เดือนต.ค.2006 แต่สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดส่งสัญญาณว่า ความเสี่ยงที่ทางธนาคาร
อาจได้รับจากดูไบ เวิลด์จะอยู่ในระดับไม่มากนัก
บริษัทเอ็มจีเอ็ม มิราจ
ในปี 2007 ดูไบ เวิลด์ได้ลงทุนราว 5 พันล้านดอลลาร์ในเอ็มจีเอ็ม
มิราจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกาสิโน โดยใช้วิธีเข้าซื้อหุ้น รวมทั้งเข้าซื้อครึ่งหนึ่ง
ของโครงการลงทุนในลาสเวกัส ซึ่งมีขนาด 8.5 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี
ในปีที่แล้วดูไบ เวิลด์ได้ฟ้องร้องเอ็มจีเอ็ม มิราจในช่วงที่เกิดวิกฤติสินเชื่อ และ
โครงการก่อสร้างซิตี้เซ็นเตอร์เกือบล้มละลาย หลังจากประสบปัญหาด้านการ
ก่อสร้าง
บาร์นีย์ส
อิสทิธมาร์ เวิลด์ซื้อบาร์นีย์ส ซึ่งเป็นเครือข่ายห้างค้าปลีกสินค้าหรูหรา
ของสหรัฐในวงเงิน 942 ล้านดอลลาร์ในปี 2007 ขณะที่บาร์นีย์สได้จ้างเพเรลลา
ไวน์เบิร์ก ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการปรับโครงสร้างในเดือนส.ค. เพื่อช่วยเหลือ
บาร์นีย์สในการพิจารณาทางเลือกต่างๆในการส่งเสริมสถานะทางการเงินให้ดีขึ้น
เพเรลลา ไวน์เบิร์ก
อิสทิธมาร์ลงทุนราว 100 ล้านดอลลาร์ในวาณิชธนกิจเพเรลลา ไวน์เบิร์ก
ในปี 2006
เซิร์ค ดู โซเลยล์ (Cirque du Soleil)
อิสทิธมาร์และนาคีล ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซื้อหุ้น 20 %
ใน Cirque du Soleil ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดทัวร์การแสดงระหว่างประเทศของ
คณะละครสัตว์ที่มีสำนักงานใหญ่ในนครมอนทรีอัลในเดือนมิ.ย.2008 และวางแผน
จะสร้างโรงละครร่วมกับบริษัทนี้ในเกาะรูปปาล์มของดูไบ
สนามกอล์ฟเทิร์นเบอร์รี
บริษัทเลเชอร์คอร์ป ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการลงทุนในกีฬาและธุรกิจ
พักผ่อนหย่อนใจในเครือดูไบ เวิลด์ ได้เข้าซื้อสนามกอล์ฟเทิร์นเบอร์รี ซึ่งเป็น
สถานที่แข่งขันกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จากบริษัทสตาร์วูด โฮเต็ลส์ แอนด์
รีสอร์ทในเดือนพ.ย.2008 ในวงเงินราว 100 ล้านดอลลาร์
เรือสำราญควีน อลิซาเบธ 2
มีการเข้าซื้อเรือลำนี้ในปี 2007 ในวงเงิน 100 ล้านดอลลาร์
โดยมีจุดประสงค์เพื่อดัดแปลงเรือลำนี้ให้กลายเป็นโรงแรมหรู และให้เรือลำนี้
จอดไว้ที่เกาะรูปปาล์มของดูไบ อย่างไรก็ดี มีการพิจารณาทบทวนอนาคตของ
เรือลำนี้ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่เรือลำนี้ได้เข้าจอดที่ท่าเรือราชิดของดูไบ
ในปีที่แล้วเพื่อรับการตกแต่งใหม่ ทางด้านบริษัทนาคีลได้แถลงในเดือนก.ค.ว่า
ทางบริษัทกำลังพิจารณาเรื่องการเคลื่อนย้ายเรือลำนี้ไปยังสถานที่อื่นๆ หรือ
ไปไว้ที่ทวีปแอฟริกา
แอตแลนติส ดูไบ
รีสอร์ทแห่งนี้เปิดทำการในเดือนพ.ย.พร้อมกับการจัดงานแสดงพลุ
ที่ใช้เงินสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์ โดยรีสอร์ทแห่งนี้เป็นโครงการลงทุนร่วมกับ
นายโซล เคิร์ซเนอร์ เศรษฐีนักธุรกิจชาวแอฟริกาใต้
--สินทรัพย์สำคัญของดูไบ
สายการบินเอมิเรตส์
ประธานกรรมการของสายการบินเอมิเรตส์ดำรงตำแหน่งประธาน
คณะกรรมาธิการการคลังสูงสุดของดูไบ โดยสายการบินแห่งนี้สั่งซื้อเครื่องบิน
ราคา 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์จากบริษัทโบอิ้งและแอร์บัสในช่วงนี้ ทั้งนี้ สาย
การบินแห่งนี้เป็นผู้นำในการยกระดับดูไบให้กลายเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศ
และเกือบจะขายหุ้นออกมาก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงิน นอกจากนี้ เอมิเรตส์
เคยพยายามสยบกระแสข่าวลือมาแล้วหลายครั้งในเรื่องที่ว่า เอมิเรตส์อาจ
จะควบกิจการกับสายการบิน Etihad ของนครรัฐอาบูดาบี ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน
ของนครรัฐดูไบ และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
เหมือนกัน
ดูไบ อะลูมิเนียม (ดูบัล)
บริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียมแห่งนี้ได้รับการก่อตั้งในปี 1979 และได้กลาย
เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2006
ดูบัลได้เข้าร่วมในโครงการลงทุนกับบริษัทมูบาดาลา ดีเวลอปเมนท์ ซึ่งมีรัฐบาล
อาบูดาบีเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ทั้งหมด โดยโครงการลงทุนนี้มีจุดประสงค์เพื่อ
สร้างหนึ่งในโรงงานอะลูมิเนียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
บริษัทตลาดหุ้นลอนดอน (LSE)
บริษัทบอร์ส ดูไบเข้าซื้อหุ้น 21 % ใน LSE ในเดือนพ.ย.2007 และ
แถลงในเดือนมิ.ย.ปีนี้ว่า บอร์ส ดูไบมองว่าการลงทุนใน LSE เป็นการลงทุน
ระยะยาว และไม่มีแผนการขายหุ้นตัวนี้ ทั้งนี้ หุ้น LSE เป็นหนึ่งในหุ้นที่ร่วงลง
มากที่สุดในดัชนี FTSE 100 ของตลาดหุ้นอังกฤษ หลังจากมีข่าวเรื่องหนี้สินของ
ดูไบออกมา
ธนาคาร HSBC
กิจการด้านการลงทุนของบริษัทดูไบ อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตัล (DIC)
เข้าซื้อหุ้นที่ไม่เปิดเผยจำนวนใน HSBC ในปี 2007 และส่งผลให้ DIC กลายเป็น
หนึ่งในผู้ที่ลงทุนมากที่สุดในธนาคารขนาดใหญ่ของยุโรป และในปี 2006 DIC ได้
จัดตั้งกองทุนแห่งหนึ่งเพื่อใช้ในการเข้าซื้อหุ้นบางตัวในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่
ที่สุดในโลก อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปีนี้ DIC ได้ปรับโครงสร้าง และซีอีโอของ
DIC ได้ลาออกจากบริษัทไปแล้ว
ธนาคารดอยช์ แบงก์
บริษัทดีไอเอฟซี อินเวสท์เมนท์ ซึ่งเป็นกิจการในเครือบริษัทดูไบ
อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ (DIFC) เข้าซื้อหุ้น 2.2 %
ในธนาคารดอยช์ แบงก์ของเยอรมนีในปี 2007 ในวงเงินราว 1.83 พันล้าน
ดอลลาร์ ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่แล้วได้มีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการของ DIFC โดยเป็น
ส่วนหนึ่งในการปรับระบบบริหารของดูไบ
โซนี่ คอร์ป
DIC ได้ดำเนินการผ่านทางกองทุนโกลบัล สเตรเทจิก เอควิตีส์ ฟันด์
(GSEF) ในการเข้าซื้อหุ้นในโซนี่ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และ
ความบันเทิงของญี่ปุ่นในปี 2007 โดยระบุว่าได้เข้าซื้อหุ้นจำนวนมาก ทั้งนี้
นักลงทุนรายใดก็ตามที่ซื้อหุ้นสูงกว่า 5 % ในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น
โตเกียวมีหน้าที่ต้องรายงานเรื่องการซื้อหุ้นดังกล่าวแก่หน่วยงานควบคุมกฎ
ระเบียบภายในเวลา 5 วันทำการ
บริษัทยูโรเปียน แอโรนอติก ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ คอมปานี (EADS)
GSEF ได้เข้าซื้อหุ้น 3.12 % ใน EADS ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอร์บัส
และส่งผลให้ GSEF กลายเป็นหนึ่งในนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดใน EADS
ซึ่งเป็นบริษัทด้านการบิน
อัลไลอันซ์ เมดิคัล
ในปี 2007 DIC ได้เข้าซื้อบริษัทอัลไลอันซ์ เมดิคัล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้
บริการเครื่องวินิจฉัยโรคด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) และเครื่องถ่ายภาพรังสีส่วน
ตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในวงเงิน 1.25 พันล้าน
ดอลลาร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อขยายกิจการบริษัทนี้เข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลาง
และเอเชีย
อีมาร์ พรอพเพอร์ตีส์
อีมาร์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าในตลาดสูงที่สุดในโลกอาหรับ
โดยอีมาร์อยู่ในระหว่างการควบกิจการกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลอีก
3 แห่ง หลังจากความล้มเหลวในการซื้อกิจการในสหรัฐและภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์
ตกต่ำในดูไบส่งผลให้อีมาร์ตกอยู่ในสถานะเปราะบาง อย่างไรก็ดี พอร์ทลงทุนของ
อีมาร์รวมถึง Burj Dubai ซึ่งเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในโลกที่มีกำหนดจะเปิดทำการ
ในเดือนม.ค. และครอบคลุมหนึ่งในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย--จบ--
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปล; ก้องเกียรติ กอวีรกิติ เรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 0-2648-9741;
Reuters Messaging: jit.phokaew.reuters.com@reuters.net))
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น