ดูแลต้นคอคุณดีหรือยัง
เส้นลมปราณหลักทั่วร่างกายมี 12 เส้น ในนั้นที่เดินผ่านกระดูกต้นคอมีถึง 6 เส้น คือ เส้นตูม่าย เส้นกระเพาะปัสสาวะ เส้นซานเจียว เส้นลำไส้เล็ก เส้นลำไส้ใหญ่และเส้นถุงน้ำดี ซึ่งล้วนเป็นเส้นหยางทั้งนั้น
เส้นหยางเป็นเส้นที่ให้ความอุ่น เส้นลมปราณจึงจะเดินคล่อง เลือดลมไหลเวียนดี กล้ามเนื้อที่อยู่รอบต้นคอมีทั้งชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากลึกมาหาตื้น จากชิ้นเล็กมาจนถึงชิ้นใหญ่ ทับซ้อนกันหลายชั้น เมื่ออยู่ในภาวะหนาวเย็นเป็นประจำ เส้นลมปราณ เส้นเลือด กล้ามเนื้อ ก็จะหดเกร็ง ยิ่งบวกกับการทำงานในท่าเดียวนานเกินไป กล้ามเนื้อจึงตึงเกร็งแข็งเป็นก้อน
เมื่อเส้นหยางเดินผ่านมาก ความอบอุ่นของบริเวณต้นคอ การไหลเวียนจึงเป็นไปอย่างคล่อง ไม่ติดขัดเช่นนี้ พอต้นคออยู่ท่ามกลางความหนาวเย็นตลอด ส่งผลให้กล้ามเนื้อต้นคอหดเกร็ง เลือดหนืด ไหลเวียนช้า ติดขัด ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ ก็ต้องหลีกเลี่ยงจากความหนาวเย็น การไหลเวียนที่สะดวกของชี่เลือด การไหลเวียนที่คล่องไม่ติดขัดของเส้นลมปราณต้องอาศัยอุณหภูมิที่พอดีกับร่างกาย
โรคเกี่ยวกับต้นคอที่เกิดขึ้นมากมายในทุกวันนี้ แยกมาออกจากการที่อยู่ในห้องแอร์เย็นๆ กินดื่มอาหารที่แช่เย็น หรือมีฤทธิ์เย็นๆ เป็นประจำ รวมถึงการใช้ท่านั่งนอนที่ผิด การสะสมความเหนื่อยล้า รวมถึงความเครียดด้วย
เส้นลมปราณหยางเส้นหนึ่งยังเดินตั้งแต่ศีรษะผ่านต้นคอ แผ่นหลัง ไปจนถึงเอ็นร้อยหวายด้านนอกจนถึงเท้า ดังนั้น ความเย็นสามารถเข้าจากทางเท้า ส่งผลมาทำให้กล้ามเนื้อที่ไหล่ คอ และหลังหดเกร็งจนเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นได้เช่นกัน
เมื่อรู้ความเป็นมาของโรคเช่นนี้ สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ เริ่มดูแลป้องกันด้วยตัวเราเองก็คือ ใส่เสื้อให้อุ่นในขณะที่ทำงานหรือนอนในห้องแอร์ เพราะห้องแอร์ได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตของผู้คนในภาวะโลกร้อนไปเสียแล้ว
สองก็คือ กินขิง หอมใหญ่ พริก พริกไทย ข่า ตะไคร้ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย หรือเอาพริกไทยสัก 1 ขีด ตำให้ละเอียด ห่อผ้า แช่ในเหล้า 48 ดีกรี สักพัก แล้วเอามาถูกล้ามเนื้อต้นคอในบริเวณที่เจ็บ เพื่อให้มีความร้อน กล้ามเนื้อเมื่อได้ความอบอุ่นก็จะคลายตัวลง แต่ต้องระวังจะลวกไหม้ผิวหนัง ต้องค่อยๆ ลองทำก่อน
นอกจากนั่งในแอร์เย็นเป็นประจำแล้ว ยังอยู่หน้าจอคอมฯ เป็นเวลานานๆ ด้วย ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งอยู่ในท่าเดียว อาการปวดคอก็ยิ่งเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การดูแลป้องกันโรคกระดูกต้นคอก็ต้องมีการบริหารเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อต้นคอ และเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ต้นคอด้วย
พอทำงานหน้าจอคอมไปได้ประมาณ 1 ชม. ก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถ หรือนั่งอยู่บนเก้าอี้แล้วเอามือทั้งสองไพล่หลังไปจับกัน ดึงรั้งแขนไปข้างหลังให้ตึง แหงนหน้าขึ้น ยืดตัวให้ตรง พร้อมกับหายใจเข้าลึกๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ทำซ้ำกันหลายครั้งตามแต่จะทนได้
ง่ายที่สุดก็คือ แกว่งแขน จาก 100 ครั้ง เพิ่มมากขึ้นเรื่อยจนเป็นพันครั้ง ถ้าทำได้ทุกวันจะทำให้กล้ามเนื้อบ่าไหล่ผ่อนคลายลงได้
บริหารต้นคอด้วยการฝึกโยคะ จะสามารถช่วยยืดเส้นสายให้ผ่อนคลาย ซึ่งบางครั้งการฝังเข็ม หรือการนวดไปไม่ถึง หรือที่เรียกกันสะบักจม
จุดสะบักที่ว่านี้ในกระเพาะปัสสาวะที่เดินเลาะเลียบริมสะบัก ห่างกระดูกสันหลังส่วนหน้าอกข้อที่ 4 ออกไป 3 นิ้ว จุดนี้จะเปิดให้ทะลุทะลวงยากมาก แต่ถ้าใครทำให้เปิดทะลวงได้ ร่างกายก็จะสบาย โบราณจีนเขาสอนให้เปิดทะลวงจุดนี้ด้วยท่าง่ายนิดเดียว คือ ยกไหล่ขึ้น แล้วห่อไหล่ไปด้านหน้า ท่านี้เรียกว่าเปิดจุดสะบัก จากนั้นดันไปข้างหลังอย่างแรงและเร็ว พร้อมกันนั้นนิ้วกลางทั้งสองนิ้วต้องไม่ให้หลุดจากเส้นกลางเข็มขัด จุดสะบักจะเปิดทะลวงค่อนข้างยาก จึงต้องฝึกเป็นประจำและเป็นเวลานาน
หรือจะใช้จุฬาลัมพา รมที่จุดนี้ก็ได้ โดยนั่งอุ้มพนักเก้าอี้เพื่อเผยให้เห็นจุดสะบักให้ชัด แล้วรมที่นั่น พอรมแล้วจะเจ็บมากแทบทนไม่ไหว แต่เมื่อรมไปได้สักพัก จะรู้สึกเหมือนมีน้ำร้อนราดลงล่าง จากนั้นจะรู้สึกโปร่ง โล่งสบาย แต่ของไทยเรา การฝึกโยคะก็ช่วยเปิดทะลวงจุดสะบักได้ดีทีเดียว
คนโบราณจีนยังสอนให้บริหารคอแบบเต่า ลองไปสังเกตดูว่าเต่าเคลื่อนไหวคออย่างไร ก็ทำตามอย่างเวลาที่เต่าเดินนั่นแหละ หัวเต่าจะผงกยืดหดๆ อยู่ตลอด ถ้าอยากรู้จริงก็ต้องไปซื้อเต่ามาดูเวลามันเดินก็ได้
เมื่อเส้นลมปราณที่เดินผ่านต้นคอมีมากมายเช่นนี้ การทำให้เส้นลมปราณเดินคล่องไม่ติดขัด จึงมีความสำคัญยิ่งในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกต้นคอ การฝังเข็มเป็นการขจัดความติดขัดให้เดินได้สะดวกแก่เส้นลมปราณ
แต่ความสมดุลในโครงสร้างของต้นคอ ไม่เพียงมีแต่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเท่านั้น ยังมีข้อกระดูกสันหลัง ที่พร้อมจะเคลื่อนขยับมากดทับประสาทได้ทุกเมื่อถ้าคุณนั่งด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดการหกล้ม เกิดอุบัติเหตุ การยกของหนัก หรือการเล่นกีฬาที่ต้องเอี้ยวคอ หลังและเอว
ดังนั้น หลังการฝังเข็มเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อแล้ว ยังควรทำการทุยหนา เพื่อจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่
การที่เราเกิดโรคขึ้น ไม่เพียงชี่เลือดและเส้นลมปราณเกิดความไม่ปกติเท่านั้น อวัยวะภายในที่กำกับดูแลอวัยวะเหล่านั้นก็มีความผิดปกติด้วย เช่น ตับกำกับดูแลเส้นเอ็น ถ้าตับอ่อนแอ ทำหน้าที่ได้ไม่ดี เส้นเอ็นก็ขาดความแข็งแรง ทำให้การร้อยรัดข้อต่างๆ แข็งแรงลดลง ทำให้เกิดอาการปวดบวมที่ข้อต่างๆ ขึ้นได้
ส่วนไตกำกับดูแลกระดูก ถ้าไตอ่อนแอ กระดูกก็จะไม่แข็งแกร่งด้วย ดังนั้นการจะทำให้ยาจีนเพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่ตับและไต เป็นการช่วยกันอีกแรงหนึ่งในการรักษาโรคนี้
การนั่งอยู่หน้าจอคอมฯ ทั้งวัน นอกจากจะปวดต้นคอแล้ว ยังปวดเมื่อย ไหล่ หลัง และเอวด้วย ถ้ากินยาจีน นวด ฝังเข็ม หรือใช้วิธีต่างๆ นานาแล้วไม่ได้ผล ลองวิธีง่ายๆที่ได้ผลรวดเร็วดู ที่แขนด้านหลังมีเส้นลมปราณไท่หยางมือลำไส้เล็กเดินพาดผ่านจากปลายนิ้วจนมาถึงต้นคอ จุด 'โฮ่วซี' เป็นจุดที่มือด้านนิ้วก้อยตรงนิ้วก้อยกับฝ่ามือเชื่อมกันพอดี นับจากปลายนิ้วก้อยมาเป็นจุดที่ 3 ใช้นิ้วโป้งซ้ายกดนวดจุดนี้ที่มือขวา 3 นาที แล้วเปลี่ยนมาใช้นิ้วโป้งมือขวากดจุดนี้ที่มือซ้าย 3 นาทีเช่นกัน จะช่วยให้ลมปราณและเลือดไหลเวียนดี
เพราะ 'จุดโฮ่วซี' เป็นจุดที่เชื่อมโยงไปถึงเส้นตูม่ายที่สันหลังได้ จึงเป็นจุดที่ช่วยรักษาการปวดเมื่อยสันหลังได้ดีที่สุด ลองทำเป็นประจำดู อาจไม่ต้องพึ่งการนวดหรือการฝังเข็มก็เป็นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น