วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาท โรคร้าย! รักษาผิด-เจ็บตัวฟรี

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตมนุษย์เงินเดือนนั่งทำงานในออฟฟิศ หรือแม้การนั่งขับรถอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานานๆ ทำให้เหนื่อยล้าเกินกว่าจะออกกำลังกายเป็นประจำได้ เมื่อเวลาผ่านไปมักมีอาการปวดตามบ่า ไหล่ สะโพก ปวดร้าวถึงปลามือ ปลายขา บางรายชาที่ปลายมือปลายเท้าด้วย ทุกข์ทรมานแสนสาหัส อาการเหล่านี้ทางการแพทย์เรียกว่า "โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท"
โรคกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาทจะมีอาการปวดร้าวและชา ไปตามแขนหรือขา อาการคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังยังแยกสองโรคออกได้ไม่ 100% ถ้าซักประวัติละเอียดจะพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อนี้จะมีอาการปวดบริเวณสะโพกนำมาก่อน และค่อยๆ ลามลงขาไปจนถึงปลายเท้า หรือปวดบริเวณคอหัวไหล่ แล้วค่อยๆ ลามไปถึงปลายแขน อาการรุนแรงกว่าโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเสียอีก
"บางรายจะปวดมากจนนอนไม่หลับ เวลาเปลี่ยนอิริยาบถเริ่มเดินแรกๆ มักจะปวดสะโพกลงขา แต่พบเดินๆ ไประยะทางหนึ่งจะค่อยๆ หายปวดขา ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อต้นคอ เวลาขยับกล้ามเนื้อคอจะมีอาการปวดเสียวอย่างแรงเหมือนไฟฟ้าช็อตที่แขน อาการนี้คล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาก" นาวาอากาศเอก นพ.ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการศูนย์รวมการรักษากระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพ (Bangkok Hospital Comprehensive Spine Center) ให้ความชัดเจนในเรื่องนี้
โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท อาการคล้าย "โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" ต้องวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ออกไป โดยการทำเอ็มอาร์ไอที่กระดูกสันหลังดูด้วยว่ามีโรคทางกระดูกสันหลังหรือไม่ พบบ่อยว่าทั้งสองโรคสามารถเกิดร่วมกันได้เสมอ และต้องระวังอย่านำผู้ป่วยที่ปวดอย่างรุนแรงไปผ่าตัดเร็วเกินไป เพราะการผ่าตัดกระดูกสันหลังไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้คลายตัวได้
กล้ามเนื้อที่พบบ่อยว่ามีการหนีบทับเส้นประสาทส่วนขา คือ กล้ามเนื้อที่มีชื่อว่า พิริฟอร์มิส (Piriformis) จึงมีผู้ใช้ชื่อโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทขาว่า "พิริฟอร์มิสซินโดรม" (Pirifomis Syndrome) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวตามขาเรื้อรัง ปวดสะโพกบริเวณที่นั่งทับ อาจจะมีอาการเล็กน้อย จนถึงขั้นรุนแรง และเดินไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายได้รับการทำเอ็มอาร์ไอ หวังว่าจะพบกระดูกทับเส้น
แต่พบว่ากระดูกสันหลังปกติทังหมด ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ที่โชคร้ายกว่านั้น คือ ผู้ป่วยบางรายผลเอ็มอาร์ไอมีหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่ด้วยความปวดทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่กระดูกสันหลังไป แต่ไม่หายปวด!! เป็นเพราะกล้ามเนื้อหนีบทับเส้นประสาท
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดขา มีลักษณะคล้ายการปวดตามแนวของเส้นประสาท จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวินิจฉัยแยกโรค "กล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาท" ร่วมด้วยเสมอ หากรักษาโรคกล้ามเนื้อก่อนแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ต้องถูกผ่าตัดโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหา "ผ่าตัดแล้วไม่หายปวด" ดังกล่าวแล้วได้ โดยแพทย์ผู้ชำนาญทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation) จะเป็นผู้ที่ทำการรักษาสภาวะผิดปกตินี้ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นผู้ป่วยทุกรายควรจะได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อแยกโรคทางกล้ามเนื้อออกเสียก่อนที่จะตัดสินใจผ่าตัด ทางการแพทย์เรียกการรักษาผู้ป่วยร่วมกันระหว่าง ศัลยแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รวมทั้งแพทย์สาขาอื่นๆ นี้ว่าการักษาแบบคอมพรีเฮนซีฟ แอพโพรช
พญ.สุชีลา จิตสาโรจิตโต ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า กล้ามเนื้อของมนุษย์มีประมาณ 600 มัด เปรียบเสมือนเป็นมอเตอร์ให้ร่างกายของมนุษย์ขับเคลื่อนไปได้ทำงานตลอดเวลาไม่มีพักจึงป่วยได้ โดยส่งสัญญาณอาการปวดร้างตามร่างกายส่วนต่างๆ เพราะปกติกล้ามเนื้อของคนจะเสื่อมลงเฉลี่ยนปีละ 1 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แต่โชคร้ายแม้เอกซเรย์หรือเอ็มอาร์ไอก็ไม่สามารถเห็จอาการป่วยของกล้ามเนื้อนี้ได้
"กล้ามเนื้อของมุษย์นั้น มีลักษณะเฉพาะตัว คือ แข็งแรง ทนทาน และยืดหยุ่นได้ หากอันใดอันหนึ่งทำงานไม่ปกติมีการตึงตัวหรือยืดหยุ่นน้อยลง ก็สามารถสร้างความเจ็บปวดขึ้นมาได้ ดั้งนั้นในการฟื้นฟูและการบำบัดนั้นในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก ต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด และคลายกล้ามเนื้อ เช่น การใช้ความร้อนทั้งแบบพื้นผิว หรือแบบลึกไปสู่กล้ามเนื้อชั้นลึก หรือแม้กระทั่งการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือการฝังเข็มให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ" พญ.สุชีลา กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา