วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พิษไซยาไนด์ตกค้างในหน่อไม้

พิษไซยาไนด์ตกค้างในหน่อไม้

หน่อไม้จานโปรดของคนหลายคน มีสารไซยาไนด์ผสมอยู่ตามธรรมชาติ แต่ไม่ต้องกังวลต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที ก็อร่อยได้อย่างปลอดภัย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลสำรวจ การได้รับสารไซยาไนด์จากการบริโภคหน่อไม้ของคนไทย โดยใช้ค่าเฉลี่ยของการบริโภคหน่อไม้ต้มต่อคนต่อวัน พบคนไทยได้รับสารไซยาไนด์เฉลี่ย 0.041 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งค่าความปลอดภัย ที่ FAO และ WHO กำหนดไว้ ไม่ควรเกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน

พร้อมแนะวิธีลดความเสี่ยงก่อนนำหน่อไม้มาบริโภค ให้ต้มด้วยความร้อนที่อุณหภูมิน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที จะช่วยลดปริมาณสารไซยาไนด์ได้ถึง 90.5 %

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าในธรรมชาติของหน่อไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคมีสารพิษไซยาไนด์ (Cyanide) เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง

ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำการสำรวจปริมาณสารไซยาไนด์ในหน่อไม้ในท้องตลาดทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบว่าก่อนที่ผู้บริโภคจะนำหน่อไม้มาประกอบอาหารยังมีไซยาไนด์ตกค้างอีกหรือไม่ และจากการสำรวจพบไซยาไนด์ในหน่อไม้ต้มและหน่อไม้ปี๊บมีค่าเฉลี่ย 19.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ดังนั้น จึงนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจปริมาณไซยาไนด์เฉลี่ยมาประเมินการได้รับสารไซยาไนด์จากการบริโภคหน่อไม้ของคนไทย โดยใช้ค่าเฉลี่ยของการบริโภคหน่อไม้ต้มต่อคน ต่อวันของสำนักงานมาตรฐานสินค้าการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ปี 2549 เท่ากับ 126.6 กรัม และใช้น้ำหนัก 60 กิโลกรัม

ในการคำนวณพบว่าคนไทยได้รับสารไซยาไนด์ เป็นปริมาณเฉลี่ย 0.041 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน และผู้ที่บริโภคหน่อไม้มากจะได้รับสารไซยาไนด์เฉลี่ย 0.092 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
ทั้งนี้ค่า ADI หรือ Acceptable Daily Intake หรือปริมาณสารที่ร่างกายสามารถรับได้ในแต่ละวันคิดเป็นมิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมนั้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้สำหรับสารไซยาไนด์ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งจากการสำรวจครั้งนี้พบว่าปริมาณไซยาไนด์เฉลี่ยที่คนไทยได้รับใกล้เคียงค่า ADI แต่ในกลุ่มที่บริโภคมากจะมีปริมาณสูงกว่าค่า ADI กำหนด 1.8 เท่า

การต้มหน่อไม้สามารถลดปริมาณสารไซยาไนด์ได้ แต่ถ้าอุณหภูมิและระยะเวลาในการต้มไม่เหมาะสมจะไม่สามารถลดปริมาณไซยาไนด์ได้ทั้งหมด เนื่องจากสารไซยาไนด์เป็นสารพิษและมีอันตรายต่อร่างกาย หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยสามารถขับออกทางปัสสาวะได้

แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก สารดังกล่าวจะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดง ( Hemoglobin) แทนที่ออกซิเจน ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน ทุรนทุรายหมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากขาดออกซิเจน

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก่อนที่จะนำหน่อไม้มาประกอบอาหาร ให้ต้มด้วยความร้อนที่อุณหภูมิน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที จะสามารถช่วยลดระดับของสารไซยาไนด์ได้ถึง 90.5 %

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา