วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)

อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
ความจำสั้น แม้ความรักจะยาว

อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกี่ยวกับสมอง และระบบประสาท ในกลุ่มของโรคสมองเสื่อมที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ การไม่รู้สาเหตุทำให้การวินิจฉัยหรือรักษาโรคเป็นไปได้ยาก โดยงานวิจัยทางการแพทย์ระบุได้เพียงว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์กลุ่มหนึ่งมีสาเหตุความผิดปกติจากพันธุกรรมซึ่งถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้
ลักษณะเด่นของโรคอัลไซเมอร์ที่ผู้คนรู้จักและจดจำได้ คือ กระบวนการเสื่อมของเซลล์สมองแบบค่อยเป็นค่อยไปจนตาย อาการของโรคจึงค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป
นายแพทย์ไพศาล วชาติมานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชันแนล เผยว่า อัลไซเมอร์เป็นโรคในกลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด ร้อยละ 50-70 ผู้ป่วยจะเกิดอาการความจำเสื่อม สูญเสียความสามารถของสมองในด้านสติปัญญาระดับสูงร่วมกับอาการทางจิต ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ และอาการหวาดระแวง
อัลไซเมอร์ มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่ในบางกรณีก็พบโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (early-onset Alzheimer’s) ในคนอายุน้อยด้วย และมีการประมาณการณ์ว่า ในปี 2549 ประชากรโลก 26.6 ล้านคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ในปี 2593 (นึกไม่ออกเลยว่า สภาพความเป็นอยู่จะเป็นอย่างไร)
อาการระยะแรก (1-2 ปี) จะวินิจฉัยยาก แต่อาการแสดงออกคือ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง การตัดสินใจบกพร่อง ขาดแหตุผล ขาดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ การจดจำลดด้อยถ้อยลง หรือตอบวนเวียนไม่ตรงคำถาม บุคลิกเปลี่ยนไป อาจมีอาการหวาดระแวงร่วมด้วย พูดน้อย เรียกชื่อสิ่งของผิด ๆ ถูก ๆ (เอ ! ตรงกับอาการของเราเลยนี่) แต่สามารถทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ
ระยะที่ 2 (2-10 ปี)
- อาการจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นอย่างช้า ๆ และเริ่มแสดงให้เห็นชัดเจน
- สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้จดจำข้อมูลใหม่ ๆ
- การนึกถึงความทรงจำเลวลง โดยความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ จะสูญหายไปก่อน ความทรงจำในอดีต ผู้ป่วยจะติดอยู่กับอดีตที่ความทรงจำยังเหลืออยู่
- การสื่อสารผิดปกติ คำพูดลดลงเรื่อย ๆ รูปประโยคหดสั้นติดขัด
- จำทิศทางไม่ได้ (ทำให้หลงทาง)
- อาการซึมเศร้า หวาดระแวง หงุดหงิด อารมณ์ร้าย ถึงขั้นทำร้ายผู้อื่นได้
ระยะสุดท้าย (10 ปีขึ้นไป)
- ไม่สามารถทำงานในกิจวัตรต่าง ๆ ได้เลย แม้ว่าแขนขาจะยังดี เดินนอนได้ แต่ต้องมีคนดูแลเพราะในที่สุด แขนขาของผู้ป่วยจะเริ่มเกร็งแข็ง เคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ และต้องนอนเตียงตลอดเวลา ทำให้ตกเป็นภาระการดูแลในทุกๆด้าน และในระยะสุดท้ายที่จะมีการแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้


การรักษา ดังที่กล่าวแล้วว่าอัลไซเมอร์เป็นโรคที่หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันได้เลย แต่วิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบันที่ก้าวหน้าขึ้นมาก ก็ทำให้การรักษาเพื่อชะลอการดำเนินโรคให้ความเสื่อมถอยนั้นเกิดขึ้นช้าลง สามารถทำได้โดยการใช้ยา พบว่าอาการหลายๆอย่างจะกลับดีขึ้นในระยะหนึ่ง นั่นหมายถึงผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นานขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบันในประเทศไทย มียาที่ใช้เพื่อบรรเทาการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์อยู่ 4 ชนิด คือ 1 Donepezil (Aricept) 2 Rivastigmine (Exelon) 3 Galantamine (Reminyl) และ 4 Mimanitine (Ebixa) ซึ่งแม้กลุ่มยาเหล่านี้จะมีราคาแพง แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยก็นับว่าคุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาตั้งแต่ระยะแรกของโรค และการใช้ยาจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับขนาดปริมาณให้เหมาะสม และไม่เกิดผลข้างเคียงมากเกินไป ทั้งนี้ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการทางจิตร่วมด้วย เพื่อควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมไม่ให้รุนแรงจนเป็นอันตรายต่อทั้งตัวผู้ป่วยเอง และคนใกล้ชิด
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ คนใกล้ชิดที่ดูแลผู้ป่วย ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในระดับหนึ่งเพื่อเตรียมรับมือกับพฤติกรรมและอาการต่างๆ ที่ผู้ป่วยแสดงออกมา ซึ่งทำให้ผู้ดูแลตกอยู่ภาวะเครียดสะสมด้วย
เพราะอัลไซเมอร์เป็นภาวะสูญเสียความทรงจำที่ไม่อาจเรียกคืน ดูแลท่านก่อนความทรงจำดีๆระหว่างลูกกับพ่อ-แม่จะหายไป






นพ.ไพศาล วชาติมานนท์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาท
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชันแนล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา