วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

ความสุข บางครั้งอาจไม่ได้ผูกพันอยู่กับความมี แต่บางที... อาจมาจากความว่าง‏

เรื่อง ความว่างที่สร้างความสุข







นักปราชญ์ชาวเอเชียวัยกลางคนหนึ่งเล่าว่า มีชายหนุ่มอยู่คนหนึ่ง แกเป็นคนอัตคัตความสุข
พยายามแสวงหาความสุขจากวิธีการต่างๆ แต่แล้วก็ยังรู้สึกว่า ไม่ใช่ความสุขแท้ที่ตัวเองต้องการ

อยู่มาวันหนึ่ง มีผู้แนะนำว่า ถ้าอยากมีความสุขก็ควรจะมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะในบ้านของเรานั้น เราสามารถเป็นเจ้าของทุกอย่างในบ้านโดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยกวนใจ
ซ้ำยังมีอิสระที่จะเสกสรรค์ปั้นแต่งหรือจัดบ้านให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองอย่างไรก็ได้

เขาเชื่อตามที่มีผู้แนะนำ จึงตัดสินใจสร้างบ้านขึ้นมาหลังหนึ่ง เมื่อแรกสร้างบ้านนั้น
บ้านของเขาหลังใหญ่ทีเดียว พอมีบ้านแล้ว เขามีความสุขมาก เขาเริ่มจัดบ้านตามต้องการ
และเริ่มหาข้าวของต่างๆ มากมาย มากองไว้ในบ้านทีละอย่างสองอย่าง
จนกระทั่งวันหนึ่ง ห้องว่างๆ ในบ้านของเขาก็หายไป ทุกพื้นที่ในบ้านเต็มไปด้วยข้าวของระเกะระกะ
มองไปทางไหนก็รกหูรกตา

ทีนี้ชายหนุ่ม เริ่มรู้สึกว่าบ้านของตนเองช่างเป็นสถานที่ที่ไม่น่า อยู่ อากาศก็อุดอู้
เขาเริ่มบ่นกับตัวเองว่าคิดผิดถนัดที่สร้างบ้านขึ้นมา เพราะนึกว่าบ้านจะให้ความสุขได้นานๆ
บางวันเขาก็ครุ่นคำนึงว่า น่าจะสร้างบ้านให้หลังใหญ่กว่านี้ จะได้บรรจุอะไรต่อมิอะไรได้เยอะๆ
ตามต้องการ

ขณะที่เขาเริ่มไม่มีความสุขเพราะบ้านกลายเป็นโกดังเก็บของนั้นเอง
ก็มีนักปราชญ์คนหนึ่งผ่านมาแถวนั้น เขาบ่นดังๆ จนปราชญ์คนนั้นได้ยิน
นักปราชญ์หนุ่มจึงแนะนำว่า ถ้าเขาอยากให้บ้านเป็นสถานที่แห่งความสุข
ก็ไม่เห็นจะยากอะไร เพียงแต่ขนข้าวของทั้งหมดออกมาวางข้างนอกบ้านเสียก็หมดเรื่อง

ชายหนุ่มได้ยินเช่นนั้น รีบทำตามทันที เขาเริ่มขนข้าวของซึ่งโดยมากล้วนเป็นสิ่งซึ่งไม่จำเป็น
หากแต่เขาเก็บเอาไว้เพราะความละโมภมากกว่าออกมาทิ้งนอกบ้าน ขนอยู่สองวัน จนบ้านว่าง โล่ง
และดูกว้างขึ้นมาผิดหูผิดตา คราวนี้เขามีความสุขมาก รำพึงกับตัวเองว่า
แหม บ้านของฉันช่างกว้างขวาง และน่าอยู่เสียนี่กระไร นักปราชญ์ได้ยินแล้วก็ได้แต่อมยิ้ม
ก่อนจะเปรยขึ้นมาว่า บ้านของเจ้าน่ะ มันกว้างขวาง ว่าง โล่ง และน่าอยู่มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
เจ้าของหากล่ะที่ทำให้มันไม่น่าอยู่ ด้วยการบรรจุอะไรๆ ที่เกินจำเป็นใส่เข้าไป
จนบ้านกลายสภาพเป็นกองขยะดีๆ นี่เอง

ใช่หรือไม่ว่า คนส่วนใหญ่ที่กำลังกวาดตามองหาความสุขและพยายามที่จะเติมสิ่งนั้นสิ่งนี้เข้าไปในชีวิต แต่แล้วก็ยังคงรู้สึก “ พร่อง ” หรือหมักหมมไปด้วยความทุกข์อยู่เหมือนเดิม
ไม่แตกต่างอะไรกับชายเจ้าของบ้านในนิทานปรัชญาเรื่องนี้

การจัดการชีวิตให้มีความสุขนั้น ทางที่ถูก อาจไม่ใช่การใส่อะไรลงไปในชีวิต แต่แท้ที่จริงแล้ว
คือการถ่ายเท ปล่อยวาง หรือระบายบางสิ่งบางอย่างออกจากชีวิตมากกว่า

ในพุทธศาสนานั้น เราถือกันว่า ความสุขอาจเกิดจากความมี (สามิสสุข) ก็ได้ แต่ที่เหนือกว่านั้น
ความสุขอาจเกิดจากความเป็นอิสระจากความมีก็ได้ด้วย (นิรามิสสุข)

บ้านแห่งชีวิตของเรา เมื่อแรกสร้างก็ดูโปร่ง โล่ง เป็นระเบียบเรียบร้อย สบายหูสบายตา
แต่เมื่ออยู่กันไป อะไรๆ ก็ชักจะเพิ่มขึ้น และบางทีเพิ่มมากมายจนกลายเป็นปัญหาอันบั่นทอนต่อความสุขในชีวิตคู่

จะดีกว่าไหม หากมีเวลาว่าง คนรักกัน น่าจะลองหาวิธีทำพื้นที่หัวใจให้ว่างด้วยการถอดถอนบางอย่าง
ทิ้งออกไป

ขอเพียงเรียนรู้ที่จะลดบางอย่างลงไป ความสุขในหัวใจก็คงจะเพิ่มขึ้น

ความสุข บางครั้งอาจไม่ได้ผูกพันอยู่กับความมี แต่บางที... อาจมาจากความว่าง
From : สถาบันวิมุตตยาลัย



*** ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic


Appendix : ว วชิรเมธี
ประวัติการศึกษา: ว วชิรเมธี เป็นนามปากกาของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ภูมิลำเนาของท่านอยู่ที่บ้านครึ่งใต้ ต.ครึ่ง อ.เชี ยงของ จ.เชียงราย ท่านเป็นคนที่รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า จึงทำให้ท่านซึมซับความรู้ทุกรูปแบบ เมื่อยังเด็ก มารดาได้พาท่านไปทำบุญที่วัดบ่อยๆ ทุกวันพระ ซึ่งผลจากการติดตามมารดาไปทำบุญบ่อยๆ นี้เอง ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านสนใจหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา และทำให้หนังสือที่ท่านอ่านไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงหนังสือความรู้หรือหนังสือบันเทิงทั่วไปเท่านั้น แต่หนังสือธรรมะก็เป็นหนังสือที่ท่านสนใจด้วยเช่นกัน หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ท่านก็ได้ขออนุญาตมารดาบวชเป็นสามเณรที่วัดครึ่งใต้ แตกต่างจากเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่มุ่งเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม จนจบนักธรรมชั้นเอก แล้วย้ายมาพำนักอยู่ที่วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงร าย เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจนสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๖ ประโยค ต่อมาเมื่ออายุครบ๒๑ ปีจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบ้านเกิด และย้ายมาพำนักที่วัดเบญจมบพิตร ในกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีต่อจนสำเร็จเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งถือเป็นการศึกษาขั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ด้านการศึกษาทางโลกนั้น ท่านสำเร็จการศึกษาเป็น “ ศึกษาศาสตรบัณฑิต ” ( สังคม-มัธยมศึกษา)จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ “ พุทธศาสตรมหาบัณฑิต ” จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปัจจุบันท่านได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ นอกจากนั้นก็ยังรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาให้กับหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย ในแง่จริยวัตรส่วนตัวนั้นนอกจากท่านจะเป็นพระนักวิชาการ พระนักคิด นักเขียน แล้วท่านก็ยังสนใจฝึกสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสิบปี

ประวัติการทำงาน / ผลงาน: ผลงานหนังสือของท่านมีเกือบ 20 เล่ม ผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ธรรมะติดปีก , ธรรมะหลับสบาย , ธรรมะดับร้อน , ธรรมะบันดาล , ธรรมะรับอรุณ , ธรรมะราตรี , ปรัชญาหน้ากุฏิ , ปรัชญาหน้าบ้าน , DNA ทางวิญญาณ , ตายแล้วเกิดใหม่ตามนัยพระพุทธศาสนา และท่านยังได้เขียนบทความลงในนิตยสารหลายฉบับ เช่น เนชั่นสุดสัปดาห์ , ชีวจิต , หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ , WE, HEALTH &CUISINE ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา