ใจดีสู้โลกร้อนรับปีเสือ ดร.อาจองเผยอีก 10 ปี แม่น้ำโขงแห้ง
ในที่สุดการประชุมเจรจาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อสรุปด้านไหนที่เป็นรูปธรรม มีเพียงความเห็นเดียวกันว่า จะต้องควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ยังไม่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน ทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา และยังไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย โดยยืดเวลาต่อไปเพื่อจะหาข้อสรุปอีกครั้งในเวทีประชุมที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ในปี 2553
แม้ว่าการประชุมจะจบไม่สวยงามนัก จะว่าไปกระแสการตื่นตัวเรื่องนี้เข้มข้นขึ้นในบ้านเรา แต่เห็นในภาคเอกชนเสียส่วนใหญ่ ก่อนที่จะเริ่มต้นสู่ศักราชใหม่ บริษัท ไทยรุ่ง กรุ๊ป ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ถอดรหัส สกัดวันสิ้นโลก 2012” โดยเรียนเชิญ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซา และผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะโลกร้อนมาเป็นวิทยากร
ดร.อาจอง กล่าวว่า ในเนื้อหาของหนังเรื่อง 2012 ที่ดวงอาทิตย์มากระทบแรงดึงดูดของโลก ทำให้สนามแม่เหล็กเปลี่ยนขั้ว ไม่ได้สร้างขึ้นจากหลักความจริงของวิทยาศาสตร์ แต่สร้างขึ้นตามคำทำนายของชนเผ่ามายัน โลกจะไม่แตกเหมือนกับในภาพยนตร์ แต่จะรองรับการเพิ่มขึ้นของมนุษย์ไม่ไหว จำนวนอาหาร และทรัพยากรมีไม่เพียงพอ หากในอนาคตผู้คนบนโลกใช้ชีวิตแบบวิถีคนอเมริกันต้องมีโลกเพิ่มขึ้นอีก 5 ใบ ขณะนี้สหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 30.3 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มประเทศยุโรปรองลงมา 27.7 เปอร์เซ็นต์ รัสเซีย 13.7 เปอร์เซ็นต์ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ผ่านมาที่เห็นได้ชัดคือเกิดพายุที่รุนแรงมากขึ้น โชคดีว่าที่ตั้งของประเทศไทยเมื่อมีพายุไซโคลนรุนแรงประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เวียดนามรับไปก่อน
ดร.อาจองกล่าวต่อว่า ปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่จะเริ่มใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น คือเรื่องการขาดแคลนน้ำ ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะภาคอีสานจะเกิดภาวะแห้งแล้งหนัก เพราะน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำโขงจะละลายหมด ไม่เฉพาะแม่น้ำโขง แม่น้ำที่อาศัยธารน้ำแข็งเดียวกัน ได้แก่ แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำคงคา แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำพรมบุตรจะเหือดแห้งลงไปด้วย แต่แม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากสุดเพราะมีผลพวงจากการสร้างเขื่อนของประเทศจีนในบางช่วงของลำน้ำ ประเทศไทย พม่า ลาว จะได้รับผลกระทบ ในช่วงหน้าแล้งน้ำแห้ง ผู้คนจะสัญจรเข้าประเทศได้สะดวก ปัญหาความมั่นคงของประเทศจะตามมา นอกจากนี้ประเทศที่ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาหิมาลัย อย่างภูฏาน เมื่อน้ำแข็งจากเทือกเขาเริ่มละลายจะเกิดทะเลสาบบนยอดเขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะต่อจากนั้นอีก 2-3 ปี ดินจะถล่มลงมา เพราะดินใต้ทะเลสาบอุ้มน้ำไว้ไม่ไหว น้ำมหาศาลจะล้นลงมาท่วมบ้านเรือนเสียหาย
“ผมได้รับการติดต่อจาก หน่วยงาน UN-HABITAT เกรงว่าในอีก 10 ปีข้างหน้ามนุษย์จะเกิดสงครามแย่งน้ำ ขอให้เข้าไปอบรมคนทั้งโลกให้มีคุณธรรมการใช้น้ำ มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วในทะเลสาบแชค (ches) ในไนจีเรีย แคชเมียร์ มีสงครามสู้รบแย่งชิงน้ำ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 จนมาถึง 2007 น้ำแห้งสนิท แทนที่จะมาร่วมมือขุดลอกทะเลสาบ กลายเป็นบทเรียนว่าเรื่องน้ำต้องร่วมมือกัน” ดร.อาจองบอกเล่า
อย่างไรก็ตามทางยุโรปร้อนขึ้นมามาก อุณหภูมิขั้วโลกเหนือสูงขึ้นทำให้น้ำแข็งจากไซบีเรียค่อย ๆ ละลาย เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ไปบรรยายที่สิงคโปร์และเตือนเขาว่าสิงคโปร์เคยเป็นเมืองท่า ที่ใหญ่สุดของโลกแต่ในปีค.ศ. 2010 เขาจะไม่เป็นเมืองท่าที่ใหญ่อีกแล้ว เพราะการเดินเรือจะเปลี่ยนเส้นทาง การส่งสินค้าจากยุโรปตอนเหนือสามารถมีทางลัดที่เร็วกว่า แต่ก่อนต้องเดินเรืออ้อมไปทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เข้าไปทางคลองสุเอชออกมาทางมหาสมุทรอินเดีย เข้ามาที่สิงคโปร์แล้วเดินทางต่อมาทางประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น แต่เส้นทางใหม่จะใกล้กว่าเยอะโดยใช้เส้นทางขั้วโลกเหนือ เพราะน้ำแข็งก้อนโตอันเป็นอุปสรรคกับการเดินเรือจะหายไป ซึ่งสิงคโปร์ก็เตรียมแผนไว้รองรับแล้ว แต่สัตว์ที่น่าสงสารคือหมีขาว ที่ไม่มีน้ำแข็งอาศัย ต้องจมลงไปในทะเล คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะสูญพันธุ์จากถิ่นกำเนิด การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีผลต่อระบบนิเวศวิทยาของสัตว์อย่างไรน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายระดับไม่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนส่งผลให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่น้ำแข็งที่อยู่บนแผ่นดินบน ภูเขา จะทำให้น้ำระดับทะเลสูงขึ้น ซึ่งเกาะกรีนแลนด์มีหิมะน้ำแข็งสะสม ตอนนี้เริ่มละลายอย่างรวดเร็ว สิ่งตรงนี้จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ
ประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนถูกพูดถึงในปีที่แล้ว และจะเป็นเรื่องร้อน ๆ อีกในปีต่อไป ประกอบกับในช่วงนี้มีเหตุการณ์ภัยธรรมชาติรุนแรง ยกตัวอย่างหิมะตกหนักในสหรัฐอเมริกาก่อนคริสต์มาส ใกล้เข้ามาในฟิลิปปินส์ภูเขาไฟมายอนส่อท่าจะปะทุอีกไม่กี่วันนี้ เมื่อโยงใยกับคำเตือนหรือข้อมูลด้านโลกร้อนที่ออกมาเป็นระยะ ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการดำรงชีวิตพอควร
ดร.สมบัติ อยู่เมือง อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย แจงให้ฟังว่า แนวภูเขาไฟในประเทศฟิลิปปินส์เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตามปกติไม่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เป็นเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นใต้โลกไม่เกี่ยวข้องบนโลก ทั้งนี้เหตุหิมะตกหนักในสหรัฐ หรืออากาศที่ร้อนขึ้นในยุโรป ฝนตกน้ำท่วม เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลง ของสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นเรื่องที่คาดการณ์ยากมาก หลายคนออกมาพูดกระแสเรื่องโลกร้อนด้วยความไม่เข้าใจ พยายามที่จะจับแพะชนแกะ ไม่ศึกษารายละเอียดการพูดเรื่องโลกร้อนปัจจุบัน ต้องมีหลักวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ อย่าใช้หลักนิเทศศาสตร์มาสร้างกระแสให้ประชาชน จะ กลายเป็นเรื่องชี้นำทางการเมืองไป ยกตัวอย่างการลดอุณหภูมิ 2 องศา ประเทศมหาอำนาจพยายามที่จะเปิดประเด็นแต่ยังไม่ลงรายละเอียดจึงไม่กำหนดแผนหรือท่าทีใด ๆ ขึ้นมา เพื่อจะไม่ให้เสียผลประโยชน์ คอยดูท่าทีประเทศ กำลังพัฒนา
“ยกตัวอย่างในบ้านเราเรื่องสตอมเซอจ ต้องระวังว่าจะเป็นเรื่องการเมือง หากเกิดการขายที่ริมทะเลต่างชาติเข้ามากว้านซื้อ ทรัพยากรของประเทศหมดใครจะรับผิดชอบหากไม่เกิด สตอมเซอจขึ้นจริง”
1 ปีที่ผ่านมากับเหตุการณ์ภาวะโลกร้อน เป็นสิ่งที่ต้องฟังหูไว้หู เชื่อด้วยเหตุผลและหลักวิชาการ แต่เรื่องของการร่วมมือเพื่อที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าก็เป็นสิ่งดี ๆ ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น