วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553
แม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง... ยังมีเลวกว่านี้อีกเยอะ
ตอนนี้เข้าหน้าแล้งเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ และข่าวหนึ่งที่เป็นที่สนใจตอนนี้ก็คือ “แม่น้ำโขงแห้งขอด” น้ำลดจนสามารถเดินข้ามได้ อันเนื่องมาจากเขื่อนจากเมืองจีนเขาทำการกักน้ำเอาไว้ทำการเกษตรและผลิตไฟฟ้า น้ำก็เลยไม่ไหลมาสู่หลายประเทศแถบบ้านเรา แม่น้ำโขงก็ต้องแห้งขอดเป็นธรรมดา
จำได้ว่าเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว ตอนที่เมืองไทยเราทำสัญญาให้มีการระเบิดแก่งกลางแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือบรรทุกขนาดใหญ่สามารถล่องแม่น้ำโขงได้ ไปสอนหนังสือที่ไหนก็อธิบายอันตรายของระบบโลกาภิวัฒน์แบบวัตถุนิยม เงิน เงิน เงิน นี้ ว่าในที่สุดแล้วจะทำลายอะไรหลายอย่างไปจากวิถีแห่งลุ่มแม่โขงแน่นอน ขออนุญาตเอามาเล่าใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะ ..... “ยังมีเลวกว่านี้อีกเยอะ” ครับ เพราะตอนนี้เราเพิ่งเดินทางมาถึง “ความวิบัติขั้นที่ ๑” เท่านั้นเองครับ
ความวิบัติขั้นที่ ๑.... ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็คือเกิดความแห้งแล้งเพราะเมืองจีนเขาสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเอาไว้ในหน้าแล้งและผลิตกระแสไฟฟ้า
ความวิบัติขั้นที่ ๒... กำลังจะมาในอีก ๖ เดือนข้างหน้า เมื่อฝนตกลงมามาก หิมะละลาย น้ำเหนือไหลบ่ามา น้ำจากเมืองจีนก็เยอะ เขาก็ต้องปล่อยน้ำลงมาอย่างรวดเร็ว มิเช่นนั้นเขื่อนเขาก็จะแตก น้ำก็จะท่วมเรือกสวนไร่นาเขา น้ำจะถูกปล่อยมาเยอะ มาอย่างรุนแรง เกาะแก่งที่เคยชะลอน้ำก็ถูกระเบิดทิ้งไปแล้ว ไม่มีอะไรกั้นน้ำ น้ำจะท่วมบ้านท่วมนาอย่างรุนแรงรวดเร็ว เพราะแม่น้ำโขงจะตรงบ้างคดบ้าง พืชผักที่ชาวบ้านปลูกไว้ตามตลิ่งสูงชันทั่วอีสานและลาว จะถูกทำลายจนหมดสิ้น จะมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมสักกี่ศพ มิทราบได้
ความวิบัติขั้นที่ ๓... ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างลาวและเขมร (รวมถึงจีน) กำลังจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีกในช่วงที่แม่น้ำโขงผ่านประเทศเขาเต็มๆ เพื่อการเกษตรกรรมและการไฟฟ้า จะไปห้ามเขาก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เขตร่วมของประเทศ ภัยพิบัติตามข้อ ๑ และ ๒ ก็จะรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ความวิบัติขั้นที่ ๔... เมื่อการระเบิดเกาะแก่งขวางทางเดินเรือครบถ้วนตามที่รัฐบาลไทยไปเซ็นต์สัญญาเอาไว้ พืชผลการเกษตร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืช GMO) ก็จะทะลักเข้ามาจากเมืองจีน ล่องสินค้าหนักลงมาตามแม่น้ำโขง ไม่เสียพลังงานมาก เมื่อขายสินค้าเสร็จก็ล่องเรือเบาๆกลับไป ไม่เสียพลังงานมาก พืชผลท้องถิ่นไทยก็จะถูกโจมตีอย่างหนัก การเปิด FTA เรื่องไม่เก็บภาษีการเกษตรก็มีผลเต็มที่ ต่อไปฝ้ายไทยจะหายไป (เพราะถูกฝ้ายจีเอมโอ มอนซันโต ถล่มตลาด เนื่องจากต้นทุนการปลูกถูกกว่า แต่จะมีอันตรายทางชีวภาพแค่ไหนไม่รู้ได้ รู้แต่ว่าทางยุโรปเขาห้ามเข้าประเทศ) มันแกวไม่มีกิน (แต่มีแอปเปิล และลูกท้อราคาถูกมาแทนที่) ชาวนาชาวไร่ไทยจะทำอย่างไรหนอ
ความวิบัติขั้นที่ ๕... ความหลากหลายทางชีวภาพของลำน้ำโขงก็จะหายไป เพราะเกาะแก่งและกระแสน้ำเปลี่ยนไปหมดแล้ว อาหารและสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตย์ก็จะกลายพันธ์ เกิดพืชและสัตว์แบบใหม่ที่ใกล้ Mono Culture รวมถึงการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นธุรกิจวิทยาศาสตร์ไป
ความวิบัติขั้นที่ ๖... วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่ยาวนานแห่งลำน้ำโขงก็จะหายไป เกิดวัฒนธรรมใหม่ หรือความไม่มีวัฒนธรรมก็จะเกิดขึ้น
ความวิบัติขั้นที่ ๗... เรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่ยาวนานแห่งลำน้ำโขงก็จะเลือนหายไปจากความทรงจำ เพราะไม่มีนักวิชาการท่านใดสนใจที่จะบันทึกเสน่ห์แห่งลำน้ำโขงไว้ เนื่องจากนักวิชาการกำลังเมามันกับการออกข้อสอบ admission แบบโอเนต เอเนต และ โอละเห่เท่ไปเรื่อยๆ
แ ล้ ว ทำ ไ ม่ ถึ ง จ บ แ บ บ นี้ ห ว่ า . . . . . หึ หึ
ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์
มีนาคม ๒๕๕๓ ณ วันที่แม่น้ำโขงแห้งขอด
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น