เรื่องหวาดเสียวในเส้นก๋วยเตี๋ยว
อาหารของชาวจีนที่เข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ แล้วถูกปรับจนเป็นอาหารพื้นฐานของคนไทยชนิดนี้ มีอันตรายแฝงอยู่แบบที่คุณนึกไม่ถึง เพราะเส้นก๋วยเตี๋ยวสีขาวที่เรากินกันนั้นทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ซึ่งมีความชื้นสูง ขึ้นราได้ง่าย หากเก็บไว้หลายวันเส้นก็จะใช้อีกไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องใส่สารกันบูดลงไปเพื่อยืดอายุของมันออกไป
แต่มันแย่หน่อยที่สารกันบูดที่ใส่ลงไปนั้นคือ “กรดเบนโซอิก” และ “กรดซอร์บิก” ซึ่งจะทำให้ตับและไตของเราทำงานแย่ลงหากได้รับในปริมาณสูง และแย่กว่านั้นตรงที่งานวิจัย “ความปลอดภัยในเส้นก๋วยเตี๋ยว ในเขตภาคอีสาน” ของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี รายงานว่า 4 จังหวัดภาคอีสานมีปริมาณสารกันบูดมากกว่ามาตรฐานตั้งแต่ 4 เท่าตัวขึ้นไป
1,000 ม.ก./ก.ก. คือปริมาณกรดเบนโซอิกที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอาหารสากลเห็นว่ายังปลอดภัย แต่ในการวิจัยนั้นพบว่าในเส้นใหญ่มีกรดเบนโซอิกมากถึง 4,230 ม.ก./ก.ก. และ ตัวเลขที่ชวนช็อคที่สุดตกเป็นของเส้นเล็กค่ะ นั่นคือมีกรดเบนโซอิกมากถึง 17,250 ม.ก./ก.ก. แปลว่าสูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยถึง 17 เท่าทีเดียว...โอ้
ข้อมูล ที่จะมาตอกย้ำให้คุณตื่นตระหนกและหมดหวังก็คือ สารกันบูดที่ใส่ลงไปไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สภาพของเส้นใส่สารกับเส้นสะอาดก็ไม่ต่างกันเลย และถ้าคิดว่าการลวกด้วยน้ำร้อนจะเจือจางสารได้ก็เสียใจด้วย เพราะมันผสมเป็นเนื้อเดียวกับเส้นไปแล้ว เราจึงได้แต่ฝากชีวิตไว้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. หาวิธีแก้ปัญหาที่ผู้ผลิต
หรือไม่งั้นก็ต้องพึ่งตัวเองด้วยการกินบะหมี่เหลือง วุ้นเส้น เพราะพวกนี้ทำจากแป้งสาลี จึงไม่มีการใช้สารกันบูดเลย แต่ถ้าอยากกินเส้นขาวก็ยังมีวิธีตรวจสอบมาฝากบ้าง นั่นคือ...
3 วิธีเช็กอันตรายเส้นก๋วยเตี๋ยว
1. เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ใส่สารจะเหนียวผิดปกติ กัดไม่ค่อยขาด
2. เมื่อนำไปลวกในหม้อ สังเกตได้ว่าน้ำที่ลวกจะขุ่น
3. เส้นก๋วยเตี๋ยวปกตินั้นทิ้งไว้คืนเดียวก็ขึ้นราและบูดแล้ว แต่ถ้าเป็นเส้นที่ใส่สารแม้ทิ้งไว้ 2-3 วันสภาพก็ยังเหมือนเดิม แต่ถ้าลองดมดูจะได้กลิ่นเหม็นเปรี้ยวทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น