วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่าบาทแข็งคนได้ไม่พูด ส่งออกรายใหญ่อ้างSMEs

ค่าบาทแข็งคนได้ไม่พูด ส่งออกรายใหญ่อ้างSMEs


บาทแข็งนำเข้าน้ำมันถูกลงแต่ในประเทศแพง วัตถุดิบนำเข้าถูกลง แต่กลุ่มได้ประโยชน์ไม่พูด เรื่องค่าแรงอมมาสิบปี ลูกจ้างจะเอาคืนปีเดียวกลับโวย
เงินบาทในประเทศแข็งค่าสุดในรอบ 13 ปีเมื่อต้นกันยายน อยู่ที่ระดับ 30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับสกุลเงินเอเชีย ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวที่ 29.94 บาท และปิดตลาดที่ 30.04-30.06 บาท เสียงดังที่สุดว่าเดือดร้อนเสียหายมากคือกลุ่มส่งออก และได้เร่งรัดธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท เรื่องนี้ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นแตกต่าง
สถานการณ์บาทแข็ง ผู้ประกอบการส่งออกกังวลมาก จะส่งผลกระเทือนเศรษฐกิจไปอีกหลายภาคส่วน
ผมว่าไม่ถึงขนาดนั้นหรอก มันโอเวอร์ เอ็สทิเมท(over estimate) คือมองอะไรคาดการณ์ให้เกินจริงไป เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ ถามว่ากระทบไหม กระทบแน่นอน มากไหม ก็พอสมควรอยู่แหละ แต่ถามว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจของชาติมากน้อยแค่ไหน อันนี้เราไม่สามารถสรุปว่าการกระทบกระเทือนต่อการส่งออก จะกระทบถึงเศรษฐกิจของชาติโดยรวม เหตุเพราะว่าลักษณะเศรษฐกิจไทย ระหว่างมูลค่านำเข้าและการส่งออกใกล้เคียงกัน ถ้าถามแค่ค่าเงินบาทแข็งกระทบผู้ส่งออกใช่ไหม ใช่ ถามผู้นำเข้าได้ประโยชน์มากขึ้นไหม แต่ผู้นำเข้าไม่พูดไง เมื่อรายได้นำเข้าและส่งออกรวมกันก็เป็นรายได้ของเศรษฐกิจของชาติ
รายใหญ่ตื่นตระหนก และยังยกธุรกิจ SMEs ขึ้นมาอ้างด้วยว่าจะอยู่ไม่ได้
มันเป็นธรรมดาทุกครั้ง ในธุรกิจรายใหญ่เมื่อเกิดปัญหาจะอ้างรายย่อยด้วยเสมอ ก็เหมือนนักการเมืองอ้างชาวบ้าน รายใหญ่ก็อ้างเอสเอ็มอี เอาจริงๆ กำไรกระจุกตัวอยู่รายใหญ่ ถามจริงๆ เอสเอ็มอีที่นำเข้ามีไหมล่ะ เอสเอ็มอีที่นำเข้าและส่งออก จะมี 3 ประเภท 1.ส่งออก โดยอาศัยวัตถุดิบภายในประเทศ 2.ส่งออก อาศัยวัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก 3.ไม่ส่งออก แต่นำเข้าวัตถุดิบภายนอกประเทศ 4.ไม่ได้ส่งออก แต่ใช้วัตถุภายในประเทศ ซึ่งเอสเอ็มอีแบบที่หนึ่งอาจไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แบบที่สอง อาศัยวัตถุดิบนำเข้า เช่น เพชร พลอย จากศรีลังกา ต้นทุนก็ลดลง ก็โอเค ทองนำเข้าทำทองรูปพรรณแล้ว ส่งออกก็ยังได้กำไร
นำเข้าน้ำมันถูก แต่ทำไมในประเทศน้ำมันแพงขึ้น
บาทแข็งน้ำมันควรลดลง มันเป็นการเอาเปรียบของรายใหญ่ไง ราคาน้ำมันควรลดลง น้ำมันเป็นรายใหญ่ทั้งนั้น ไม่พูดความจริง มันแหกตาชาวบ้านตลอด ปตท.นี่ ไม่ยอมบอก เราผลิตแก๊สและน้ำมันรวมกันได้ 42 เปอร์เซ็นต์ที่เราใช้ บรูไนเขาเก็บค่าภาคหลวง 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่ไทยเก็บแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เอาเปรียบไหมล่ะ
ถ้าเราทำให้น้ำมันราคาถูก เราก็สามารถผลิตสินค้าแข่งกับต่างประเทศได้ มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น
เรานำเข้าน้ำมัน 58 เปอร์เซ็นต์ที่เราใช้ ค่าบาทแข็งนำเข้าราคาถูกลง แต่ทำไมน้ำมันราคาในประเทศไม่ลดลง ยังเอารัดเอาเปรียบ ยังฉวยโอกาส คนส่งออกก็พูดแต่ประโยชน์ตัวเอง กลุ่มอื่นได้ประโยชน์จากบาทแข็งก็ไม่ยอมพูด เวลาเสียประโยชน์โวย แต่เวลากลุ่มตัวเองได้ประโยชน์ เงียบ

ข้อเรียกร้องต่อแบงค์ชาติให้แทรกแซงค่าบาท สมควรทำหรือเปล่า
ไม่น่าจะทำนะ ถ้าเขาคิดถึงระดับชาติ มันต้องคิดเฉลี่ยกัน รายได้ส่งออกลดลงเท่าไหร่ รายได้ผู้นำเข้าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่หรือลดรายจ่ายเท่าไหร่ ถ้ารายจ่ายจากการนำเข้าลดลงพอๆ กับรายได้ของผู้ส่งออกลดลง ก็น่าจะโอเคนะ ถ้าเกลี่ยกันแล้วอันไหนมากกว่า ถ้าได้รายได้ของผู้ส่งออกลดมากกว่า รายจ่ายของผู้นำเข้า อันนั้นก็จะเกิดผลเสียหาย แต่ผมดูแล้ว ระหว่างได้ประโยชน์จากการลดรายจ่ายนำเข้า กับการลดรายได้ของการส่งออก มันไม่ต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งออกสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ พวกนี้นำเข้าวัตถุดิบมากก็ได้ประโยชน์
เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาพักไว้ หากำไรในโซนเอเซีย ทำให้ค่าบาทแข็ง เป็นไปตามกลไกปรกติ หรือการโจมตีค่าเงิน
ปัญหาคือยุโรป อเมริกา การลงทุน ตลาดเงิน ตลาดหุ้น เห็นว่าทางเอเซียกำลังรุ่ง ผลตอบแทนดีกว่าทางโน้น เงินไหลเข้าส่วนมากมาตลาดหุ้น ตลาดเงิน เป็นหลัก ไม่ใช่ตลาดลงทุน
ก็ไม่ค่อยเป็นผลดีต่อการลงทุนระยะยาวสักเท่าไหร่
ก็ใช่ การไหลเข้าทำให้บาทแข็งแน่นอน ทันทีไหลเข้าหมายความว่าอะไร เขาจะเอาดอลลาร์มาแลกเป็นบาท เมื่อได้เงินบาทก็นำเงินบาทไปลงทุนตลาดหุ้นมากกว่าจะลงพันธบัตรที่เป็นตลาดทุน ถ้าเศรษฐกิจดีดอลลาร์แข็งจะมาลงทุนพันธบัตรมากกว่า แต่นี่ดอลลาร์อ่อนก็ไม่สนใจพันธบัตร แต่ไปลงตลาดหุ้น เอาดอลลาร์ไปแลกบาทไปลงหุ้นทำกำไร
แบงค์ชาติควรทำอย่างไร
วิธีตรึง ก็ผ่องถ่ายดอลลาร์ออกไป เหมือนเติมน้ำลงอ่าง น้ำก็คือดอลลาร์ จะดันบาทลอย เติมน้ำมากขึ้นบาทก็ยิ่งลอยขึ้น ถ้าปล่อยให้ล้นอ่าง เงินบาทก็ตกเรี่ยราดค่าบาทก็เสียหาย วิธีการคือดอลลาร์เข้าก็เจาะรูระบายออก เช่น เอาดอลไปซื้อพันธบัตร แต่ต้องไม่ใช่ของอเมริกา เช่นพันธบัตรจีน ดอลเยอะเอาไปซื้อพันธบัตรเกาหลี มาเลย์ดอลเยอะก็ไปซื้อพันธบัตรจีน หรือซื้อหยวน อีกอย่างเอาดอลลาร์ไปฝากประเทศที่มีดอกเบี้ยดีๆ แบ็งค์ชาติจึงเปิดทางให้นำดอลลาร์ไปฝากประเทศอื่นที่ดอกเบี้ยดีได้ หรือซื้อเครื่องจักร
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยแนวโน้มจะขึ้นเพราะตลาดอื่นขึ้นไปแล้ว ขณะที่ค่าบาทแนวโน้มขาลง เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นคนก็อยากกู้ไปลงทุนเพิ่ม เมื่อเงินออกไปมากธนาคารก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อจูงใจให้คนนำเงินมาฝากให้มากขึ้น ยืนยันว่าเงินที่ไหลเข้าต่างก็มาเก็งกำไรกันทั้งนั้น เพราะเข้ามาในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ซื้อวันนี้แล้วขายพรุ่งนี้ ถ้าจะให้ดีต้องลงทุนในพันธบัตรที่รอผลตอบแทน 3 ปี 5ปี และมีนโยบายดึงดูดเงินต่างชาติมาลงทุนในเรียลเซ็คเตอร์หรือภาคการผลิตจริง เช่นตั้งโรงงาน
ฟังผู้ส่งออกอ้างว่าวิธีอย่างนี้ไม่ทันการณ์ ไปลงทุนแหล่งอื่น หรือซื้อเครื่องจักร ต้องใช้เวลานาน
เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด ตามไม่ทัน ปรับตัวไม่ได้ อยู่ที่ตัวเขาเองไง ผู้ส่งออกอาจไม่คิด แต่ผู้นำเข้าสบายอยู่แล้ว โดยเฉพาะอิเล็คทรอนิกส์ ซื้ออะไหล่มาตุนไว้เยอะเลย น้ำมันถูกลงก็ไม่ยอมพูด สิ่งทอก็นำเข้าวัตถุดิบ รถยนต์ก็นำเข้าวัตถุดิบได้เยอะเลย อุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งนำเข้าและส่งออกนะ ไม่พูดเลย เรื่องบอกว่าจะเสียหายต่อเศรษฐกิจแค่ไหน ง่ายมากคุณไปดูตัวเลขส่งออกและนำเข้าตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน ถ้าตัวเลขสองตัวนี้ใกล้เคียงกัน ผลเสียหายก็น้อย ก็เจ๊ากันไป ต้องยอมรับได้ ไม่ใช่ดูแต่รายได้ส่งออกลดเพราะค่าบาท
เรื่องน้ำมันนี่ทำไมราคาในประเทศยังขยับขึ้น ผู้บริหารได้โบนัสเยอะ ตั้งตำแหน่งซ้ำซ้อนกันในองค์กร ได้เบี้ยประชุมค่าตำแหน่ง ในสหรัฐฯเขาสั่งห้ามขึ้นโบนัสสูง ๆ ให้กับซีอีโอ แต่เมืองไทยไม่พูดกันเลย ทั้งที่ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์
นักการเมืองได้ประโยชน์จากเขา ๆให้ทุนทุกพรรค เงินมันยัดปากพูดไม่ออก ว่าอย่างนี้ดีกว่า
เรื่องค่าแรง นายกฯเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาท แต่ลูกจ้างล่าสุดเรียกร้อง 421 บาท ตัวเลขนี้มาอย่างไร
ตัวเลขค่าจ้างในทางปรัชญามี 3 ระบบ หนึ่ง ค่าจ้างเพื่อยังชีพ 1 คนจะยังชีพอยู่ได้ควรจะมีรายได้เท่าไหร่ สอง ค่าจ้างเพื่อครอบครัวมนุษย์ เลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วย คนงานบอกต้องส่งเงินให้พ่อแม่ ต้องส่งเงินให้ดูแลลูก ตามมาตรฐานไอแอลโอ (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ค่าจ้างเลี้ยงตัวได้ เลี้ยงครอบครัวอีก 3 คนได้ สาม ค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรม คือเพื่อยังชีพ บวกทักษะความรู้ 250 บาท และบวกความเป็นช่างฝีมือ อีกเช่น 100 หรือร้อยกว่าบาททำนองนี้
ตัวเลข 250 บาทมาจากไหน
คำว่ายังชีพ คือคนงานต้องทำงาน 8 ชั่วโมง เพื่อใช้ในปัจจัยสี่ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่ และยารักษาโรค บวกค่าเดินทาง บวกเบี้ยประกันสังคม คือถ้าจ่าย 5 อย่างแล้วสามารถอยู่ได้ ไม่ป่วยก็ถูกบังคับหักในประกันสังคมอยู่แล้ว นายกฯคิดยังไงไม่รู้ แต่ผมดูจากความจริง เพื่อให้ได้ปัจจัยสี่ ค่าเดินทาง เบี้ยประกัน แต่คนงานต้องทำงานวันละ 10 -12 ชั่วโมง จึงจะมีรายได้ 6,500-7,000 บาท ที่ดิ้นรนก็อยากได้เท่านี้ ถ้าไม่จำเป็นต้องจ่ายก็คงไม่ทำ 6,500 -7,000 บาท คิดเป็นรายวันเท่าไหร่ ทำงานสัปดาห์ละ 6 วันก็ประมาณ 250 บาทนั่นเอง ปัจจุบันขั้นต่ำ 206 บาท อีก 44 บาทคนงานต้องทำล่วงเวลาถึงจะได้มาพอจ่าย ถ้าเราไม่ต้องการให้เขาลำบากทำล่วงเวลาก็ต้องจ่ายขั้นต่ำให้คนงาน 250 บาท
ทำไม ทางผู้ประกอบการไม่ยอม
สังคมไทยไม่ใช่สังคมเหตุผล เป็นสังคมใครมีอำนาจต่อรองมากกว่า ถามว่าเป็นเงินมากเกินไปหรือเปล่า มาดูตารางคิดแบบดัชนีค่าจ้าง ถ้าเรากำหนดให้ปี 2000 ค่าจ้างต่อวัน 200 บาท และถึงปี 2008 ค่าแรงเพิ่มเป็น 205 บาท คือ 8 ปีเพิ่มให้แค่ 5 จุด แต่มาดูประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน ในปี 2000 ลูกจ้างผลิตของได้ 100 บาท และผลิตได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 2008 ลูกจ้างผลิตเพิ่มได้ 122 บาท คือเพิ่ม 22 จุด ถามว่าค่าจ้างเพิ่มแค่ 5 จุด มันยุติธรรมหรือ ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ว่านายทุนประเทศไหนสะสมกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือว่าไปคุณก็อมเขาทุกวัน ๆ วันหนึ่ง ลูกจ้างบอกคุณอมผมนี่หว่า เอาคืนผมสิ อมมาสิบปี เขาเอาในปีเดียวก็ดูเหมือนมากสิ
นายจ้างอ้างปรับขึ้นก้าวกระโดดอย่างนี้ จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ฟังขึ้นไหม
มันนิดหน่อย เพราะค่าจ้างการผลิตไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิต ต้องมองแบบสัมพันธ์กัน การขึ้นแบบนี้ ต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้างแน่นอน ฝ่ายธุรกิจ ถ้าเขาได้ประโยชน์จากกลไกตลาดเขาจะอ้าง แต่เวลาเสียประโยชน์ไม่อ้างกลไกตลาด
นายกฯ รับปากเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่พรรคร่วมรัฐบาลจะเอาด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้
คนในรัฐบาลกว่าครึ่งก็เป็นนายทุน เป็นตัวแทนของกลุ่มทุน ดังนั้นจะหวังให้พวกเขาเห็นด้วยคงยาก
เรื่องปฏิรูปการเมือง มีความหวังจะเป็นไปได้ไหมกับนักการเมือง เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปพ้นวาระ 3 ปีไปแล้ว
ไม่ต้องพูดถึงพรรคการเมือง ผมไม่คาดหวังเลย และเรื่องนี้เราทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่มมาก่อนแล้วปีครึ่ง รัฐบาลมาขอร่วมเท่านั้น ไม่ใช่คนริเริ่ม รัฐบาลไม่มีสิทธิ์เป็นฝ่ายนำในเรื่องนี้ และถ้าคณะกรรมการปฏิรูปหมดไป รัฐบาลนี้ยุบไป คิดหรือว่าภาคประชาชนที่เรื่องนี้จะหยุดเคลื่อนไหว เพราะเขาไม่หวังพึ่งนักการเมืองแล้ว ฉะนั้นไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองเลย
คิดปฏิรูปเมืองไทยจะเป็นจริงได้เมื่อไหร่
ผมให้ถึงปี 58 รัฐบาลไหนมาบริหารก็ล้มเหลว แก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ และภาคประชาชนไม่ยอมแล้ว องค์กรภาคประชาชนที่ตื่นตัวและมีประสบการณ์ จะขับเคลื่อนออกมาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา