วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ญี่ปุ่น - มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก...สังคมที่กลืนกินตัวเอง

ญี่ปุ่น - มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก...สังคมที่กลืนกินตัวเอง

®®® ญี่ปุ่น > มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก เท่าที่เคยอ่านพบมานานแล้ว ข้อเท็จจริงมาจาก [ญี่ปุ่น สังคมที่กลืนกินตัวเอง]
---------------------------------------------------------------------------------------









ภาพเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคม ปี 2009 เมื่อบรรดานักธุรกิจชายหญิงในโตเกียวร่วมชุมนุมสวดอ้อนวอนให้วันเวลาแห่งความรุ่งโรจน์กลับมาอีกครั้ง





ในแวดวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้น
บ่อยครั้งตามพลังพลวัตทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยหยุดนิ่งทั่วโลก ในยามที่ประเทศครึ่งหนึ่งของโลกเกิดปัญหาเศรษฐกิจระดับวิกฤต ศัพท์คำหนึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามศึกษาทำความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความคาดหวัง ไม่ใช่ด้วยอารมณ์คึกคัก ทะเยอทะยาน แต่เปี่ยมด้วยความหวั่นกลัว หวาดผวาว่าสภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับสังคมของตนเอง

"แจแปนิฟิเคชั่น-Japanification" เป็นอย่างญี่ปุ่น? ฟังดูเรียบง่าย ไม่มีพิษภัย ทำไมต้องหลีกหนี ทำไมต้องไม่เป็นอย่างที่ญี่ปุ่นกำลังเป็นอยู่ในเวลานี้?

ญี่ปุ่น คือตัวอย่างของประเทศหนึ่งซึ่งเกิดการพลิกผันของชะตากรรมเชิงเศรษฐกิจอย่าง รุนแรงและยาวนานชนิดที่น้อยประเทศนักจะพบพานในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย ครั้งหนึ่ง ญี่ปุ่น คือตัวอย่างของ "ความสำเร็จแห่งเอเชีย" ผู้คนจากดินแดนแห่งอาทิตย์ยามอุทัยแห่งนี้มีวิถีและรูปแบบของการใช้ชีวิต เป็นที่อิจฉา ริษยาของผู้คนทั่วโลก

ทศวรรษ 1980 คือทศวรรษที่ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติแรกจากเอเชียที่มีศักยภาพเกินพอต่อการท้าทายการครอบงำทั้งโลกที่อยู่ในกำมือของชาติตะวันตกมายาวนาน

แม้กระทั่ง ในปี 1991 นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังพากันคาดการณ์ว่า ภายในทศวรรษแรกของศตวรรษใหม่ นั่นคือในปี 2010 ญี่ปุ่นจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา นักธุรกิจญี่ปุ่นยืดอก
อย่างทะนงรับรู้นิยามที่ผู้คนในแวดวงเดียวกันจากทั่วโลกพาดพิงถึงว่า ยะโส โอหัง

คำว่า "สัตว์เศรษฐกิจ" ไม่เพียงปรากฏอย่างดกดื่นแฝงนัยประชดประเทียดเท่านั้น ยังซุกงำความยกย่อง ชมเชย และประหลาดใจไว้ในตัวอีกด้วย

ในความเป็นจริง ญี่ปุ่นในปีนี้ ไม่เพียงมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อนเท่านั้น สัตว์เศรษฐกิจตัวนี้ยังสูญเสียจิตวิญญาณของตัวเองไปโดยสมบูรณ์แบบอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในปี 2010 มีมูลค่า ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันอยู่ที่ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีดีพีของสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกันเป็น 14.7 ล้านล้านดอลลาร์

เดือนสิงหาคมปีนี้ ญี่ปุ่นไม่เพียงหยุดนิ่งอยู่กับที่ ยังถูกจีนแซงหน้าขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 แทน

สังคมญี่ปุ่นเต็มไปด้วยปัญหาการเมือง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาตกอยู่ในสภาวะ "อัมพาต" ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้น 14 คน ไม่มีผู้ใดสามารถแม้เพียงแค่ "จุดประกาย" ให้ความหวังและแรงบันดาลใจกับสังคมญี่ปุ่นได้

บริษัทธุรกิจในญี่ปุ่นเรื่อยไปจนถึงปัจเจกบุคคล สูญเสียคิดเป็นมูลค่านับล้าน
ล้านดอลลาร์ในตลาดหุ้น ที่ตอนนี้มีมูลค่ารวมเหลือเพียงแค่ 1 ใน 4 ของที่เคยมีเมื่อปี 1989

ราคาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเคยเบ่งบานสุดขีด ชนิดที่มีการตีมูลค่าพระราชวังอิมพีเรียลไว้สูงถึงขนาดซื้อรัฐแคลิฟอร์เนียได้ทั้งรัฐ หลงเหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของระดับราคาที่เคยทะยานขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 1974 และในความเป็นจริง ราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่เคยขยับขึ้นอีกเลย นับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา

นาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น




รัฐบาลญี่ปุ่นทำได้เพียงแค่การกระตุ้น กระตุ้นและกระตุ้นเศรษฐกิจ หว่านและอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบครั้งแล้วครั้งเล่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแทบเป็น 0 เปอร์เซ็นต์มานานปีดีดัก ผลลัพธ์ที่ได้คือ ญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูงที่สุดในโลก

สูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี!

สังคมเล่า? ประชากรญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก ระดับ "คนยากจน" เพิ่มขึ้นตามอัตราว่างงาน เช่นเดียวกับอัตราการฆ่าตัวตาย

โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้กระทำอัตวินิบาตกรรมในญี่ปุ่นมากกว่า 30,000 คนต่อปี มากถึงขนาดตามเส้นทางรถไฟในกรุงโตเกียว จำเป็นต้องติดไฟสีน้ำเงินนวลตาเอาไว้เรียงรายตลอดแนวราง

โดยหวังว่ามันจะช่วยปลอบประโลม หรือเปลี่ยนการตัดสินใจใครก็ตามที่มาที่นี่เพื่อปลิดชีวิตตัวเอง

*****

สังคมญี่ปุ่นชราลงอย่างรวดเร็ว เป็นสังคมที่ "ชราภาพ" มากที่สุดในโลก ในข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอีกข้อเท็จจริงซุกงำอยู่อย่างชวนตกตะลึง

"โซเง็น คาโตะ" มีชื่ออยู่ในบันทึกของเทศบาลนครโตเกียวว่าเป็นชายที่มีอายุยืนที่สุดในเขตเมืองหลวงของประเทศแห่งนี้ นับถึงตอนนี้ เขา "ควร" อายุ 111 ปี เจ้าหน้าที่พบเขาอยู่ในสภาพแห้งกรัง มวลเนื้อของร่างกายสูญสลายเหลืเพียงหนังหดแนบแนวกระดูก อยู่บนเตียงนอน มองปราดแรกชวนให้เข้าใจว่าเป็นมัมมี่

บุตรีวัย 81 บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า โซเง็น ทะเลาะกับหลานๆ แล้วก็สะบัดหน้าเดินเข้าห้องนอน ไม่ยอมออกมาอีกเลยนับตั้งแต่วันนั้น

นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากว่า เหตุการณ์ตามคำบอกเล่าไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน! ลูกๆ หลานๆ ทำอะไรอยู่ในช่วงเวลานานนักหนานั้น?

คำตอบคือ ครอบครัวคาโตะเก็บงำเรื่องทั้งหมดไว้ เพียงเพื่อให้ได้รับบำนาญและเงินช่วยเหลือพิเศษสำหรับผู้สูงอายุเกิน 100 ปีของทางการได้ต่อไป

นั่นยังไม่ชวนให้ช็อคเท่ากับอีกกรณีของสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นอีกราย เธอ "ควร" มีอายุ 104 ปี ในปีนี้ ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ตรวจสอบพบเพียงแค่ "กะโหลก" ของเธอ เก็บไว้เป็นอย่างดีในเป้สะพายหลัง ที่บุตรชายอายุ 64 ปี เป็นเจ้าของ

คำให้การของผู้ลูกสูงวัยก็คือ เมื่อมารดาเสียชีวิต เขาชำระศพอย่างดี จากนั้นชำแหละอย่างระมัดระวังเป็นชิ้นๆ สตัฟฟ์เก็บไว้ในเป้ใบนี้ เหตุผลง่ายๆ สั้นๆ ที่เขาให้กับเจ้าหน้าที่ก็คือ

"ผมไม่มีเงินค่าจัดการศพ"!

เหตุการณ์น่าแตกตื่นทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องสั่งตรวจสอบ ส่งเจ้าหน้าที่ไป "พบหน้า" ผู้สูงอายุที่อายุยืนกว่า 100 ปีทุกคนทั่วประเทศ ยิ่งค้น ยิ่งพบ ยิ่งหายิ่งชวนแตกตื่นตกใจ

รวมทั้งหมดทั่วประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า มีผู้ที่สูงวัยเกิน 100 ปี มากกว่า 234,000 คนที่อยู่ในทะเบียนผู้สูงวัยพิเศษที่ควรได้รับเงินสนับสนุนพิเศษจากรัฐ ไม่มีตัวตนอยู่จริง

หากไม่พบเป็นศพ ก็พบว่าหายตัวไปและควรถูกระบุว่า เสียชีวิตแล้ว เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว

คนญี่ปุ่นไม่มีความมั่นใจในอนาคตเศรษฐกิจของประเทศอีกต่อไป




*****

ความเป็นจริงของเหตุการณ์น่าตระหนก แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้นกับสังคมญี่ปุ่น?

เหตุผลประการแรกที่ทำให้คนตายกลายเป็น "แหล่งรายได้" ของคนเป็น ก็คือ "ไม่รู้" พวกเขาอยู่ห่างกันไกลเกินไปเพราะความ
จำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จนจำเป็นต้องทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่ไว้เพียงลำพังในอีกเมืองหนึ่ง อีกอำเภอหนึ่ง

เหตุผลประการถัดมาก็คือ "หายไป" มีบ้างที่ไร้ร่องรอยให้เสาะหา มีบ้างที่ลูกๆ หลานๆ ไม่ต้องการเสาะหา

แต่เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พวกเขาทั้งหมดไม่รายงานการหายตัวไป หรือการเสียชีวิตของผู้เฒ่าในครอบครัวก็คือ "เงิน"

เงินเพียงไม่กี่พันบาท ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อคนเป็นมากกว่าจะคำนึงถึงประเพณีและวัฒนธรรมความเหนียวแน่นในครอบครัวและการเคารพผู้อาวุโสอีกต่อไปแล้ว

"ความยากจน" ที่ว่านี้เป็นเพียง "อาการ" หนึ่งที่สะท้อนถึง 2 ทศวรรษแห่งความว่างเปล่าทางเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่น อากิระ เนโมโตะ เจ้าหน้าที่ประจำแผนกดูแลผู้สูงวัยของเขตอาดาชิ ในกรุงโตเกียว สะท้อนอีกอาการหนึ่งออกมา

"ไม่มีใครสนใจเพื่อนบ้านกันอีกต่อไป" เขาบอก ไม่แม้แต่บ้านที่รั้วติดกัน
หรืออพาร์ตเมนต์ที่ช่องประตูห่างกันเพียงไม่กี่เมตร

ยิ่งนับวัน คนญี่ปุ่นยิ่งหดตัวเองแคบลง แคบลงเรื่อยๆ เหลือเพียงรัศมีโดยรอบตัวเองไม่กี่ตารางเมตร เริ่มจากผู้สูงอายุ แล้วลุกลามต่อไปยังลูกๆ หลานๆ ทั้งหมดพยายามอยู่ได้ด้วยตัวเอง ใช้จ่ายให้น้อยที่สุด เพื่อดำรงตนให้อยู่ได้นานที่สุด

ทำอย่างไร เงินบำเหน็จบำนาญของตัวเอง หรือของผู้เป็นพ่อ-แม่ ที่ได้รับในแต่ละเดือนจึงจะสามารถยังชีพต่อไปได้

"ทุกคนคิดถึงแต่เงิน เงินที่ไม่มากมายเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว" เนโมโตะ บอกอย่างนั้น

มันเริ่มต้นอย่างช้าๆ แต่มั่นคงและแน่วแน่อย่างยิ่ง เริ่มจากซัพพลายเออร์ในอาดาชิ หดหายไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ล้มละลายก็โยกย้ายไปยังจีนพร้อมๆ กับบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ถัดมาร้านรวงในย่านนั้นก็เริ่มปิดตัวลง สุดท้ายแหล่งพบปะของชุมชนคน
ย่านเดียวกันที่มีอยู่แห่งเดียวก็ร้างราตามไปด้วย

หลังจากนั้น อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอุตสาหกรรมแล้วอุตสาหกรรมเล่า ยกธงขาวยอมแพ้ให้กับคู่แข่งกระหายชัยชนะและส่วนแบ่งการตลาดจากเกาหลีและจีน

ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีอนาคต คือสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวของผู้คนในญี่ปุ่น

ความเชื่อมั่นทะยานอยาก หดหายไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป

*****

เมื่อมาตรฐานการครองชีพลดน้อยถอยลง ประเทศชาติที่เคยมั่งคั่งและยังมั่งคั่งอยู่ในบางแง่มุมในเวลานี้ ก็เริ่มเสื่อมทรุด ค่านิยมใหม่เริ่มชัดเจนมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว "ความมัธยัสถ์" กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำ "ความเสี่ยง" อย่างองอาจและกล้าหาญ คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

คนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่นใหม่ในวัยยี่สิบคิดเห็นเช่นนี้ เพราะในชีวิตของพวกเขาไม่เคยพานพบอหังการของญี่ปุ่น ไม่เคยลิ้มลองความรุ่งโรจน์ของอาทิตย์ยามอุทัย พวกเขารับรู้และมีประสบการณ์อยู่แต่กับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ และภาวะเงินฝืด หาได้ยากเย็นอย่างยิ่ง

ไม่แปลกที่พวกเขาปฏิเสธที่จะซื้อรถยนต์หรือโทรทัศน์ ไม่แปลกที่มีน้อยมากที่
ตัดสินใจไปศึกษาต่อในต่างแดนชนิดไปตายดาบหน้า

ชาติที่เคยเปี่ยมด้วยพลวัต ท้าทายทุกอุปสรรค กลายเป็นสังคมที่คับแคบ วัฒนธรรมที่คับแคบอย่างน่าสะพรึงกลัว

ภาวะเงินเฟ้อมีอันตรายอยู่ในตัวเอง แต่ภาวะเงินฝืดก็เปี่ยมอันตรายอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะมันทำให้ปัจเจกและบริษัทธุรกิจไม่อยากจับจ่าย เพราะราคาของทุกอย่างถูกลงจนสิ่งที่เพิ่มค่าขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงอย่างเดียวคือ "เงินสด" การถือเงินสดๆ ไว้ในมือคือการลดความเสี่ยงทุกอย่างลงจนหมด

ถ้าภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม ผลสะเทือนจะไม่ลึกซึ้งอย่างในญี่ปุ่น ที่ซึ่งภาวะเงินฝืดจำหลักจนกลายเป็นจิตใต้สำนึก โลกที่ชาวญี่ปุ่นเห็นเป็นโลกในแง่ร้ายที่หดหู่ น่าหวาดหวั่น ไร้ความหวังจนกลัวที่จะเสี่ยง เกาะกินสัญชาตญาณดั้งเดิมให้ลังเลที่จะควักกระเป๋า หรือ ลงทุน

แต่ยิ่งกลัว ยิ่งผลักดันให้อุปสงค์ในประเทศลดลงมากยิ่งขึ้น และราคาของทุกอย่าง
ยิ่งหดหายไปมากยิ่งขึ้นไปอีก

ฮิซากาซุ มัตสึดะ ประธานสถาบันวิจัยการตลาดบริโภคแห่งญี่ปุ่น (เจซีเอ็มอาร์ไอ) เรียกเจเนอเรชั่นใหม่ในวัย 20 เศษเหล่านี้ว่า "คนยุครังเกียจบริโภค" เขาประเมินเอาไว้ว่า เมื่อคนยุคนี้อายุถึง 60 ปี นิสัยมัธยัสถ์ร่วมสมัยของพวกเขาจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องสูญเสียมูลค่าการบริโภคไปราว 420,000 ล้านดอลลาร์

"ในโลกนี้ไม่มีเจเนอเรชั่นที่ไหนเหมือนที่นี่อีกแล้ว" มัตสึดะบอก

คนพวกนี้คิดว่าการควักกระเป๋าจ่ายคือความโง่เขลาเบาปัญญาไปแล้ว

*****

ในทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์ ญี่ปุ่นคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า "ทุนนิยม" กลืนกินตัวเองได้อย่างไร และผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นล้มเหลวคนแล้วคนเล่าได้อย่างไร

"แจแปนิฟิเคชั่น" คือการตกลึกลงไปใน "กับดักภาวะเงินฝืด" ที่เกิดขึ้นเมื่อ อุปสงค์ล่มสลายจากการที่ผู้บริโภคปฏิเสธที่จะใช้จ่าย ส่งผลต่อไปยังบริษัทธุรกิจที่ขยาดกับการลงทุน และบรรดาธนาคารทั้งหลายนั่งอยู่บนกองเงินออมก้อนมหึมา

มันกลายเป็นวัฏจักรของความเลวร้าย ที่อยู่ได้ด้วยตัวเองและกลืนกินตัวเองไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่มีการจับจ่าย ยิ่งกดดันให้ราคาข้าวของลดลงมากขึ้น งานหายไปมากขึ้น เงินในกระเป๋าผู้บริโภคยิ่งลดลงและยิ่งมัธยัสถ์มากยิ่งชึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ธุรกิจยิ่งตัดทอนรายจ่ายมากยิ่งขึ้น ชะลอแผนขยายตัวออกไปอีกเรื่อยๆ และดูเหมือนยังไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้นำญี่ปุ่นผิดพลาดตั้งแต่ปฏิเสธความหนักหนาสาหัสของปัญหาที่ประเทศเผชิญในตอนแรก และยิ่งผิดซ้ำซากด้วยการใช้เวลาเนิ่นนานอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อการสร้างงาน
ผ่านโครงการใหญ่โตของรัฐ ที่ทำได้ก็เพียงแค่เลื่อนระยะเวลาของการ "ปรับโครงสร้าง" เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่เจ็บปวดกว่า ยากเย็นกว่า ออกไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

จนอาจบางที อาทิตย์อุทัย อาจไม่หลงเหลือให้คาดหวังอีกต่อไปในญี่ปุ่น!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา