"ดูไบ เวิลด์" ป่วน ฟองสบู่อสังหาฯใกล้แตกหลังประกาศเลื่อนชำระหนี้-ถูกหั่นเครดิต ชี้ลงทุนหุ้นกู้เสี่ยง!
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
"ดูไบ เวิลด์"อภิมหาโปรเจ็กต์ของดูไบประกาศขอเลื่อนการชำระหนี้หุ้นกู้และพันธบัตรอิสลามกว่า3.5พันล้านดอลลาร์ไปกลางปีหน้า
หลังหนี้ท่วม 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ด้านมูดี้ส์ปรับลดเครดิตบ.อสังหาฯ-นิคมอุตฯ-การลงทุนสู่ระดับจังก์บอนด์
ระบุนักลงทุนที่ลงทุนหุ้นกู้เริ่มวิตกมีความเสี่ยงจากกลุ่มทุนอาหรับที่ภาคภูมิใจกับคำขวัญ "พระอาทิตย์ไม่เคยตกที่ดูไบ เวิลด์"
กลายเป็นอาณาจักรหนี้ท่วม 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และอยู่ระหว่างเจรจาขอขยายเวลาการไถ่ถอนออกไปจากกำหนดเดิมในช่วงกลางปีหน้า
สำนักงานการคลังของรัฐบาลท้องถิ่นดูไบ รัฐสำคัญ 1 ใน 7 รัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แถลงเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า
บริษัทดูไบ เวิลด์ กลไกการลงทุนหลักของรัฐ เตรียมเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอชะลอการชำระหนี้หุ้นกู้และพันธบัตรอิสลามออกไปก่อน
อย่างน้อยถึงวันที่ 30 พฤษภาคมปีหน้า ซึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงหนี้ในรูปพันธบัตรอิสลาม 3.52 พันล้านดอลลาร์ ออกโดยนาคีล
บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ ซึ่งมีกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2552
ดูไบ เวิลด์ เป็น 1 ใน 3 กลไกการลงทุนสำคัญของรัฐ ทำงานคู่ขนานดูไบ โฮลดิ้ง และบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งดูไบ
(Investment Corporation of Dubai) นอกเหนือจากมีบริษัทลูกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว บริษัทลูกอื่น ๆ
ได้แก่ดีพี เวิลด์ และอิสติธมาร์ บรรษัทเงินทุน ที่มีการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ในสาขาบริการการเงิน
สินค้าอุปโภคบริโภค จนถึงภาคอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์
การขอขยายเวลาการชำระหนี้ เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจในดูไบ เวิลด์ ทั้งนี้ กลไกการลงทุนของ
รัฐดูไบเคยชี้แจงเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์
ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนการดำเนินงานได้มากถึง 800 ล้านดอลลาร์ ในอีก 3 ปีข้างหน้า และนำไปสู่การปรับ
ลดกำลังคนที่มีอยู่ทั่วโลก 15% เหลือประมาณ 70,000 คน
แรงกระเพื่อมของการตัดสินใจขอขยายเวลาการชำระหนี้ โดยนอกเหนือผลกระทบต่อตลาดหุ้น และตลาดการเงินในประเทศ
สถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์
ได้ตัดสินใจปรับลดเรตติ้งความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัทต่าง ๆ ที่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเกี่ยวข้องกับรัฐดูไบหลายราย
ในส่วนของมูดีส์ฯได้ปรับลดบริษัทอีมาร์ พร้อพเพอร์ตีส์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
บริษัทเจเบล อาลี ฟรี โซน ผู้ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทดีไอเอฟซี อินเวสต์เมนต์ และบริษัทดูไบ โฮลดิง
คอมเมอร์เชียล โอเปอเรชั่น กรุ๊ป ลงสู่ระดับต่ำกว่า "น่าลงทุน" หรือที่เรียกกันว่าระดับของพันธบัตรขยะ (Junk bond)
แต่ดีพี เวิลด์ ผู้ให้บริการท่าเรือรายใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง บริษัทลูกของดูไบ เวิลด์ การประปา และการไฟฟ้าดูไบ
ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเช่นกัน โดยมาอยู่ที่ระดับ Baa2 แต่สูงกว่าระดับพันธบัตรขยะ 2 ขั้น
ขณะที่เอสแอนด์พีปรับลดเรตติ้งบริษัทในกลุ่มแรก รวมถึงดีพี เวิลด์ ลงมาเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่สูงกว่าระดับ "ไม่น่าลงทุน" อยู่ 3 ขั้น
เหนือระดับพันธบัตรขยะ โดยมีตั้งแต่ระดับ BBB+ จนถึง BBB-
สำหรับนักลงทุนที่มีความเสี่ยงผูกพันอยู่กับดูไบ เวิลด์ เริ่มวิตกกังวลมากขึ้น เนื่องจากทางการดูไบไม่ได้เปิดเผยว่าจะชำระหนี้
มากกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ ที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนในอีก 4 ปีนี้อย่างไร ประกอบกับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ดูไบ เวิลด์ ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐบาลอาบู ดาบี เป็นจำนวนเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของวงเงิน
1 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ชี้ค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคตูม ผู้ครองนครรัฐดูไบ วางแผนระดมทุนภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รวบรวมโดยดอยช์แบงก์ พบว่าดูไบมีหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน 4.3 พันล้านดอลลาร์ และอีก
4.9 พันล้านดอลลาร์ จะครบกำหนดไถ่ถอนในไตรมาสแรกของปี 2553 ซึ่งเป็นทั้งหนี้ที่เกิดจากการออกพันธบัตรรัฐบาล
และหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ขณะที่คณะกรรมการการคลังดูไบได้ว่าจ้างดีลอยต์เป็นผู้รับผิดชอบการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับดูไบ เวิลด์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น