การรักษาศีลให้เป็นอารมณ์
การรักษาศีลให้เป็นอารมณ์ของสีลานุสสติ(มีสติระลึกถึงศีลอยู่เนืองๆ)นั้น จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ คือ...
๑. ต้องชำระศีลของตนให้พ้นจากโทษทั้ง ๔ (ไม่ขาด,ไม่ทะลุ,ไม่ด่าง,ไม่พร้อย.)
๒. การรักษาศีล ต้องไม่เจือปนด้วยตัณหา ด้วยปรารถนาภพสมบัติ และโภคสมบัติ
๓. รักษากาย วาจาให้ตั้งอยู่ในสิกขา(ข้อปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา)อย่างเคร่งครัด
๔. การประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดนั้น แม้อันธพาลจะไม่เห็นดี เห็นชอบต้องไม่หวั่นไหว
๕. ต้องประกอบด้วยความรู้ในศีล ที่จะเป็นเหตุให้อุปจารสมาธิ,อัปปนาสมาธิ หรือมรรค ผล นิพพาน เกิดขึ้นได้
เมื่อประพฤติได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์นี้แล้ว จึงลงมือปฏิบัติด้วยการระลึกในศีลต่อไป
อโห เม วต สีลํ เห อขณฺฑํ อฉิทฺทํ หเว
อสพลํ อกมฺมาสํ ภุชิสฺสํ อปรามสํ
ปสฏฺฐํ สพฺพวิญฺญูหิ สมาธิ สํวตฺตนกํฯ
แปลความว่า... ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ น่าปลื้มใจจริง ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ศีลของเราบริสุทธิ์ ทำให้เราพ้นความเป็นทาสของตัณหา ศีลของเรามิได้มีผู้กล่าวหาได้ แม้อันธพาลชนจะไม่เห็นดีเห็นงามด้วยก็ตาม แต่วิญญูชนทั้งหลายนั้นย่อมสรรเสริญ ศีลของเรานี้เป็นเหตุทำให้อุปจารสมาธิ,อัปปนาสมาธิ, และมรรค ผลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ศีลที่จะหมดจดจากกิเลสนั้น ได้แก่ ศีลในองค์มรรค ซึ่งจะต้องเกิดร่วมกับสมาธิ และปัญญา หมายความว่า ศีลนั้นจะต้องตั้งอยู่ในอารมณ์ของปัญญา ศีลที่บริสุทธิ์ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มี ๔ ประเภท เรียกว่า จตุปาริสุทธิศีล ได้แก่...
๑. ปาฏิโมกข์สังวรศีล
๒. อินทรีย์สังวรศีล
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล
๔. ปัจจยสันนิสสิตศีล
ศีลทั้ง ๔ ประเภทนี้ บริสุทธิ์เพราะปรารถนาอารมณ์พระนิพพาน ธรรมที่พ้นทุกข์ จึงเป็นศีลที่เจริญให้เป็นไปในอารมณ์ของปัญญา
สีลานุสสติ การระลึกถึงศีลที่ตนรักษาไว้ด้วยความบริสุทธิ์นี้ ที่จัดว่าเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐานนั้น คือ ขณะที่ระลึกในศีลที่ตนรักษาไว้ด้วยความบริสุทธิ์อยู่นั้น ย่อมกำจัดอภิชฌา(ความโลภ) และโทมนัส ให้สงบระงับลงได้ แต่ยังไมสามารถทำลายความเห็นผิดในรูปนามขันธ์ ๕ ว่า เป็นอัตตาตัวเราได้
อภิชฌา คือกามฉันทนิวรณ์, และโทมนัส คือพยาปาทนิวรณ์ จะถูกละได้ก็ด้วยอำนาจของสมาธิ
ฉะนั้น สีลานุสสติ จึงได้เพียงอารมณ์ของสมถกรรมฐานเท่านั้น องค์ธรรม ได้แก่ สติเจตสิก ที่ในมหากุศลจิตที่มีอารมณ์เป็นศีลอันรักษาไว้ในสิกขาบท.
เห็นอานิสงส์แห่งศีลสมบัติ
ศีลของภิกษุใด หมดมลทินดีแล้ว การทรงบาตรและจีวรของภิกษุนั้น ย่อมเป็นที่น่าเลื่อมใส บรรพชาของเธอนั้นก็มีผล หทัยของภิกษุนั้น ย่อมไม่หยั่งสู่ภัย คือความติเตียนตนเอง เป็นต้น ฯลฯ ผู้มีศีลย่อมขุดรากแห่งทุกข์อันเป็นไปในสัมปรายภพเสียได้
สมบัติใดในมนุษย์ และสมบัติใดในเทวโลก สมบัติทั้งสองนั้น เมื่อผู้มีศีลถึงพร้อมด้วยปรารถนาอยู่ มิใช่เป็นสิ่งที่จะพึงได้ยากเลย
อนึ่ง ในใจของผู้มีศีลอันถึงพร้อม ย่อมแล่นไปสู่พระนิพพานสมบัติ อันเป็นสมบัติที่สงบระงับสุดยอดแท้
อานิสงส์ประการต่างๆเป็นอันมาก ในศีลซึ่งเป็นมูลแห่งสมบัติทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น