วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

พิธีกรรม สำคัญไหม ? ...โดย พระอาจารย์ชยสาโร‏


เรื่องของพิธีกรรม...พระธรรมเทศนา โดย พระอาจารย์ชยสาโร ๕ ก.พ. ๒๕๕๓
-------------------------------------------------------------------------------------


“... ท่านพระอาจารย์สุเมโธ เคยเล่าให้ฟังว่าท่านงงมาก งงว่า ที่วัดของท่านที่ประเทศอังกฤษ แม้ท่านจะพยายามรักษาข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของทางเมืองไทยเอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่บางอย่างที่ท่านเห็นว่าไม่ใช่พุทธแท้ เช่นเรื่องรดน้ำมนต์ ท่านก็จะตัดออกไป แต่ปรากฏว่าภายหลังมีคนร้องขอให้มีการรดน้ำมนต์อีก โดยคนที่ร้องขอนั้นกลับเป็นฝรั่ง ฝรั่งเขาชอบที่สุดเลย ท่านไม่เคยคาดคิดว่าฝรั่งจะชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีงานแต่งงาน เขาก็อยากมีพิธีกรรมอะไรแบบพุทธ เช่นการเอาสายสิญจน์มาผูก หรือเอาสายสิญจน์ส่งให้ทุกคนจับ แล้วก็รดน้ำมนต์ เจริญพุทธมนต์ เขามีความสุขมาก



ท่านจึงพิจารณาเห็นว่า การปฏิบัติมันก็เหมือนต้นไม้ คือมันต้องมีทั้งแก่นด้วยและเปลือกด้วย (พิธีกรรมเป็นเหมือนเปลือก ธรรมะเป็นเหมือนแก่น) คนเรามีหลายๆ ระดับ (บางระดับก็ต้องอาศัยพิธีกรรมช่วย) แม้จิตใจของเราเองบางครั้งก็มีกำลัง บางครั้งก็ไม่มีกำลัง (พิธีกรรมอาจมีส่วนช่วยให้เกิดกำลังใจ) ถ้าไม่มีกำลังมันก็ต้องการธรรมะทั้งหมดให้ครบชุด (คือเอาทั้งธรรมะและพิธีกรรม หรือเอาทั้งแก่นและเปลือก) ไม่ใช่จะเอาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง มันต้องเป็นระบบองค์รวมจึงจะได้ ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจจุดประสงค์ของพิธีกรรม และทำด้วยความตั้งใจ มันก็จะได้เป็นบุญเป็นกุศล



แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราเอาแต่รูปแบบภายนอก พิธีกรรมมันก็เหลือแต่เปลือกอย่างเดียว เหมือนคนกรุงเทพจำนวนไม่น้อยเข้างานศพก็ไปเพื่ออวดชุดดำบ้าง ไปเพื่อพูดคุยกับเพื่อนบ้าง ไม่เหมือนแต่ก่อนที่มักจะมีความสำรวมบ้าง เพราะอาศัยการพนมมือเวลาพระสวด การพนมมือนี่ก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่มีผลต่อจิตใจ ถ้าอย่างนี้จะคุยเรื่องเหลวไหลก็ยังมีความรู้สึกละอายบ้าง เพราะมันรู้สึกว่าขัดกัน ใช่ไหม



แต่ทุกวันนี้ งานศพที่วัดในกรุงเทพฯ หลายแห่งเขาไม่พนมมือ ก็เลยไม่มีเบรคแล้ว คุยเรื่องทางโลกได้เต็มที่เลย คือพิธีกรรมมันก็เหลือแต่เปลือกอย่างเดียวเพราะว่าไม่มีความตั้งใจที่จะใช้พิธีกรรมเป็นโอกาส อย่างเช่นที่งานศพ ที่จะระลึกถึงบุญคุณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือทำจิตใจของเราให้มันดีเพื่อจะได้อุทิศส่วนกุศล หรือที่จะพิจารณาหรือระลึกถึงความตายว่าตัวเองก็ต้องตายเหมือนกัน ทุกวันนี้เราทำอะไรอยู่ เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลให้เราทำพิธีกรรมอย่างนี้ เพื่อเป็นโอกาสให้เราจะได้ศึกษาให้เข้าใจ



ถามว่าพิธีกรรมดีไหม ตอบว่าดี แต่มันอยู่ที่เรา ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ดีไม่ดี มันอยู่ที่เรา ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม ไม่กลัว ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะเราเชื่อมั่นว่า เราสามารถได้กำไรจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเรามีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถ้าเรามุ่งในเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องการภาวนาพร้อมๆ กันไป



...ฉะนั้น ในเรื่องของพิธีกรรม ถ้าเราขาดสติปัญญา ท่าทีต่อพิธีกรรมมันจะสุดโต่ง สุดโต่งอย่างหนึ่งคือหลงใหล ถือว่าพิธีกรรมนี่ขลัง ขลังมาก มีความอัศจรรย์อยู่ในตัวพิธี นั่นจะนำไปสู่ความงมงายได้ง่าย แล้วก็กลายเป็นคนหมกมุ่นในเรื่องรายละเอียดของพิธีกรรม ถ้าทำอะไรผิดนิดเดียว อันนี้ก็ไม่ได้อันนั้นก็ไม่ได้ เดี๋ยวพิธีกรรมไม่ขลัง ก็เป็นความหลงใหลอยู่กับพิธีกรรม



แต่ทางตรงข้ามถือว่าสุดโต่งเหมือนกัน คือปฏิเสธพิธีกรรม พูดเชิงดูหมิ่นว่าพิธีกรรมเป็นแค่พิธีกรรม เป็นแค่เปลือก เป็นแค่สิ่งที่ไม่จำเป็นไม่สำคัญ เป็นต้น อย่างนี้ก็ถือว่าไม่ใช่ทางสายกลางเหมือนกัน...”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา