ข่าวเพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆนี้ว่า
ฮอลแลนด์กำลังจะเป็นประเทศแรกในโลก
ที่เสนอกฎหมายให้สิทธิ์ผู้สูงวัยอายุ ๗๐ ปี
ได้จบชีวิตตัวเองด้วยการใช้ยาอย่างถูกต้อง
ในการควบคุมดูแลของแพทย์
นั่นหมายความว่าคนอยากตายกำลังจะมีสิทธิ์
เป็นการตายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
และถูกต้องตามหลักการแพทย์ที่ให้ "ไปอย่างสบาย" ด้วย
ว่ากันว่านี่ถือเป็นครั้งแรกของโลก
และมีสิทธิ์จุดชนวน
หรือรื้อฟื้นการถกเถียงกันเรื่องการทำการุณยฆาต
ซึ่งเคยเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนอยู่ช่วงหนึ่ง
พอซาไปก็ทำท่าจะได้กลับมาใหม่คราวนี้
คนดีๆอยู่ แน่นอนครับ ฟังแล้วว้าก หรือไม่ก็วี้ดทันที
ไม่ได้นะ จะทำแบบนั้นไม่ได้ มันเป็นเรื่องผิด
แต่คนกำลังปะแง่บๆ ทรมานอยู่ทุกลมหายใจ
เงยหน้าจากเตียงมาถามว่าทำไมถึงผิด
ทำไมถึงต้องให้ฉันทน
คนที่ยังดีๆอยู่คงได้แต่ยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า
มันผิด มันไม่ได้ อย่าทำ ถ้าทำก็ต้องถูกฉันด่าเละล่ะ
จริงๆเรามัวแต่มาเถียงกันว่าได้หรือไม่ได้
ผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร
แต่เราไม่ได้ให้เหตุผลอย่างคน "มีความรู้จริง"
เหตุใดไม่ตอบให้ได้ว่าทำไมการฆ่าตัวตายถึงผิด
ทางพุทธเราก็มีความเห็นอกเห็นใจ
กับคนป่วยที่ทรมานกับภาวะใกล้ตายแบบผิดปกติเหมือนกัน
มีพระรูปหนึ่งชื่อฉันนะ อาพาธอย่างรุนแรง
ทนทุกขเวทนาทางกายไม่ได้ ก็ใช้ศาสตราฆ่าตัว
มีคนไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์
พระฉันนะไม่ได้ฆ่าตัวตายหวังภพภูมิ
ไม่มีความอาลัยไยดีในขันธ์อันเป็นทุกข์นี้
ท่านเห็นขันธ์เป็นของอื่น ของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตนอยู่
จึงจากไปอย่างองค์อรหันต์ ไม่ใช่จากไปอย่างคนที่จะไปเป็นทุกข์
แต่เวลาคนเราทรงจำกันอย่างไม่รู้
ก็จะพูดเหมือนกันหมดแบบถอดคำจากพิมพ์เดียวกัน
คือถ้าฆ่าตัวตาย จะต้องฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐ ชาติ
ไม่รู้เอามาจากไหน แค่ตรองดูก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้
เพราะถ้าเป็นความจริง การฆ่าตัวตายแต่ละครั้ง
จะเป็นชนวนให้ฆ่าตัวตายซ้ำ ๕๐๐ ครั้งไม่รู้จบรู้สิ้นไปเรื่อยๆน่ะสิ
ท่าทีของการตอบคำถามแบบพุทธ
จำเป็นต้องมีหลักการ มีเหตุผลในแบบของพระพุทธเจ้า
และพระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ให้ดูที่จิต
หากจิตดี จิตสดใส จิตสว่าง ทางข้างหน้าก็สว่าง
แต่หากจิตแย่ จิตหม่นหมอง จิตมืดมัว ทางข้างหน้าก็มืด
สรุปง่ายๆคือก่อนตายจิตเป็นอย่างไร
ผู้ตายย่อมไปสู่ภาวะสว่างอันสอดคล้องกันอย่างไม่ต้องสงสัย
(จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้
จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วทุคติเป็นอันต้องหวัง)
กับคนอยากฆ่าตัวตาย
ท่าทีแบบพุทธคือต้องถามให้เขารู้ตัวว่า
มีดีอะไรไปตายบ้าง?
ก่อนนอนสั่งให้ฝันดีได้ไหม?
นั่งเฉยๆสั่งให้สงบระงับจากความฟุ้งซ่านได้ไหม?
เห็นภาพน่าตกใจแล้วสั่งใจให้วางเฉยเป็นอุเบกขาได้ไหม?
นึกถึงเรื่องน่าคับแค้นสั่งตัวเองให้อภัยเด็ดขาดได้ไหม?
ถ้าเรื่องง่ายๆขณะมีชีวิต
ยังไม่อาจสั่งจิตให้ไม่เศร้าหมอง ไม่เป็นอกุศล
ก็อย่าเพิ่งหวังจะไปตั้งจิตให้เป็นกุศล
กับเรื่องยากๆที่ต้องเผชิญขณะใกล้ตายเลย
ความตายเป็นของยากนะครับ
มันยิ่งกว่าคุณบังคับตัวเองว่าไม่เอาฝันร้าย
หลับแล้วจะให้เกิดแต่ฝันดี
อย่างนั้นยังง่ายกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า
ส่วนกรรมของผู้ทำการุณยฆาตเป็นนิตย์นั้น
ให้ผลอย่างไรอย่ารอดูชาติหน้า
เรามาวิเคราะห์ วิจัย หาหลักฐานเป็นเหตุเป็นผลกัน
ถามเขาว่าในระยะยาว ทำหลายครั้งแล้วจิตใจเศร้าหมองลงไหม?
รู้สึกเกี่ยวกับผิดชอบชั่วดีน้อยลงไหม?
จิตใจโหดเหี้ยมเห็นการฆ่าฟันเป็นเรื่องธรรมดาขึ้นไหม?
ถามแบบเอาคำตอบจริงๆ
เราจะได้เอาคำตอบนั่นแหละเป็นตัวชี้
ว่าการุณยฆาตเป็นสิ่งควรหรือไม่ควร
เพราะการุณยฆาตต้องมีคนลงมือ
หรือพูดง่ายๆว่าหาคนซวย
ประกอบกรรมเป็นเพชฌฆาตเรื่อยๆนั่นแหละ
สำคัญคือถ้าจะเอาเป็นคำตอบมาตรฐาน
ต้องไม่มีการมาด่ากันด้วยเหตุคือความเชื่อ
เราต้องถกกันด้วยเหตุคือหลักฐาน
เหมือนกับการเถียงว่าชาติหน้ามีจริงไหม
มัวแต่เอาความเชื่อมางัดข้อกัน
อีกกี่ร้อยกี่พันปีก็ไม่จบ
ถ้าเชื่อว่ามี ก็เอาหลักฐานมาแสดง
ว่าด้วยเหตุผลอย่างนี้
ด้วยข้อพิสูจน์อย่างนี้ จึงน่าเชื่อว่ามี
ในทางกลับกัน ถ้าเชื่อว่าไม่มี
ก็ต้องเอาหลักฐานมาแสดง
ว่าด้วยเหตุผลอย่างนี้
ด้วยข้อพิสูจน์อย่างนี้ จึงน่าเชื่อว่าไม่มี
เราเกิดมาบนความไม่รู้ ไม่เข้าใจ
วิธีเดียวที่จะรู้และเห็นใจกัน
คือเราต้องเห็นเหตุผลที่แท้จริง
ไม่ใช่เอาแต่เห็นเหตุผลของกิเลส
เรื่องของชีวิตนั้น
แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะมองตามใจ
แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะบังคับโลกให้เห็นสิ่งที่เรามอง
ถ้าเข้าใจแบบถึงใจจริง
โลกจะสงบจากวิวาทะอันไร้หลักการครับ
ดังตฤณ
เมษายน ๕๓
เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันสถาปนา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เป็นปีที่ ๒๑ ในวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๓
คอลัมน์ “สารส่องใจ” ขออัญเชิญธรรมะจากพระนิพนธ์ในสมเด็จพระสังฆราชฯ
มาเป็นแนวทางให้ทุกท่าน สามารถวางใจต่อเรื่องราวน่าขัดเคืองทั้งหลายได้อย่างถูกต้อง
ในตอน "อภัยทาน" ค่ะ (-/\-)
อากาศร้อน สถานการณ์บ้านเมืองก็ร้อน +_+!
ก่อนที่จะเครียดกันไปมากกว่านี้
ขอเชิญคุณผู้อ่านแวะรับรอยยิ้มพร้อมสาระกันได้
ที่คอลัมน์ "เทศนาพาสรวล"
สรรหามาเล่าโดย “คุณอารมณ์ ดี (^______^)” ค่ะ
สำหรับชาวพุทธแท้ที่รู้โทษภัยของสังสารวัฏว่าน่ากลัวเพียงใด
การเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าปรารถนา
กระนั้น ก็ยังมีข้อสงสัยว่า
หาก "อยากเวียนว่ายตายเกิดแบบมีสัมมาทิฏฐิไปทุกชาติ" นั้น เป็นไปได้หรือไม่?
พบคำตอบได้ที่คอลัมน์ “ดังตฤณวิสัชนา” ฉบับนี้ค่ะ
ว่ากันว่า องค์ประกอบของความรักนั้น
นอกจากประกอบด้วยคนสองคนที่รักกันแล้ว
ยังต้องรวมถึงครอบครัวของทั้งสองฝ่ายด้วย
แล้วถ้ามีปัญหากับญาติของคนรัก จะหาทางออกอย่างไร
คอลัมน์ “โหรา (ไม่) คาใจ” ฉบับนี้
จะพาไปฟัง “คุณ Aims Astro” ให้คำแนะนำกับคุณสะใภ้ญาติไม่ปลื้ม
ในตอน "รักแท้ (ไม่) แพ้ญาติ" ค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น