วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ใกล้ถึงเทศกาล กินเจ แล้ว‏

Subject: ใกล้ถึงเทศกาล กินเจ แล้ว


เพื่อทำความเข้าใจสำหรับผู้ต้องการกินเจ ปี 2552 นี้ครับ



ความหมายของเทศกาลกินเจ







ในทางอักษรศาสตร์จีน อักษรตัว “แจ” มีพัฒนาการมาจาก ตัวอักษร ฉี “ 齊 ” ซึ่งแปลว่าบริบูรณ์ , เรียบร้อย อักษรแจเกิดจากการเพิ่มเส้นตั้งและสองจุด ( 小 ) เข้าไปกลางอักษรฉี ทำให้เกิดตัว ซื ( 示 ) ซึ่งแปลว่าการสักการะ อยู่ในแก่นกลางของตัวฉี

แจ( 齋 ) จึงมีความหมายว่า การรักษาความบริสุทธิ์(ทั้งกายและใจ)เพื่อการสักการะ หรือ การปฏิบัติบูชาถวายเทพยดา

ซึ่งการอธิบายในแนวทางนี้จะสอดคล้องกับ คำว่า “ 齋醮 ” ในลัทธิเต๋า ซึ่งย่อมาจากคำว่า 供齋醮神 ที่แปลว่าการบำเพ็ญกายใจให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นสักการะบูชาเทพยดา

ความหมายของแจในศาสนาอิสลาม

ศัพท์คำว่า ศีลแจ / 齋戒 ในภาษาจีน นอกจากใช้ในลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธแล้ว ยังหมายถึง “ศีลอด” ที่ถือปฏิบัติในเดือนถือศีลอดของชาวจีนอิสลาม สาระของศีลก็คือการห้ามรับประทานอาหารใดๆในระหว่างเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจวบจนลับขอบฟ้า ตลอดเดือนถือศีลอด

แจในวัฒนธรรมดั่งเดิมของจีน

ศัพท์ แจ พบในเอกสารจีนเก่าที่มีอายุกว่าสองพันปีหลายฉบับ เช่น 禮記 , 周易 , 易經 , 孟子 , 逸周書 (เอกสารที่อ้างนี้ปัจจุบันถือว่าเป็นคัมภีร์ในลัทธิหยู) เอกสารเหล่านั้นยังใช้อักษรตัวฉี(齊 )แต่เวลาอ่านออกเสียงกลับต้องอ่านออกเสียงว่า ไจ เช่น คำว่า ไจเจี๋ย / 齊潔 หรือ ไจเจี้ย / 齊戒 ซึ่งก็คือการออกเสียงแจในสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง อักษรฉีในเอกสารนั้นนักอักษรศาสตร์ตีความว่าแท้จริงแล้วก็คืออักษรตัวแจหรือใช้แทนตัวแจ แจที่ว่านี้หาได้หมายถึงการงดกินของสดคาว หรือ การงดรับประทานอาหารหลังเที่ยง หากหมายถึงการชำระล้างร่างกาย สงบจิตใจ และสวมใส่เสื้อผ้าใหม่สะอาด เป็นการเตรียมกายและใจให้บริสุทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมสักการะบูชา ขอพร หรือแสดงความขอบคุณต่อเทพยดาแห่งสรวงสวรรค์

แจเพื่อการจำแนกความเคร่งครัดของภิกษุฝ่ายมหายาน

ศีลของภิกษุฝ่ายมหายาน ในส่วนเกี่ยวกับการฉันของภิกษุแตกต่างจากฝ่ายเถรวาททั้งมีการจำแนกเป็นสองลักษณะตามสำนักศึกษาได้แก่

1.เหล่าที่ถือมั่นในศีลวิกาลโภชน์และฉันอาหารเจ จะไม่ฉันอาหารหลังอาทิตย์เที่ยงวัน เรียก ถี่แจ /持齋

2.เหล่าที่ถือมั่นแต่การฉันอาหารเจ เรียกถี่สู่ /持素

เจียะแจ

ความหมาย

เจียะแจ (食齋 ) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงถิ่นแต้จิ๋ว ศัพท์คำนี้ใช้และเป็นที่เข้าใจแต่ทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะแถบลุ่มอารยะธรรมหลิ่งหนาน (領南)ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งอาศัยดั่งเดิมของคนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหนำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย เจียะแจตรงกับคำว่า ชือซู ( 吃素 )ในภาษาจีนกลาง (สำเนียงปักกิ่ง)

เจียะ ( 食 ) ในภาษาถิ่นใต้ หากใช้ในความหมายของคำกิริยา แปลว่า กิน

แจ ( 齋 ) แปลว่า บริสุทธิ์ ( 清淨 ) ( อ้างตามปทานุกรมพุทธศาสนาฉบับ วัดฝอกวงซัน ,ไต้หวัน )

เจียะแจ หรือ ตรงกับคำไทยที่นิยมใช้กันว่า กินเจ จึงแปลว่า การกินอาหารที่บริสุทธิ์ตามความเชื่อ(ในลัทธิกินเจ) ซึ่งหมายความถึงอาหารที่ไม่คาวหรือไม่เจือปนซากผลิตภัณฑ์ของสัตว์ รวมทั้งไม่ปรุงใส่พืชผักต้องห้าม

คำว่าเจียะแจนี้ชาวจีนฮกเกี้ยนทางปักษ์ใต้แถบจังหวัดภูเก็ตเรียกต่างออกไปว่า เจียะไฉ่ (食菜) ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า “กินผัก” แต่มีนิยามหรือความหมายตรงกับคำว่าเจียะแจที่กล่าวข้างต้น

กินเจเพื่ออะไร?

ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ
กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้นซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา
กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นองเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่นก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น


ประโยชน์

การกินอาหารเจ นอกจากจะเป็นการถือศีลและรักษาประเพณีแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้

ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกได้หมดทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน สารอาหารที่มีคุณค่าในพืชผักและผลไม้จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการย่อยเป็นปกติ
เมื่อรับประทานเป็นประจำโลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลงทำให้อายุยืนยาวมีผิวพรรณสดชื่นผ่องใส นัยน์ตาแจ่มใสไม่พร่ามัวร่างกายแข็งแรงรู้สึกเบาสบายไม่อึดอัด มีสุขภาพพลานามัยดี
อวัยวะหลักสำคัญภายใน ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด และอวัยวะประกอบคือ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาอาหาร ถุงน้ำดี แข็งแรงทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์
ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้แก่
สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง สารดีดีที
มลภาวะและก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ซึ่งแพร่กระจายปะปนไปในอากาศที่เราหายใจอยู่เป็นประจำและยังพบว่ามีปะปนอยู่ในแหล่งน้ำดื่มด้วย
กัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และในการทำสงคราม สารอาหารในพืชผักช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายสามารถทนต่อการทำลายจากรังสีต่างๆ
ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้สูงกว่าคนปกติธรรมดาสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ในบรรดาผู้ที่กินอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำความเจ็บไข้ได้ป่วยมักไม่มีปรากฏโดยเฉพาะโรคที่รุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคไต ไขข้ออักเสบ โรคเก๊าส์ โรคเบาหวานฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย ย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งในกระเพาะและลำไส้ โรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบเลยในกลุ่มคนผู้ที่รับประทานอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำ
หลักธรรมในการกินเจ

ในทัศนะของคนกินเจ การกินที่ทำให้ชีวิตผู้อื่นต้องเดือดร้อนล้มตายนั้น “มันมากเกินไป” ทั้งๆ ที่มนุษย์กินแต่อาหารพืชผักก็สามรถมีชีวิตอยู่ได้

การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการคือ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเองและดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น กล่าวคือไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน

ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน
ไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตน
การรับประทานสิ่งใดก็ตามที่ทำลายสุขภาพร่างกายของตนให้ทรุดโทรม คือ การเบียดเบียนตนเอง ปัจจุบันวิทยาการเจริญก้าวหน้าได้พิสูจน์ยืนยันว่าเลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย

ดังนั้นการกินเจจึงไม่ใช่เพื่อให้เกิดผลดีต่อจิตใจเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีสุขภาพพลานามัยที่ดีอีกด้วย ร่างกายและจิตใจเป็นของคู่กันมีความสัมพันธ์ส่งผลถึงกันคนเราย่อมไม่อาจจะรู้สึกเบิกบานสดชื่นร่าเริงได้ในขณะที่ร่างกายเจ็บป่วยทรุดโทรมย่ำแย่

การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ

ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วยสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้

งดเว้นเนื้อสัตว์หรือทำอันตรายต่อสัตว์
งดนม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์
งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก
งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ สิ่งเสพติดและของมึนเมาต่างๆ
รักษาศีลห้า
รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์
ทำบุญทำทาน
นุ่งขาวห่มขาว
สำหรับผู้ที่เคร่งครัดเพื่อการกินเจให้เป็นไปอย่างบริสุทธ์โดยแท้ จะเพิ่มการปฏิบัติโดยการกินอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงเท่านั้น รวมถึงจะล้างหม้อไหจนสะอาดเอี่ยมแยกภาชนะสำหรับการปรุงอาหารเจไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุดตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับเพื่อเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้องตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด



ย่างเข้าเดือน ๙ ของทุกปี เราจะเห็นตามร้านอาหารทั่วไปปักธงสีเหลืองเต็มไปหมด นั่นหมายถึงการ เข้าสู่เทศกาลกินเจของคนจีนที่ปวารนาตนจะงดอาหารที่มีเนื้อสัตว์พร้อมทั้งถือศิลทำบุญทำทานเป็นเวลา ๙ - ๑๐ วัน เพื่อเป็นการชำระทั้งร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์
ประเพณีการกินเจในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เชื่อว่าเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล ๗ พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์ รวมเป็น ๙ พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ ประชาชนถวายพระนามว่า "เก้าอ๊วง" ซึ่งเทพทั้งเก้าของชาวพุทธมหายาน อันได้แก่

1. พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ ปรากฏตนเป็นพระอาทิตย์ จีนเรียก "ไท้เอี้ยงแซ"

2. พระศรีรัตนะโลกประภาโฆษอิศวรพุทธะ ปรากฏตนเป็นพระจันทร์ จีนเรียก "ไท้อิมแซ"

3. พระเวปุลลรัตนโลกสุวรรณพุทธะ ปรากฏเป็นดาวอังคาร จีนเรียกว่า "ฮวยแซ"

4. พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ ปรากฏเป็นดาวพุธ จีนเรียกว่า "จุ้ยแซ"

5. พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธ ปรากฎเป็นดาวพฤหัสบดี "บักแซ"

6. พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ ปรากฎเป็นดาวศุกร์ "กินแซ"

7. พระเวปุลลจันทร์โลกไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ ปรากฎเป็นดาวเสาร์ "โท้วแซ"

8. พระศรีสุขโลกปัทมครรภอลังการโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นดาวราหู "ล่อเกาแซ"

พระศรีเวปุลลสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นดาวเกตุ "โกยโต้วแซ"



ในพิธีกรรมสักการบูชาพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์นี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาต่างสละเวลาและกิจทางโลกมาบำเพ็ญศีล ตั้งปณิธานกินเจ บริโภคแต่อาหารผลไม้ งดเว้นอาหารเนื้อสดของคาวด้วยการสมทานรักษาศีล และเพื่อซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย วาจา ใจ ต่างสวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากจุดด่างพร้อย พากันเดินทางสู่วัดอารามพร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ไปนมัมสการน้อมบูชา แด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ อีกทั้งพระมหาโพธิสัตว์ ๒ พระองค์ พร้อมจัดหาเครื่องกระดาษทำเป็นรูปทรงเสื้อผ้า,หมวด, รองเท้า, กระดาษเงินกระดาษทองต่างๆ ไปน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะ เป็นกุศลสมาทาน
ดั้งนั้นเชื่อกันว่า ในช่วงนี้ถ้าใครถือศิลกินเจพร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอพรอันใดก็จะได้สมปรารถนา นอกจากนี้ คนที่กินเจยังนิยมไปไหว้เจ้าตามศาลเจ้าเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง ซึ่งศาลเจ้าในกรุงเทพฯ ที่ตนนิยมไปไหว้ อาทิ วัดเล่งเน่ยยี่(วัดมังกรกมลาวาส), ศาลเจ้าไต้ฮงกง ตรงข้ามสน.พลับพลาไชย, โรงเจชิกเชี้ยม่า ตลาดน้อย, โรงเจเตี่ยชูหั้ง สำเพ็ง เป็นต้น



บรรยากาศเทศกาลกินเจของเมืองไทยในปัจจุบัน คนทั่วไปไม่เว้นแม้กระทั่งหนุ่มสาวยุคใหม่ต่างก็หันมากินเจกันมากขึ้นทั้งนี้ อาจจะมาจากกระแสเรื่องห่วงใยสุขภาพมากกว่าความเชื่อโบราณ เพราะการงดเนื้อสัตว์ทุกชนิดและหันมาบริโภคแต่ผัก ผลไม้นั้นจะช่วยชำระล้างของเสียออกจากร่างกาย หรือคนยุคนี้เรียกว่า "การล้างพิษ" ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น

เทศกาลกินเจ คือช่วงวันขึ้น 1 ค่ำไปจนถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี ระหว่างเทศกาลกินเจตามรานค้าต่างๆจะนำธงสีเหลืองที่มีตัวหนังสือสีแดงมาประดับไว้หน้าร้าน เพื่อนั่นบ่งบอกให้รู้ว่า นี่คือเป็นช่วงเวลาของเทศกาลกินเจ หรือที่เรียกว่าประเพณีกินผัก(เจี๊ยะฉ่าย)
คำว่า "เจ" ในภาษาจีนมีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า "อุโบสถ" คำว่า "กินเจ" ตามความหมายที่แท้จริงคือ การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน ดังเช่นที่ชาวพุทธในประเทศไทยถือ "อุโบสถศีล" หรือ "รักษาศีล 8" จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก "การไม่กินเนื้อสัตว์" ไปรวมกันคำว่า "กินเจ" ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย
ปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ฉะนั้นความหมายคือ "คนกินเจ" มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่คนที่กินเจยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์สะอาด งดงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วย เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า "กินเจที่แท้จริง"
ตัวหนังสือสีแดงบนธงสีเหลือที่ตามร้านขายมักจะนำมาประดับเพื่อบ่งบอกว่า ร้านนี้ขายอาหารเจ ตัวอักษรนั้นอ่านว่า "ไจ" (เจ) แปลว่า "ไม่มีของคาว" ในช่วงเทศกาลกินเจเดือน 9 จะเห็นตัวอักษรนี้เขียนบนธงสีเหลือง ปักอยู่ตามแผงขายอาหารเจมองเห็นเป็นที่สะดุดตาแก่คนทั่วไป ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลแก่ชีวิต สีเหลืองเป็นสีของผู้ทรงศีล ดังนั้นผู้ตั้งใจถือศีลบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ตัวอักษรนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ระลึกไว้เสอมว่า "การกินเจ งดเว้นเนื้อสัตว์ของคาว คือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้จริง ซึ่งจะนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ตนเอง"
สำหรับในปีนี้ "เทศกาลกินเจ 2552" ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม ถึงวันที่ 17 ตุลาคม ส่วนใหญ่คนที่รับประทานอาหารเจมักจะเริ่มก่อนหนึ่งวัน คือ วันที่ 16 ตุลาคม เพื่อเตรียมปรับสภาพร่างกาย หรือที่เรียกว่า "ล้างท้อง" นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา