วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การเขียนเลขหมายโทรศัพท์ ให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล

คำแนะนำในการเขียนเลขหมายโทรศัพท์ ให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล

อ้างถึง

จากคำถามที่ว่า ควรจะเขียนเลขหมายโทรศัพท์บนนามบัตรหรือโบชัวร์อย่างไร ให้ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งถ้าคุณยังเขียนเป็น 02-xxx-xxxx หรือ (02) xxx xxxx ก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว

การ เพิ่มเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานทั่วประเทศจาก 7 หลักเป็น 8 หลัก ในปี พ.ศ. 2544 นั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเขียนเลขหมายโทรศัพท์ เพื่อใช้ในนามบัตร โบรชัวร์ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทีโอทีได้แนะนำรูปแบบการเขียนเลขหมายโทรศัพท์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) เพื่อให้เป็นที่เข้าใจได้ง่าย ตรงตามมาตรฐานสากล โดยมีแนวทาง ดังต่อไปนี้
แบ่งกลุ่มตัวเลขให้ถูก

เลข หมายโทรศัพท์ในประเทศ ให้เขียนเลขศูนย์นำหน้า ตามด้วยเลขหมาย 8 หลัก ซึ่งเป็นไปตามหลักของการเขียน Trunk prefix + Subscriber numbers เช่น 0 2345 6789 หรือ 0 5345 6789

เลขหมายโทรศัพท์สำหรับติดต่อกับ ต่างประเทศ ให้เขียนรหัสประเทศตามด้วยเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งเป็นไปตามหลักของการเขียน Country code + Subscriber numbers เช่น +66 2345 6789 หรือ +66 5345 6789

หลายคนอาจจะมีปัญหากับการเขียนเลขหมายระบบใหม่ เพราะเคยชินกับระบบเดิมอยู่ แต่ก่อนเราเขียน (02) 345 6789 เพื่อแยกรหัสพื้นที่ ออกจากเลขหมายโทรศัพท์ ในเมื่อระบบเลขหมาย 8 หลัก ไม่มีรหัสพื้นที่แล้ว การที่เรายังคงเขียนเป็น 02 345 6789 นั้นก็อาจทำให้เข้าใจผิดไปได้บ้าง แม้ว่าผลลัพธ์ของการโทรนั้นไม่แตกต่างกัน แต่ในการพูด คุณสามารถที่จะบอกเบอร์โทรของคุณเป็น “ศูนย์สอง สามสี่ห้า หกเจ็ดแปดเก้า” ได้เหมือนเดิม ก็ไม่มีใครว่าอะไร

ที่จริงแล้ว บ้านเราก็ไม่ได้ทำตามคำแนะนำของ ITU เสียทั้งหมด รูปแบบบางอย่างเราก็ยังคงใช้ตามนิยมที่ทุกคนเข้าใจ เช่น การเขียนเบอร์โทรที่ประกอบด้วยหลายเลขหมาย (Multiple numbers) นั้น มาตรฐาน ITU-T Recommendation E.123 แนะนำให้ใช้เครื่องหมายทับ (/) ระหว่างตัวเลข เช่น

* เลขหมายที่ไม่ติดกัน 0 2123 4567 / 3456 7890 / 4567 8901
* เลขหมายที่ติดกัน สามารถย่อเป็น 0 2123 4567 / 8 / 9

แต่ เราแทบจะไม่เคยเห็นรูปแบบนี้ในประเทศไทยเลย ที่นิยมใช้และเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป จะใช้เครื่องหมายขีด “-” ระหว่าง เลขหมายที่ติดกัน หรือคั่นด้วย “,” สำหรับเลขหมายที่ไม่ติดกัน เช่น

* เลขหมายติดกัน 0 2123 4567-9 หรือ 0 2123 4567-71
* เลขหมายที่ไม่ติดกัน 0 2134 4567, 0 2345 6789


การเขียนเลขโทรศัพท์ตามแบบใหม่นี้ยังมีข้อดีคือ เลขหมายของคนกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จะมีรูปแบบเหมือนกันทั้งประเทศ เช่น เลขหมายของชาวกรุงเทพฯ 0 2345 6789 กับเลขหมายของชาวเชียงใหม่ 0 5345 6789 ถือเป็นการลดช่องว่างระหว่างเมืองกรุงกับภูมิภาคได้อีกระดับหนึ่ง
แบ่งกลุ่มตัวเลขด้วยช่องว่าง

มาตรฐาน ITU E.123 แนะนำให้มีการแบ่งกลุ่มตัวเลขของหมายเลขโทรศัพท์ โดยใช้ สัญลักษณ์ช่องว่าง (Spacing symbols) เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและความสะดวกในการบอกกล่าว สัญลักษณ์ที่ควรใช้ที่สุดก็คือ ช่องว่าง (space) หรือการเว้นวรรค ไม่ควรใช้เครื่องหมายอื่นอย่างเช่น เครื่องหมายขีด “-” โดยเฉพาะเลขหมายระหว่างประเทศ เพราะอาจสร้างความสับสนได้ โดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้รวมกับเลขหมายที่ต่อเนื่องกัน เช่น 0-2123-4567-8 หรือ 0-2123-4567-70

ด้วยเหตุนี้ เราควรใช้ “ช่องว่าง” ในการแบ่งกลุ่มตัวเลขเท่านั้น ใครที่เคยเขียนเบอร์โทรเป็น 02-123-4567 นั้นก็ควรเปลี่ยนมาเขียนเป็น 0 2123 4567 ซึ่งถูกต้องกว่า
เลิกใช้เครื่องหมายวงเล็บ ( ) กับเบอร์โทร

เครื่องหมายวงเล็บ ( ) นั้นใช้แสดงว่า ตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บนั้นอาจไม่จำเป็นต้องใช้ในการโทร ดังเช่น รหัสพื้นที่ (02) สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งแต่ก่อนสามารถโทรถึงกันได้โดยไม่จำเป็นต้องกดรหัส 02 ก่อน เราจึงสามารถเขียนเลขหมายเป็น (02) 123 4567 หรือ (053) 123 456 ได้ เพื่อแสดงให้ทราบว่าถ้าอยู่ในพื้นที่เดียวกันไม่ต้องกดรหัสพื้นที่ แต่หลังจากการเปลี่ยนระบบเลขหมายโทรศัพท์จาก 7 หลักมาเป็น 8 หลัก ทำให้ในปัจจุบัน เราต้องกดรหัสพื้นที่ก่อนเสมอ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรใช้เครื่องหมายวงเล็บ ( ) ในเลขหมายโทรศัพท์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกต่อไป
คำแนะนำในการเขียนเลขหมายโทรศัพท์ ให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล Part 2/6
ใช้ +66 สำหรับเลขหมายระหว่างประเทศ (International number)

เครื่องหมายบวก “+” เป็น International prefix symbol ที่ใช้นำหน้ารหัสประเทศ และแสดงให้ทราบว่าเลขหมายโทรศัพท์ที่ตามมานั้นเป็นเบอร์โทรระหว่างประเทศ สำหรับตัวเลข “66” นั้นก็คือ รหัสประเทศ(Country code) ของไทยนั่นเอง ในการกดเบอร์โทรไปต่างประเทศด้วยเครื่องโทรศัพท์ธรรมดา เราไม่ต้องกดเครื่องหมายบวก “+” แต่ถ้าโทรออกด้วยโทรศัพท์มือถือ เราถึงจะสามารถกดเครื่องหมายบวก “+” ได้จริงๆ

แต่ถ้าเป็นการโทรระหว่างประเทศ เลข 0 ซึ่งเป็น Trunk prefix นี้จะถูกละเว้นไป นั่นเป็นเหตุผลที่เราสามารถเขียนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับการโทรระหว่างประเทศ เป็น +66 2345 6789 และไม่ควรใช้เครื่องหมายวงเล็บ ( ) และเครื่องหมายขีด (-) ในเลขหมายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งจะสร้างความสับสนได้ง่าย
หมายเลขต่อ (ext.)

สำหรับ เบอร์ต่อนั้น ITU แนะนำให้เขียนโดยใช้คำว่า “ext.” ซึ่งย่อมาจาก extension ตามด้วยเลขหมาย เช่น 0 2345 6789 ext. 1234 แต่ของไทยเรานั้นใช้คำว่า “ต่อ” แทน จึงเขียนได้เป็น 0 2345 6789 ต่อ 1234 บางทีก็เห็นใช้เครื่องหมายชาร์ป (#) แทนอย่าง 0 2345 6789 # 1234 ก็เป็นที่เข้าใจได้เช่นกัน
สรุปแนวทางการเขียนเลขหมายโทรศัพท์

จาก หลักการเขียนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับสิ่งพิมพ์และสื่อต่างๆ ซึ่งได้แก่ การแบ่งกลุ่มตัวเลขให้ถูกต้อง การใช้ช่องว่างแยกกลุ่มตัวเลข, การเลิกใช้เครื่องหมายวงเล็บ และการใช้ “+66” สำหรับเลขหมายระหว่างประเทศ เราจึงมีแนวทางการเขียนเบอร์โทรศัพท์ดังนี้

เลขหมายโทรศัพท์ สำหรับโทรในประเทศ
เลิกใช้วงเล็บ ไม่ควรเขียนว่า (02) 345 6789
เลิกใช้เครื่องหมายขีด (-) ไม่ควรเขียนว่า 02-345-6789
เลิกใช้ช่องว่างรวมกับเครื่องหมายขีด (-) ไม่ควรเขียนว่า 02 345-6789
ใช้ช่องว่างแยกกลุ่มตัวเลข เขียนได้เป็น 02 345 6789
แยกกลุ่มตัวเลขให้ถูกต้อง เขียนได้เป็น 0 2345 6789

การ เขียนเลขหมายโทรศัพท์อย่างถูกต้องนั้น อาจจะดูแปลกในตอนแรก หากเราลองฝืนใจทำตามคำแนะนำไปสักระยะหนึ่ง ไม่นานก็จะรู้สึกดีขึ้น ที่เราเขียนเบอร์โทรได้ตรงตามมาตรฐาน ไม่ทำให้คนอื่นสับสน

สำหรับเลขหมายโทรศัพท์สำหรับติดต่อกับต่างประเทศ ไม่ควรเขียน (662) 3456789 เพราะไม่ควรใช้วงเล็บ และขาดเครื่องหมาย +
ไม่ควรเขียน +66 23 456789 เพราะแบ่งกลุ่มตัวเลขไม่เหมาะสม
ไม่ควรเขียน +66(0) 23456789 เพราะไม่จำเป็นต้องมีเลข 0 ให้สับสน
ไม่ควรเขียน +66 (0) 2 345 6789 เพราะไม่จำเป็นต้องมีเลข 0 และยังแบ่งกลุ่มไม่ถูก ยิ่งทำให้ดูสับสน
ไม่ควรเขียน +66-2345-6789 เพราะไม่ควรใช้เครื่องหมายขีด (-) ที่ทำให้ดูสับสนเมื่อมีทั้งเครื่องหมายบวก (+) และลบ (-) อยู่ร่วมกัน ควรเขียนเป็น +66 2345 6789 ซึ่งเรียบง่าย และเป็นที่เข้าใจในระดับสากล
การเขียนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

สำหรับติดต่อในประเทศ
ให้เขียนโดยแยก 08 ไว้ข้างหน้า เว้นวรรคด้วยช่องว่าง ตามด้วยเลขอีก 4 ตัว เว้นวรรคด้วยช่องว่าง แล้วจึงตามด้วยเลขที่เหลืออีก 4 ตัว เช่น 08 1234 5678

ไม่ ควรเขียนเป็น (081)-234-5678, (081) 234 5678, (081) 234 5678, 081-234-5678, 081 234 5678, 08-1234-5678, (08) 1234 5678 เพราะไม่ควรใช้เครื่องหมายขีด (-) และวงเล็บ ( ) ในเลขหมาย

เนื่อง จากเครื่องหมายขีดนั้นอาจทำให้สับสนเมื่อใช้กับเลขหมายที่ต่อเนื่องกัน ส่วนเครื่องหมายวงเล็บนั้น มีความหมายว่า ตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บนั้นไม่จำเป็นต้องกด เมื่อโทรในพื้นที่เดียวกัน

สำหรับติดต่อกับต่างประเทศ
ให้เขียนแบบโดยแยก +668 ไว้ข้างหน้า แล้วตามด้วยเลขอีก 8 ตัวซึ่งแบ่งกลุ่มด้วยช่องว่าง เช่น +668 1234 5678
โดยมีเครื่องหมายบวก (+) นำหน้า ตามด้วยรหัสประเทศไทย ซึ่งก็คือ 66 พร้อมตัดเลข 0 ซึ่งไม่จำเป็นในการโทรเข้าจากต่างประเทศ ออกไป

ไม่ ควรเขียนเป็น +66 (0) 8 1234 5678, +66 (08) 1234 5678, +6608 1234 5678, +66 08 1234 5678, +66-08-1234-5678 เนื่องจากมาตรฐาน ITU ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องหมายขีด (-) และวงเล็บ ( ) ในเลขหมายระหว่างประเทศ

ต้อง ยอมรับว่าการเขียนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใหม่นั้น ขัดกับความรู้สึกพอสมควร จากเดิมที่เคยบอกเบอร์โทรว่า “ศูนย์หนึ่ง สองสามสี่ ห้าหกเจ็ดแปด” เมื่อต้องเปลี่ยนมาพูดว่า “ศูนย์แปด หนึ่งสองสามสี่ ห้าหกเจ็ดแปด” ก็รู้สึกไม่ถนัด เพราะคนส่วนใหญ่ยังเคยชินกับเลขหมายเดิม หลายๆคนจึงยังคงพูดว่า “ศูนย์แปดหนึ่ง สองสามสี่ ห้าหกเจ็ดแปด” ที่จำได้ง่ายกว่า

สรุป ว่าคุณจะพูดอย่างไรก็คงไม่มีใครมาว่าอะไร แต่ถ้าเป็นการเขียนลงในนามบัตร หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ การเขียนเลขหมายในรูปแบบใหม่ก็เป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้คนอื่นๆรวมถึงชาวต่างชาติเข้าใจระบบเลขหมายโทรศัพท์ของเราได้อย่าง ถูกต้อง และยังแสดงถึงความเป็นสากลของหน่วยงานคุณอีกด้วย
เพิ่มรายละเอียดให้ทราบว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ โทรสาร และโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างเต็มรูปแบบ

เลขหมายโทรศัพท์ในประเทศ
โทรศัพท์ (Tel.) 0 xxxx xxxx ต่อ xxx
โทรสาร (Fax) 0 xxxx xxxxx
โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile) 08 xxxx xxxx

เลขหมายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
Tel. +66 xxxx xxxx ext. xxx
Fax +66 xxxx xxxx
Mobile +668 xxxx xxxx
การเขียน Electronic Mail Address & Web Address

จาก มาตรฐาน E.123 ของ ITU ยังได้แนะนำวิธีการเขียนที่อยู่อีเมล (Electronic Mail Address) และที่อยู่เว็บ (Web Address) ไว้ด้วย เลยถือโอกาสแนะนำให้ทราบในที่นี้ด้วย เพื่อที่จะได้เขียนควบคู่ไปกับเลขหมายโทรศัพท์ ได้อย่างถูกต้องเช่นกัน

* สำหรับอีเมลนั้น ให้เขียนกำกับด้วยคำว่า “E-mail”, “email” หรือ “อีเมล” ตามด้วยที่อยู่อีเมล เช่น
E-mail: me@mysite.com
* ส่วนที่อยู่เว็บนั้น ให้เขียนกำกับด้วยคำว่า “Web” หรือ “เว็บ” แล้วตามด้วยที่อยู่เว็บโดยไม่มี http:// นำหน้า เช่น
Web: www.mysite.com




บทความจากหนังสือ ฉลาดโทร โทรประหยัดทั่วไทย โทรถูกทั่วโลก โดย ธวัชชัย ศรีสุเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา