วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิธีรักษาโรคปวดเข่า

ปวดเข่า(19 ส.ค. 2553)

สาเหตุ ในผู้ที่มีอาการปวดเข่าประมาณ 100 กว่าราย ไม่รวมผู้ที่มีกระดูกบริเวณเข่าโค้งงอหรือบิดเบี้ยวผิดปกติ พบว่าทุกรายเป็นเพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้านหลังต้นขาจากก้นย้อยถึงรอยพับหลังหัวเข่าอักเสบและตึง ดึงกระดูกท่อนบนจากหัวเข่าถึงโคนขาและกระดูกท่อนล่างจากหัวเข่าถึงข้อเท้าเข้าหากัน ทำให้มีเสียงดังเป๊าะเวลายืดหรืองอเข่า แต่แพทย์แผนปัจจุบันวิเคราะห์ว่า เสียงที่ดังเป็นเพราะกระดูกอ่อนที่หัวเข่าสึกกร่อน ขรุขระและไม่เรียบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะว่าเมื่อบริหารตามข้างล่างนี้จนเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อยืดหรือหายอักเสบแล้ว เสียงดังกล่าวหายไปด้วยทั้งๆ ที่กระดูกอ่อนที่หัวเข่ายังเหมือนเดิมโดยมิได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด อาการปวดเข่าดังกล่าวแล้ว มักเกิดขึ้นกับผู้ที่นั่งเก้าอี้ทำงานเป็นเวลานานๆ เป็นประจำ ทำให้เลือดไปเลี้ยงขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านหลังขาไม่สะดวก
อาการ เริ่มด้วยอาการปวดและตึงบริเวณขาด้านหลังจากรอยพับหลังหัวเข่าถึงก้นย้อย อาการมากขึ้นจนเห็นได้ชัดเมื่อพยายามนั่งยองๆ หรือเมื่อไม่สามารถนั่งยองๆ ได้ อาจมีเสียงดังเป๊าะที่เข่าเมื่อมีการเปลี่ยนอริยาบทจากยืดเข่าเป็นงอเข่าหรือตรงกันข้าม มีอาการปวดที่รอยพับหลังหัวเข่าอย่างรุนแรง ถ้าไม่สังเกตุให้ดีอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นอาการปวดที่ข้อเข่าด้านหน้า อาการปวดดังกล่าวเกิดขึ้นได้ (ก)เมื่อนั่งยองๆ หรืองอเข่า (ข)หลังจากนั่งเก้าอี้เป็นเวลานาน เมื่อลุกขึ้นจะมีอาการปวดที่รอยพับหลังหัวเข่าและต้นขาด้านหลัง (ค)หลังจากเดินได้สักพักหนึ่ง เช่น 1-2 ชั่วโมง เป็นต้น อาการปวดอาจรุนแรงมากเมื่องอเข่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ปวดที่รอยพับหลังหัวเข่ามากเมื่อก้าวขาเดิน เพราะในการก้าวขาเดินหัวเข่าของขาข้างนั้นต้องงอเล็กน้อย เมื่อมีอาการปวดมาก ผู้ป่วยก็ไม่ยอมก้าวเท้าเดิน ต้องเดินขาแข็งในลักษณะลากขาโดยที่หัวเข่าเหยียดตรง มีอาการปวดเข่าอีกแบบหนึ่ง ซึ่งปวดบริเวณรอบๆ ขอบเข่า ซึ่งรู้สึกได้ชัดเจนเมื่อเข่าอยู่ในตำแหน่งที่พับหรืองอ ตรงนี้คือบริเวณที่เอ็นของกล้ามเนื้อ(Tendon) ยึดกล้ามเนื้อให้ติดกับกระดูก ผู้ป่วยไม่สามารถนั่งคุกเข่าได้ ไม่สามารถลุกขึ้นยืนจากตำแหน่งนั่งกับพื้นได้โดยไม่ใช้มือยันหรือโหนตัวขึ้น และไม่สามารถขึ้นลงบันไดได้อย่างสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งขาลงบันได เพราะจะปวดบริเวณรอบๆ ขอบเข่ามาก และอาจมีอาการบวมและร้อนร่วมด้วย การรับประทานใบง็อกสามารถรักษาอาการปวดเข่าในกรณีหลังนี้ให้หายได้อย่างรวดเร็ว โปรดดูหัวข้อ ’ สมุนไพร ‘ ส่วนการบริหารตามตำรานี้มีส่วนช่วยได้บ้าง




ตำแหน่งจุด (1) ดูรูปที่ 1 จุด 3 อยู่ที่บริเวณก้นย้อย จุด 5 อยู่บนเส้นรอยพับหลังหัวเข่า ตรงจุดกึ่งกลางความยาวของเส้นรอยพับ (2) จุด 4 อยู่เลยจุดกึ่งกลางของเส้น 35 ขึ้นไปทางก้นย้อยประมาณ 1 นิ้วหัวแม่มือ(ความกว้างของนิ้วหัวแม่มือตรงใต้โคนเล็บลงมาประมาณ 1 ซ.ม.) ความยาว 1 นิ้วหัวแม่มือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ 1 ซุ่น หรือ 1 ข้อนิ้วมือ’ และ(3) จุด 7 อยู่ใต้จุด 5 ลงมา 8 ข้อนิ้วมือ รูปที่ 1
การกดจุด (1) ผู้ป่วยนอนคว่ำบนพื้นใกล้โต๊ะที่แข็งแรง ( โต๊ะมีไว้ให้ผู้ทำหน้าที่กดจุดในข้อ (2)จับยึดมิให้หกล้มหรือลื่นไถล ) ขาเหยียดตรงห่างกันเล็กน้อย มีผ้าขนหนูหนาประมาณ 2-3 ทบหนุนใต้สะบ้า เพื่อลดอาการเจ็บสะบ้าเมื่อมีการเหยียบหรือกดจุด
(2) ให้ผู้ที่ทำหน้าที่กดจุดๆ โดยใช้ส้นเท้าเหยียบ ผู้กดจุดควรกระดกฝ่าเท้าให้ทำมุมประมาณ 45 องศากับแนวดิ่ง แล้วใช้ส่วนที่เป็นส้นเท้าเท่านั้นเหยียบหรือกดตามส่วนต่างๆ ส่วนใดที่ตึงหรือปวดตื้อๆ เมื่อถูกเหยียบ ให้ทำซ้ำๆ กันหลายครั้งๆ ละประมาณ 5 วินาที ในการเคลื่อนย้ายส้นเท้า มิให้ยกเท้าขึ้นมาในอากาศ ให้ผ่อนแรงกดแล้วลากไปตามผิวหนังของผู้ป่วย วิธีเหยียบที่เหมาะสมทำได้ดังต่อไปนี้ สมมุติว่าใช้เท้าขวากดจุด ให้ใช้เท้าซ้ายยืนอยู่บนพื้น ส้นเท้าขวาอยู่บนจุดที่ต้องการจะกด ค่อยๆ ถ่ายน้ำหนักตัวจากเท้าซ้ายไปยังเท้าขวา ให้แรงกดมากพอสมควรเท่าที่ผู้ป่วยจะทนได้
(3) ให้เริ่มต้นเหยียบที่จุด 3 เลื่อนลงมาตามแนวเส้นตรง 345 แต่ละครั้งเลื่อนลงมาประมาณ 3-5 ม.ม. การเหยียบจะลงมาไม่ถึงจุด 5 ให้หยุดเมื่อเริ่มมีการเจ็บสะบ้าเพราะถูกกดกับพื้น ปกติสะบ้าจะเริ่มเจ็บเมื่อเหยียบมาถึงจุดที่อยู่เหนือรอยพับหลังหัวเข่าประมาณ 1 ฝ่ามือ สรุปให้เว้นไม่เหยียบพื้นที่
เหนือรอยพับหลังหัวเข่าไว้ประมาณ 1 ฝ่ามือ จากนั้นให้เหยียบเลยลงไปในแนวเส้นตรงจากจุด 5 ไปยังจุด 7 โดยเว้นไม่เหยียบบริเวณประมาณ 1 ฝ่ามือใต้รอยพับหลังหัวเข่า การเหยียบครั้งหลังนี้ให้ลดแรงกดลงเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
(4) ให้เหยียบปูพรมทั่วขาด้านหลังตามวิธีการในข้อ (3) โดยเหยียบในแนวเส้นตรงขนานกับเส้น 3457 และมีจุดเริ่มต้นที่แนวก้นย้อย
(5) ในขั้นนี้จะกดจุดในบริเวณที่เว้นไว้คือเหนือและใต้รอยพับหลังหัวเข่า 1 ฝ่ามือ ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ก) ใช้นิ้วหัวแม่มือหรือปลายแหลมของข้อศอกค่อยๆ กดเบาๆ ที่จุด 5 เมื่อถูกจุดจะมีอาการเจ็บแหลมๆ คล้ายถูกเข็มฉีดยา กดครั้งละนานประมาณ 5 วินาที กด2-3ครั้ง และ
ข) ใช้หน้าแขนบริเวณใกล้ปลายแหลมของข้อศอกกดนวดบริเวณที่เหลืออย่างทั่วถึง กดด้วยแรงพอสมควร อย่าให้หนักมากเกินไป
(6) สำหรับผู้ที่มีอาการปวดบริเวณรอบๆ ขอบเข่า
ก) ให้พับเข่าคล้ายท่านั่งสมาธิ หรือนั่งเก้าอี้ ฝ่าเท้าวางอยู่บนพื้นและเข่างอประมาณ 90 องศา เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณขอบเข่าตึง ใช้นิ้วหัวแม่มือและมือนวดตั้งแต่ขอบเข่าขึ้นไปประมาณ 1 ฝ่ามือ ตรงไหนเจ็บผิดปกติ ให้เน้นตรงนั้นมากๆ
ข) ให้ยืนข้างโต๊ะที่มั่นคงแข็งแรง ย่อเข่าลงทีละน้อยจนคล้ายกับการนั่งยองๆ แล้วยืนขึ้น ถ้ามีอาการปวดที่เข่ามาก ให้ย่อเข่าแต่พอสมควร อย่าฝืนมากจนเกินไปและให้ช่วยพยุงตัวด้วยการออกแรงกดลงไปบนโต๊ะ ทำเช่นนี้หลายๆ ครั้ง ในโอกาสต่อไปค่อยๆ ย่อเข่าลงให้มากกว่าเดิมและเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหมมากเกินไป
หมายเหตุ หลังจากกดตามข้างต้นแล้ว อาการปวดเข่าบริเวณด้านหลังเข่าน่าจะหายไปหมดหรือเกือบหมด จนผู้ป่วยสามารถย่อเข่าหรือนั่งยองๆ ได้ หลังจากนี้อาการปวดเข่าอาจกลับมาอีกได้ ทั้งนี้เพราะว่าอาการปวดเข่าเกิดจากความเสื่อมของสังขาร หรือการขาดการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดเข่ากลับมาอีก ให้บริหารร่างกายทุกวันตามวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

วิธีที่ 1
วิธีนี้อาจใช้ทดสอบอย่างง่ายๆ ว่า อาการปวดเข่าที่เป็นอยู่ เกิดจากสาเหตุที่เส้นเอ็นด้านหลังขาตึงหรือไม่ ถ้าหลังจากทำตามวิธีนี้แล้ว อาการปวดเข่าลดลงหรือเข่าเบาและโล่ง เป็นที่แน่นอนว่าการรักษาตามตำรานี้จะทำให้อาการปวดเข่าหายแน่นอน ที่จริงแล้วถ้าทำตามวิธีนี้อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง อาการปวดเข่าอาจหายได้ แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าวิธีในหน้าแรก วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดหลัง แต่ก็มีข้อดีตรงที่ว่าไม่ต้องอาศัยผู้อื่นช่วย
(1) ผู้ป่วยยืนห่างจากเก้าอี้ประมาณ 50 เซนติเมตร สมมุติว่าเข่าที่ปวดคือเข่าขวา ให้ยกส้นเท้าขวาวางบนส่วนรองก้นของเก้าอี้ ขาขวาเหยียดตรง เข่าขวายืดตรงจนแอ่น
(2) กระดกปลายเท้าขวาเข้าหาตัวอย่างสุดๆ และเกร็งไว้ในตำแหน่งนี้
(3) ในขณะที่โน้มหน้าอกไปยังเข่าขวาช้าๆ จนหน้าอกเข้าใกล้เข่าขวามากที่สุด ใช้หน้าแขนขวากดเบาๆ ตรงหนือเข่าขวาประมาณ 1 ฝ่ามือ เพื่อให้เข่าตึงและเหยียดตรงตลอดเวลา ค่อยๆ ลดสะโพกลงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยการย่อขาซ้าย( เข่าขวายังแอ่นตึงอยู่ตลอดเวลา )จนรู้สึกปวดเส้นเอ็นด้านหลังขาขวาอย่างสุดๆ ปานประหนึ่งว่าเส้นเอ็นจะฉีกขาดออกจากกัน รักษาตำแหน่งนี้ไว้ให้ได้นานประมาณ 10 – 20 วินาที เรียกว่า 1 ครั้ง
(4) ทำ (1)-(3) อย่างน้อยวันละ 2-3 เวลา เวลาละประมาณ 3 ครั้ง ที่จริงแล้วเพียงแค่ทำครั้งเดียว อาการปวดเข่าจะลดลงเป็นอย่างมากจนรู้สึกเบาได้ทันที ทำในทำนองเดียวกันกับขาซ้าย

วิธีที่ 2
วิธีนี้คล้ายกับวิธีที่ 1 แต่มีลักษณะเด่นตรงที่เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่สามารถยืนได้อย่างมั่นคง
(1) ผู้ป่วยนั่งลงบนพื้น ตัวตรง เหยียดขาขวาไปข้างหน้า เข่าและขาขวาเหยียดตรงแนบกับพื้น ขาซ้ายอยู่ในลักษณะงอราบบนพื้นก็ได้
(2) ในขณะที่ขาขวาและเข่าขวาเหยียดตรง ( เข่าแอ่น ) โน้มตัวไปข้างหน้า ให้หน้าอกเข้าใกล้เข่าขวามากที่สุดที่จะมากได้ ใช้หน้าแขนขวากดเบาๆ ลงที่เหนือเข่าขวาประมาณ 1 ฝ่ามือ เพื่อมิให้เข่างอขึ้นมา พร้อมกันนี้กระดกปลายเท้าขวาเข้าหาหน้าแข้งขวาให้มากที่สุดที่จะมากได้และรักษาไว้ในตำแหน่งนี้ตลอดเวลา พยายามทนเจ็บที่รอยพับหลังหัวเข่า หรือบริเวณด้านหลังขาส่วนที่อยู่เหนือรอยพับหลังหัวเข่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทนได้ เป็นเวลาประมาณ 10 – 20 วินาที เรียกว่า 1 ครั้ง
(3) ทำ (1)-(2) อย่างน้อยวันละ 2-3 เวลา เวลาละประมาณ 2-3 ครั้ง ปกติแล้วเพียงแค่ทำครั้งเดียว อาการปวดเข่าจะเบาจนรู้สึกได้ทันที ทำในทำนองเดียวกันกับขาซ้าย

สมุนไพร
เพื่อให้การรักษาอาการปวดเข่าได้ผลดีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดรอบๆ ขอบของหัวเข่า ผู้ป่วยควรรับประทานใบต้นง็อกควบคู่กันไปด้วย โดยรับประทานก่อนอาหารหรือตอนท้องว่าง วันละ 2 มื้อคือ เช้าและเย็น หรือตอนค่ำ มื้อละประมาณ 5-10 ใบ หรือวันละ 1 มื้อๆ ละ 8-15 ใบ ด้วยการเคี้ยวกินใบง็อกสดๆ เมื่อหายดีแล้วควรลดลงเหลือมื้อละประมาณ 3-5 ใบ หรืองดโดยสิ้นเชิง ผู้เรียบเรียงตำรานี้มีอาการปวดมากที่บริเวณขอบเข่า และปวดและตึงมากที่บริเวณด้านหลังของต้นขา รับประทานใบ ง็อกวันละ 1 มื้อๆ ละ 15 ใบ ในวันรุ่งขึ้นอาการปวดและตึงลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ประสบการณ์จริงอีกเรื่องหนึ่งมีดังนี้ ที่บ้านมีสุนัขแก่ตัวหนึ่งมีอาการปวดขาหลังทั้ง 2 ข้าง โดยสังเกตเห็นจากการเดินด้วยขาหลังที่กระย่องกระแย่ง วันรุ่งขึ้นหลังกินใบง็อกสด สุนัขเดินเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ระหว่างรับประทานใบง็อกควรตรวจสอบปริมาณน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตเป็นประจำด้วย เพราะง็อกอาจลดปริมาณน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตด้วย
ใบมะรุมเป็นสมุนไพรอีกตัวหนึ่งที่รักษาอาการปวดเข่าและปวดข้อรูมาตอยด์ได้ดี ปัจจุบันมีผู้ผลิตใบมะรุมตากแห้งบรรจุในแคปซูลขาย เนื่องจากใบมะรุมลดปริมาณน้ำตาลในเลือดและลดความดันโลหิตด้วย ควรตรวจสอบปริมาณน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตเป็นประจำด้วย ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งคือบางคนอาจมีอาการแพ้มะรุมอย่างรุนแรง


ระดับน้ำตาลในเลือด
ช่วงระดับน้ำตาลในเลือดปกติ = 80-120 มิลลิกรัม/ 100 ลบ. ซม.
ระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยปกติ = 90 มิลลิกรัม/ 100 ลบ. ซม.
ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารสำหรับผู้ที่ไม่ป่วยเป็นเบาหวานมีค่าประมาณ 140 มก. / 100 ลบ.ซม.
ความดันโลหิต
ความดันโลหิตปกติ = น้อยกว่า 120 มม.ปรอท/ น้อยกว่า 80 มม.ปรอท
ความดันโลหิตก่อนเป็นความดันโลหิตสูง = 120-140 มม.ปรอท/ 80-90 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูง = สูงกว่า 140 มม. ปรอท/ สูงกว่า 90 มม.ปรอท


--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา