วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สิ่งดีดี วันละ mail [คลังสุขภาพ] ตอน กินอาหารเช้าไกลโรคสมองเสื่อม

กินอาหารเช้าไกลโรคสมองเสื่อม

เลือกทานอาหารย่อยง่าย





ว่ากันว่าอาหารมื้อเช้านั้นเป็นมื้อที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะส่งผลให้อารมณ์และความจำดีแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในระยะยาวได้ นพ. สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง แผนกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับการรับประทานอาหารมื้อเช้า พร้อมทั้งเผยถึงอาหารประเภทต่างๆ ที่กลุ่มคนวัยทำงานควรรับประทาน

สำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศส่วนใหญ่ที่ต้องเร่งรีบไปทำงาน ทำให้ไม่มีเวลารับประทานอาหารเช้า และเมื่อตื่นนอนจะทำได้เพียงจิบกาแฟเพียงแก้วเดียวแล้วรีบไปทำงาน แต่คุณทราบหรือไม่ว่าในกาแฟนั้นมีสารกาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่นพร้อมสำหรับการทำงาน แต่สมองยังไม่ได้รับสารอาหารที่ต้องการ เพราะในขณะที่คุณนอนหลับ ร่างกายก็ต้องใช้พลังงานตามปกติ และกลูโคสที่สะสมไว้ก็ถูกใช้ไปกว่าครึ่งขณะที่คุณนอนหลับ แต่ที่เราไม่รู้สึกหิวเพราะร่างกายยังสามารถดึงพลังงานสำรองมาใช้ได้ เมื่อพลังงานหมดก็จะหิว หงุดหงิด เครียด ฯลฯ ดังนั้น มื้อเช้าจึงเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด การงดมื้อเช้าจะส่งผลต่อสมอง เนื่องจากสมองต้องการสารอาหารต่างๆ และกลูโคสไปใช้ในการคิดประมวลผล และถ้างดอาหารมื้อเช้าเป็นประจำ อาจเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม ในปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมกว่า 600,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คุณหมอกล่าว

พร้อมกันนี้ นพ.สุวินัย ยังได้เผยว่า สมองนั้นทำหน้าที่ควบคุมและสั่งงานการทำงานเกือบทุกส่วนในร่างกาย ประกอบด้วย เซลล์ประสาท (Neuron) มาก กว่าแสนล้านเซลล์ มีแขนงประสาท (Neuronal Processes) ประสานกัน เพื่อใช้ส่งสัญญาณประสาทและติดต่อที่ความเร็ว 0.5-120 เมตรใน 1 วินาที ดังนั้น การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสม จะช่วยให้ส่งสัญญาณประสาทได้เร็วขึ้น สมองคนเราควรได้รับการกระตุ้นและมีสารอาหารรวมถึงแร่ธาตุต่างๆ มาเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ คนวัยทำงานจึงควรเริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารเช้าที่มีสารอาหารครบ เพื่อช่วยบำรุงสมองให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกลูโคสที่สมองนำไปใช้ในการทำงานนั้น ยังช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ ผู้ที่ไม่รับประทานอาหารเช้าจึงรู้สึกหงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ช้าลง ฯลฯ

สำหรับเทคนิคในการเลือกรับประทานมื้อเช้าอย่างไร เพื่อช่วยลดความเสี่ยงสมองเสื่อม คุณหมอกล่าวว่า ควรแบ่งอาหารทุกมื้อออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน คือ 1.ข้าวซ้อมมือและธัญพืช 2.ผักชนิดต่างๆ 3.โปรตีน 4.ผลไม้สด ส่วนสารอาหารที่ช่วยทำให้หนุ่มสาวออฟฟิศสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังนี้

1.วิตามินบี 1, 6 และ 12 แพนโธทินิกและกรดโฟลิก ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาหารประเภทถั่วชนิดต่างๆ ข้าวและธัญพืชไม่ขัดสี อาหารทะเล ฯลฯ ซึ่งช่วยให้สมองส่งต่อข้อมูลของเซลล์สมอง ทำให้สมาธิดี

2.วิตามินซี อี และเบต้าแคโรทีนในพืชผักผลไม้ต่างๆ ช่วยปกป้องเยื่อสมองจากอนุมูลอิสระ

3.โคลีนที่มีมากในมันฝรั่ง มะเขือเทศ นม ส้ม ดอกกะหล่ำ ไข่แดง ถั่วลิสง ฯลฯ ช่วยควบคุมความจำ

4.ธาตุเหล็กที่มีมากในตับ เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล ช่วยในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง

5.โอเมกา 3 พบมากในปลาทู ปลาซาร์ดีน ฯลฯ ช่วยป้องกันความจำเสื่อม

ขณะเดียวกันคุณหมอก็ได้แนะนำว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการรับประทานอาหารเช้าควรเป็นช่วงเวลา 07.00-09.00 น. เพราะช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้ร่างกายดูดซึมและย่อยสารอาหารได้ดีกว่าช่วงอื่น และที่สำคัญการรับประทานอาหารเช้านั้น ควรรับประทานแต่พออิ่ม หากรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไปจะส่งผลให้เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองแข็งตัว และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการทานหวานจัด เพราะน้ำตาลจะไปขัดขวางการดูดซึมโปรตีนรวมทั้งสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง

นอกจากนี้ อาหารมื้อเช้าควรเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้ง่ายและย่อยง่าย จัดเตรียมง่ายๆ เช่น 1.ข้าวต้มปลา, กุ้ง (ถ้าทำเองควรใช้ข้าวซ้อมมือหรือใช้ธัญพืชชนิดต่างๆ เช่น งา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ฯลฯ โรยไปในข้าวต้ม) ผัดผัก 1 จานหรือสลัด นมถั่วเหลือง 1 แก้วเล็ก ผลไม้ 1 จานเล็ก 2.ข้าวต้ม 1 ถ้วย (เลือกใช้ข้าวซ้อมมือ) ผัดดอกกะหล่ำจานเล็ก 1 จาน ปลาทูนึ่ง 1 ตัว ถั่วลิสงอบหรือถั่วที่ชอบ 1 จานเล็ก ผลไม้จานเล็ก 1 จาน 3.ข้าวโอ๊ต 1 ถ้วย (โรยหน้าด้วยผลไม้ เช่น กล้วย 1 ผล และธัญพืชชนิดต่างๆ) ส้ม 1 ลูก หรือสลัดมะเขือเทศ 1 จาน เพียงแค่รับประทานมื้อเช้าที่มีสารอาหารอย่างที่สมองต้องการเป็นประจำทุกวัน ก็ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ น.พ.สุวินัยกล่าว






ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา