วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

กรรมเหนือหมอดู‏

กรรมเหนือหมอดู


--------------------------------------------------------------------------------



กรรมเหนือหมอดู
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ผมเป็นศิษย์โหร แต่มิได้เป็นโหร หลวงพ่อเจ้าคุณพระภัทรมุนี หรือมหาอิ๋น เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ธนบุรี (สมัยนั้น) เป็นโหราจารย์ชั้นยอด สมัยนั้นมีโหราจารย์ที่ดังอยู่เพียงสองท่านเท่านั้น คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช อีกรูปหนึ่งคือพระภัทรมุนี

แต่โหรสมัยก่อนเขามิได้ทายส่งเดช อย่างหลวงพ่อเจ้าคุณพระภัทรมุนี ท่านเป็นที่ปรึกษาทางจิตใจให้แก่ศิษย์มากกว่าเป็นหมอดู เรื่องประเภทไหนควรทาย ไม่ควรทายท่านมี “จรรยาบรรณ”

บางทีกว่าจะทายได้สักราย ท่านคำนวณแล้วคำนวณอีกถึงสองสามวันก็มี ไม่แน่ใจท่านก็ไม่ทาย

มีเรื่องเล่าว่า หนุ่มสาวคู่หนึ่งจูงมือมาให้หลวงพ่อกำหนดวันแต่งงานให้ ท่านดูๆ แล้ว บอกว่าท่านไม่สามารถให้ฤกษ์ได้ ขอให้ไปหาสมเด็จฯ วัดสระเกศ สองคนก็ไปหาสมเด็จฯ และก็ได้ฤกษ์ไป มีผู้ถามสมเด็จฯ ภายหลังว่า ทำไมเจ้าคุณอิ๋นไม่ให้ฤกษ์ สมเด็จฯ บอกว่า “เจ้าคุณท่านดูแล้วสองคนนี้จะอยู่ด้วยกันไม่ตลอด แต่อาตมาถือว่า เขาเป็นคู่กันต้องได้แต่งงานกัน ส่วนต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงให้ฤกษ์แต่งไป”

ถูกทั้งสองรูป รูปหนึ่งมองว่าถ้าจะแต่งงานกันก็ควรไปได้ตลอด อีกรูปหนึ่งมองว่า ดวงมันเป็นคู่กันก็ต้องได้แต่งงานกัน ส่วนจากนั้นไป จะอยู่ด้วยกันยืดหรือไม่ เป็นเรื่องของทั้งสองคน แล้วแต่จะมอง

เมื่อผมสอบเปรียญเก้าประโยคได้แล้ว หลวงพ่อพยายามชักจูงให้ผมเรียนโหราศาสตร์ ผมก็ยืนยันว่า ไม่อยากเป็น “หมอดู” หลวงพ่อบอกว่า โหร มิใช่หมอดู เราศึกษาโหราศาสตร์ให้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาชีวิต ไม่จำเป็นต้องพยากรณ์ใคร คล้ายจะบอกว่า โหราศาสตร์กับพยากรณ์ศาสตร์แยกกันได้

แต่ผมก็เห็นโหรส่วนมากท่านก็พยากรณ์ทั้งนั้น

ผมแย้งว่าพระพุทธเจ้าท่านตำหนิเป็น “ติรัจฉานวิชชา” มิใช่หรือ ท่านตอบว่า ถ้าเอาคำจำกัดความว่า ติรัจฉานวิชชาคือ วิชชาที่ขวางต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เณรเรียนนักธรรมบาลีก็เข้าเกณฑ์นี้ทั้งนั้น

ผมจำนนท่าน แต่ผมก็ไม่ยอมเรียนอยู่ดี ไม่งั้นป่านนี้เป็นหมอดูแม่นๆ ไปแล้ว

หลวงพ่อเล่าว่า ปราชญ์โบราณท่านเรียนโหราศาสตร์ทั้งนั้น สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชการที่สี่ สมเด็จมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้น ก็ทรงเชี่ยวชาญโหราศาสตร์ทั้งนั้น แต่ก็ไม่เห็นท่านใช้โหราศาสตร์พยากรณ์ใครเป็นอาชีพ แล้วท่านก็เล่าเรื่องที่ต่างๆ ให้ผมฟังแล้วก็ตื่นเต้นด้วยความดีใจที่ได้รับรู้เรื่องราวเก่าๆ ชนิดจะไปหาอ่านที่ไหนไม่ได้

ก่อนทรงศึกษาโหราศาสตร์นั้น พระวิชรญาณ (สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่สี่) ทรงได้รับพยากรณ์จากหลวงตาเฒ่ารูปหนึ่งดูเหมือนชื่อ ทอง แห่งวัดตะเคียนว่า จะได้ราชสมบัติแน่นอน รับสั่งว่าให้เป็นจริงเถอะ จะสมนาคุณอย่างงามเลย แล้วในที่สุดก็ทรงได้ขึ้นครองราชย์จริงๆ ทรงรำลึกถึงหลวงตาเฒ่าวัดตะเคียนขึ้นมา ตั้งพระทัยจะไปนมัสการ ก็ทรงทราบว่า หลวงตาเฒ่ามรณภาพไปนานแล้ว จึงทรงปฏิสังขรณ์เป็นการบูชาคุณหลวงตาเฒ่าแล้วพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดมหาพฤฒาราม (แปลว่า วัดที่สร้างถวายพระผู้เฒ่า)

เมื่อทรงเชี่ยวชาญในโหราศาสตร์แล้ว ก็มิได้ทรงใช้วิชาโหราศาสตร์ทำนายทายทักอะไร นอกจากทรงวิพากษ์วิจารณ์ดวงพระชาตาของพระราชโอรสบางองค์ ดังทรงวิจารณ์ดวงพระชาตากรมหมื่นพิชิตปรีชากร ที่โหรทั้งหลายว่าเป็นดวงแตก เอาดีไม่ได้ ว่าถ้าถอดดวงให้ละเอียดแล้ว กลับเป็นดวงดีอย่างยิ่งเป็นต้น

และทรงสามารถใช้โหราศาสตร์แก่เคล็ดได้อีกด้วย ดังทรงเห็นว่าดวงพระชาตาพระอนุชาธิราชแข็งมาก จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อถูกอัญเชิญลาสิกขาเพื่อไปครองราชย์ พระองค์จึงทรงสถาปนาพระอนุชาธิราชให้เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่า พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ากันว่าทรงแก้เคล็ดทางโหราศาสตร์

สองสามวันมานี้มีข่าวโหร หรือหมอดูแม่นชื่อ หมอดูอีที (ขอประทานโทษถ้าฟังมาผิด) เป็นชาวพม่า ทำนายดวงนักการเมืองดังๆ มามาก หลายท่านก็ว่าทำนายได้แม่นยำ

อย่างป๋าเหนาะท่านว่า ท่านเองก็เคยให้หมอดูอีทีทำนาย แม่นมาก “ขนาดเงินกระเป๋าผม ยังทายได้เลยว่า มีใบพัน ใบห้าร้อย ใบร้อยกี่ใบๆ และแต่ละใบเลขอะไร” แล้วท่านเล่าต่อ หมอเขาก็เตือนว่า

ระวังจะถูกหลักหลัง ดวงทำบุญคนไม่ขึ้น หมอยังบอกว่าใครควรคบไม่ควรคบ ถึงตรงนี้เสียงนักข่าวแทรกขึ้นว่า “แล้วหมอบอกหรือเปล่าว่าคนหน้าเหลี่ยมไม่ให้คบ” ป๋าท่านก็บอกว่าไม่เอาแล้วๆ อย่าถามมาก อะไรประมาณนั้น

หมอดูที่ทายแม่นยังกับตาเห็น มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ส่วนมากทายอดีตและปัจจุบันค่อนข้างแม่น แต่ทายอนาคตไม่ค่อยแม่น นานๆ จะทายอนาคตค่อนแม่นยำ ดังกรณีซินแสมองหน้าพระหนุ่มสองรูปกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ แล้วก็หัวเราะชอบใจ พระหนุ่มสองรูปถามว่า หัวเราะอะไร ซินแสตอบว่า

“ลื้อสองคงนี้จะได้เป็นพระเจ้าแผ่งลิง (แผ่นดิน)” แล้วก็หัวเราะเห็นฟันเหลือง

คราวนี้ พระคุณเจ้าทั้งสองรูปหัวเราะบ้าง ดังกว่าเสียงของซินแส ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้อย่างไร สองคนเป็นพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน ! ถ้าซินแสแกมีอายุยืนยาวจนได้เห็นว่าอดีตพระหนุ่มสองรูปนั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจริง คือ พระสินได้เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระทองด้วงได้เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

แกก็คงหัวร่อชอบใจที่แกพยากรณ์แม่นจริงๆ

ทำไมการพยากรณ์อดีตจึงแม่น พยากรณ์อนาคตไม่แม่น

ตอบง่ายนิดเดียว เพราะชีวิตคนมิได้ขึ้นอยู่กับโหราศาสตร์เป็นเงื่อนไขอย่างเดียว มันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยอีกมากมาย อดีตนั้น “นิ่ง” แล้ว ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาผลักดันให้เป็นอื่นได้ เพราะฉะนั้น การทำนายทายทักจึงมักจะตรง แต่ปัจจุบันและอนาคต มันยังเคลื่อนไหวเพราะเหตุปัจจัยอีกหลายอย่าง ยังไม่นิ่ง

เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ “กรรม” (การกระทำ) ของคนๆ นั้นเอง เขาทำทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดีคละกันไป สิ่งเหล่านี้แหละมีแนวโน้มจะให้ผลในอนาคต ไม่ว่าดีหรือไม่ดี

พูดอีกนัยหนึ่ง เราเป็นผู้กำหนดอนาคตเราเอง ถ้าต้องการให้ชีวิตเป็นไปอย่างใด ก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่ดีๆ ไว้ให้มาก แล้วอนาคตจะไปดีเอง ตรงข้ามถ้าสร้างแต่เงื่อนไขไม่ดี อนาคตก็เป็นไปตามนั้น

ลองฟังนิทานชาดกนี้ดู พระราชาสองเมืองทำสงครามกัน ผัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ถึงฤดูฝนก็หยุดพักสิ้นฤดูฝนก็รบใหม่ เป็นอย่างนี้มานาน จนมีคนไปถามฤๅษีว่า พระราชาองค์ไหนจะชนะ ฤๅษีก็ไปถามพระอินทร์อีกต่อ พระอินทร์บอกว่าพระราชาเมือง ก. จะชนะ เมือง ข. จะพ่ายแพ้ ข่าวนี้ก็ไปเข้าพระกรรณของพระราชาทั้งสององค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ ก็ดีใจ ประมาท เลี้ยงฉลองกันมโหฬารตั้งแต่ยังไม่รบ ไม่ฝึกปรือกองทัพให้พร้อม สบายใจว่าจะชนะแน่ ส่วนพระราชาที่หมอทำนายว่าจะแพ้ ก็ไม่ยอมถอดใจ ตั้งหน้าตั้งตาฝึกปรือกองทัพอย่างเข้มงวด วางแผนรุกแผนรับไว้อย่างพร้อมสรรพ

เมื่อถึงคราวรบจริง เรื่องก็กลับตาลปัตร ฝ่ายที่ว่าจะชนะ ก็ถูกตีกระจุย ฝ่ายที่ว่าจะแพ้ ก็กำชัยชนะไว้ได้ พระราชาองค์ที่ฤๅษีว่าจะชนะ จึงไปต่อว่าฤๅษีหาว่าทำนายส่งเดช ฤๅษีก็หน้าแตกไปตามระเบียบ จึงไปต่อว่าพระอินทร์หาว่าทายซี้ซั้ว ทำให้แกผู้นำคำทำนายไปเผยแพร่เสียหน้า พระอินทร์กล่าวว่า

“ไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของมัน พระราชา ก. จะชนะแน่นอน แต่บังเอิญว่ามีเงื่อนไขใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ความพากเพียรพยายามฝึกฝนฝึกปรือกองทัพของพระราชาเมือง ข. การณ์จึงกลายเป็นตรงกันข้าม”

แล้วพระอินทร์จึงกล่าวปรัชญาว่า

“คนที่พยายามจนถึงที่สุดแล้ว แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้”

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของเหลียวฝาน ที่มิสโจ แปลไว้ในหนังสือ โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน ที่พิมพ์เผยแพร่มาหลายครั้งแล้ว

เหลี่ยวฝานเดิมชื่อเสวียห่าย ได้พบผู้เฒ่าข่ง ผู้เฒ่าทำนายว่าจะได้เป็นขุนนาง ปีไหนจะเป็นอย่างไรบอกไว้หมด และว่าท่านเหลี่ยวฝานจะไม่มีบุตร และจะตายเมื่ออายุได้ 50 ปี

คำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่า แม่นยำมาตลอด จนท่านคิดว่าชะตาชีวิตคนเราถูกฟ้าดินกำหนดมาแล้ว ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เลยไม่คิดที่จะขวนขวายพยายามต่อไป ปล่อยให้เป็นไปตามฟ้าลิขิต ต่อมาท่านได้พบ พระเถระนาม ฮวิ๋นกุ ท่านได้สอนว่า ชะตาชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อนาคตเราต้องสร้างเอง คนทำดีชะตาก็ดี ทำชั่วชะตาก็ชั่ว เมื่อต้องการอนาคตดี ต้องทำดี ถ้าประกอบแต่ความไม่ดี แม้ชีวิตดีมาแล้วก็กลายเป็นร้ายได้

เหลี่ยวฝานได้เล่าคำทำนายของท่านผู้เฒ่าให้พระเถระฟัง ว่าที่ท่านทำนายไว้ถูกต้องแม่นยำมาตลอด ยังเหลือแต่สองข้อสุดท้าย คือจะไม่มีบุตร และสิ้นชีวิตเมื่ออายุ 50

พระเถระกล่าวว่า ให้ตั้งปณิธานว่าจะทำดีให้มาก สั่งสมบารมีให้มาก ไม่ยอมตนอยู่ในอิทธิพลของคำพยากรณ์ต่อไป บุญกุศลใดที่ทำด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ แม้กระทำครั้งเดียว ก็เท่ากับกระทำหมื่นครั้งทีเดียว

ท่านก็เชื่อพระเถระ ตั้งหน้าทำแต่ความดีงาม สำรวจความดีความชั่วของตนเองว่า วันหนึ่งๆ ทำความชั่วอะไรบ้าง ความดีอะไรบ้าง แล้วพยายามลบความชั่วด้วยความดีเรื่อยๆ จนมีความดีเพิ่มมากขึ้น แล้วท่านก็ชนะชะตาชีวิต คือได้บุตรชายคนหนึ่ง เมื่อถึงอายุ 50 ปี ก็มิได้ตายดังคำทำนายของผู้เฒ่าข่ง อยู่มาถึงอายุ 69 ปี

ท่านจึงแน่ใจว่า คนเราถ้าไม่ขวนขวายพยายาม ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของฟ้าดิน แต่กรรมเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดอย่างแท้จริง นั่นคือเราต้องสร้างอนาคตของเราเอง คนที่พยายามพึ่งตัวเองด้วยการกระทำแต่ความดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมอยู่เหนือโชคชะตา ถ้าใครคิดว่าชีวิตถูกลิขิตมาอย่างใดก็ย่อมเป็นอย่างนั้น แก้ไขไม่ได้เลย ผู้นั้นถึงจะเป็นคนคงแก่เรียนเพียงใด ก็นับว่าโง่อยู่นั้นเอง

ศาสนธรรม“กฎแห่งกรรม”


--------------------------------------------------------------------------------

ศาสนธรรม “กฎแห่งกรรม”




๑) กฎแห่งผู้รับกรรม หรือกฎแห่งการเลือกรับ


ผู้มีพลังจิตสูงสามารถเลือกรับกรรมต่างๆ ได้ เช่น เลือกรับกรรมดี เลือกหนีกรรมชั่วได้ แต่สามารถทำได้ชั่วคราว จนกระทั่งกรรมนั้นได้รับการเสวยวิบากจนหมดไป ก็จะไม่อาจเลือกได้อีก เช่น เราเคยทำบุญจะได้เป็นคนมีเงินมาก เมื่อเราตั้งจิตรับแต่บุญเราจะรวยต่อเนื่องไม่จนเลย จนกระทั่ง จิตเราตก ความคิดเราเปลี่ยน กรรมก็จะเข้ามาทำให้เราจนได้ แต่ถ้าเราประคองจิต ด้วยพลังจิต ก็จะสามารถทำให้กรรมดีหนุนให้เรารวยต่อไปได้ จนกระทั่งหมดบุญไม่เหลือเลย ก็จะไม่สามารถรวยได้อีก จนถึงขั้นตกสู่ภพเปรตเพราะไม่เหลือบุญเลยก็มี วิธีการเลือกรับแบบนี้ เป็นหลักการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “คิดแง่บวก” หรือ “พลังแห่งการคิดบวก” ที่มักสอนให้เราคิดแต่สิ่งดีๆ แล้วมันจะนำสิ่งดีๆ มาให้เราได้ ซึ่งก็จริง แต่ไม่ตลอดไป ทุกสิ่งมีเกิดดับ บุญของเราก็มีวาระเกิดขึ้น, ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะนานขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องมีวันดับไป เราสามารถเลือกรับกรรมดีหรือกรรมชั่วที่เราเคยก่อไว้อันไหนก่อนก็ได้ หากเลือกรับกรรมดีก่อนแล้วเอามาทำดีต่อยอดเพื่อปลดเปลื้องกรรมเลว เรียกว่า “วิถีกวนอิม” โปรดสังเกตว่าลูกศิษย์เจ้าแม่กวนอิม ผู้นับถือเจ้าแม่กวนอิมมักเกิดมารวยก่อน มักมีอาชีพค้าขายร่ำรวยก่อน และมักนิยมเอาเงินมาสร้างศาลเจ้า เป็นต้น แต่หากเลือกรักกรรมชั่วก่อน แล้วพิจารณาให้แจ้งให้ธรรม จึงค่อยเบิกบุญมาใช้บำเพ็ญบารมีภายหลัง แบบนี้ เรียกว่า “วิถีศรีอาริยเมตตรัย” โปรดสังเกตว่าไชน่าทาวน์ก็ดี หรือชาวจีนที่นับถือพระโพธิสัตว์ก็ดี ส่วนหนึ่งมักมีประวัติการอพยพไปอยู่ที่อื่น และทำงานต้องอย่างหนักจนสร้างครอบครัวร่ำรวยได้ อนึ่ง คนจีนที่อพยพมาสร้างความเจริญให้ทั่วโลกเหล่านี้ ล้วนเดินวิถีศรีอาริยเมตตรัยทั้งสิ้น และเป็นลูกศิษย์ของพระศรีอาริยเมตตรัย พระโพธิสัตว์ทั้งสององค์ สร้างความเจริญให้แก่โลกแบบตรงข้ามกันอย่างสมดุลอย่างนี้

๒) กฎแห่งตัวกระทำ หรือกฎแห่งการเลือกปฏิบัติ

กรรมทุกกรรมต้องมีผู้กระทำ และผู้รับผลการกระทำนั้น กรรมจึงจะสมบูรณ์ เมื่อวิบากกรรมย้อนกลับมาสนองผลกรรม จะต้องมีตัวกระทำ เป็นผู้กระทำเสมอ แต่ตัวกระทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้ากรรมนายเวร ถ้าเจ้ากรรมนายเวร อโหสิกรรมแล้ว เขาก็จะพ้นจากการเป็นตัวกระทำกรรม เขาก็ไม่ต้องทำกรรมซ้ำย้อนกลับไปมาอีก แต่จะมีผู้อื่นมาทำหน้าที่เป็นตัวกระทำแทน เช่น นาย ก ถูก นาย ข ฆ่าตาย ชาติต่อมา นาย ก ต้องมาฆ่านาย ข บ้าง แต่เพราะเหตุว่านาย ก อโหสิกรรมไว้ตั้งแต่ชาติที่ถูกฆ่า ดังนี้ นาย ข จะจะถูกผู้อื่นฆ่าแทน นาย ก ก็ไม่ต้องทำกรรม ไม่ต้องลงมือฆ่านาย ข นายก็อาศัยอานิสงค์จากอโหสิกรรม จึงพ้นจากวังวนกรรมที่เข่นฆ่ากันไปมานี้ได้ กรรมทุกกรรมต้องมีตัวกระทำ ปกติ ตัวกระทำ คือ เจ้ากรรมนายเวร ถ้าเจ้ากรรมนายเวรอโหสิกรรม ก็จะถูกจับคู่ใหม่

๓) กฎแห่งตัวกรรม หรือรอยกรรมรอยเกวียน

กรรมทุกกรรม จะมีการซ้ำรอยหลายชาติ จนกว่าจะหมดสิ้นกันไป เช่น นาย ก และ นาย ข เคยฆ่ากันมา ก็จะฆ่ากันไปฆ่ากันมา ชาติแรก อาจฆ่าเพราะเกลียดกัน ชาติที่สองอาจเบาลง คือ ฆ่าเพราะจำเป็น (เช่น เป็นเพชฌฆาต) ชาติต่อมาอาจฆ่าเพราะไม่เจตนา ชาติต่อไปอาจฆ่าเพราะเป็นอาชีพสุจริต (เช่น คนฆ่าหมู) และชาติต่อไปอาจฆ่าเพราะช่วยชีวิต (เช่น เป็นหมอพยายามช่วยชีวิตแต่สุดความสามารถ ช่วยไม่ได้) ซ้ำๆ อย่างนี้เป็นต้น เป็นร้อยๆ ชาติ เหมือนคลื่นน้ำ ระลอกแรกจะแรง แต่จะต้องมีอีกหลายระลอกกว่าจะหมดลง แต่จะจางลงไปเรื่อยๆ การที่เราจะรับวิบากกรรมใดๆ ก็ตาม จะต้องทำกรรมซ้ำรอยเกวียนเก่าก่อน เช่น เคยฆ่าคนตายมา ชาตินี้ต้องมารับกรรมที่เคยฆ่าคน เราก็จะต้องมีการฆ่าอะไรสักอย่างก่อน เช่น เผลอฆ่ามด ฆ่ายุง อย่างนี้ กรรมซ้ำรอยวิบากก็จะเคลื่อนทันที ถ้าเรามีศีลบารมีแข็งแกร่งมาก ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงกรรมได้ในชาตินั้น หากเจ้ากรรมนายเวรไม่คลายอาฆาตเรา ทำเราไม่ได้ เพราะเราไม่ซ้ำรอยกรรมเก่า เขาก็จะตามเราไปทวงในชาติต่อไปจนกว่าจะหนำใจ ถ้าเราเคยเกิดในชาติที่มีธรรมะ เราเลี่ยงได้ แต่บางชาติเราเกิดมาไม่พบธรรมะ ก็อาจก่อกรรมซ้ำรอยและต้องรับวิบากในที่สุด
๔) กฎแห่งความเป็นเอกเทศ

ความเป็นเอกเทศของกรรมคือ แม้ว่าเราจะก่อกรรมไว้กับใครก็ตาม แล้วใครคนนั้นไม่อาจมากระทำกรรมสนองกลับเราได้ เราก็ยังต้องรับกรรมนั้นๆ อยู่ดีจากผู้อื่น เช่น หากเราเคยทำบุญไว้กับพระอรหันต์ เมื่อพระอรหันต์นิพพานแล้ว จะไม่เกิดอีก ท่านจะมาทำดีสนองกลับเราไม่ได้ เรามีเอกเทศจากพระอรหันต์รูปนั้น ที่จะรับกรรมดี รับผลบุญจากผู้อื่นได้ นี่คือ กฎแห่งความเป็นเอกเทศของกรรม ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้เจ้ากรรมนายเวรมารับหรือสนองผลกรรมต่อกันเสมอไป ยกเว้น บุคคลนั้นได้ผูกจิตไว้ ก็จะต้องมาเป็น “ตัวกระทำ” หรือ เจ้ากรรมนายเวร คอยคุมกระบวนการกรรมนั้นๆ จนกว่าจะครบกระบวนการ เช่น ถ้านาย ก ทำบุญแล้วอธิษฐานไว้ว่าขอผลบุญนี้จงเป็นไปเพื่อได้เป็นคู่กับนาง ข ก็จะต้องตามนาง ข ไปเป็นคู่กัน หนีไม่ได้ เปลี่ยนไมได้ เพราะจิตผูกไว้ แต่ถ้าไม่อธิษฐานอย่างนั้น ก็ไม่ต้องไปเกิดตามกัน เป็นอิสระต่อกัน ต่างคนต่างก็รับผลบุญที่ตนทำนั้นแยกส่วนกันไป หรือการอาฆาตกัน เช่น นาย ก ถูกนาย ข ฆ่า จึงอาฆาตนาย ข ไว้ อย่างนี้ ก็จะต้องตามมาฆ่ากันในฐานะเจ้ากรรมนายเวร ถ้านาย ก ไม่อาฆาตนาย ข นาย ก ก็ไม่ต้องตามมาเกิดเพื่อชำระกรรม ผู้อื่นที่มีกรรมต้องกระทำการฆ่า จะเข้ามาฆ่าแทนเอง

๕) กฎแห่งการพัวพัน

กรรมที่ทำร่วมกันสามารถพัวพันกันได้ด้วยการที่จิตยึดมั่นถือมั่นระหว่างทำกรรมร่วมกัน เช่น ชาวบ้านร้อยคนศรัทธา พระ ก จึงร่วมกันสร้างวัดขึ้นร่วมกัน อย่างนี้ เป็นกรรมพัวพัน ส่งผลให้ทั้งหมดต้องไปเกิดเสวยบุญร่วมกันได้ เช่น เกิดมาเป็นมนุษย์มีงานทำได้อยู่ในแผนกเดียวกัน มีพระ ก เป็นเจ้านาย เสวยบุญชั่วระยะหนึ่ง จนหมดบุญกรรมต่อกันแล้ว ต่างก็จะแยกย้ายกันไป นี่เป็นเพราะจิตได้ยึดมั่นถือมั่นกันไว้ด้วยพลังศรัทธา จึงได้เกิดมาเป็นเจ้านาย ลูกน้องกัน แต่ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นกันด้วยศรัทธาแล้ว ก็จะเป็นเอกเทศกันไป ต่างไปเสวยบุญของใครของมัน แม้จะคล้ายกันก็ตาม เช่น เป็นพนักงานในสาขาอาชีพเดียวกันแต่อยู่ในบริษัทคนละบริษัทก็ได้ จะเห็นได้ว่า กรรมทุกกรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่เราเคยก่อกรรมร่วมกันมา มาสานกรรมร่วมต่อกันอีกก็ได้ ต่างเป็นเอกเทศต่อกันที่จะรับกรรมกันไป ยกเว้นว่าได้ผูกพัน ผูกมัด ศรัทธาร่วมกันไว้ จึงจะพัวพันกันไปหลายชาติ ในศาสนาพราหมณ์สอนให้ศรัทธาตรงต่อเทพเจ้าให้เหนียวแน่น เพื่อการเวียนว่ายตายเกิดจะได้ไม่ห่างหายหลงแตกแยกกลุ่มกันไป ก็จะสามารถช่วยเหลือกันได้ต่อไป แต่คนที่ศรัทธาผิดคนก็จะหลงนาน กว่าจะเลิกศรัทธาคนผิด มาตรงทางได้ ก็ต้องเกิดมากหลายชาติ คนที่ศรัทธามั่นตรงก็จะพัวพันกรรมดีช่วยเหลือกันไปตามกฎแห่งการพัวพัน การศรัทธากันนี้ จะเริ่มจากแค่ศรัทธาธรรมดา จนถึงขั้นปรารถนานิพพานในศาสนาของผู้นำของตนทีเดียว เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ผู้นำต้องช่วยผู้อื่นให้นิพพานเท่านั้นจึงพ้นจากกันได้

๖) กฎแห่งอโหสิกรรม

บุคคลที่กระทำกรรมต่อกันจะหลุดพ้นจากกรรมที่พัวพันกันได้ด้วยการอโหสิกรรมต่อกัน แต่เมื่ออโหสิกรรมต่อกันแล้ว ใช่ว่าไม่ต้องรับกรรม ต่างคนต่างต้องได้รับกรรมที่ตนก่อตัวใครตัวมันเป็นเอกเทศ แต่เขาจะไม่ก่อกรรมซ้ำรอยเกวียนอีกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น นาย ก กับนาย ข ฆ่ากันมา ต่อมาทั้งคู่อโหสิกรรมต่อกัน ทั้งคู่ไม่ต้องเกิดมาฆ่ากันไปมาอีกแล้ว แต่ทั้งคู่ยังต้องรับผลกรรมที่เคยฆ่ากัน ผู้อื่นมาฆ่าเขาทั้งสองแทน เมื่อเขาอโหสิกรรมแล้วไม่อยากฆ่าใครอีก ไม่ฆ่าเขาตอบ ก็จะรับกรรมหลายชาติ จนเบาบางไปเรื่อยๆ จนหมดในที่สุด นี่คือ จุดจบของกรรมอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องมีกรรมนี้อีกด้วยอโหสิกรรม
๗) กฎแห่งนิพพานกรรม

กรรมบางอย่างจะหลุดพ้นไปได้ด้วย “นิพพาน” เท่านั้น เช่น กรรมที่เกิดจากการปรารถนานิพพาน เช่น การปรารถนานิพพานแบบพระพุทธเจ้า, แบบพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือการขอเป็นพระอรหันตสาวกของผู้หนึ่งผู้ใด กรรมดีหรือชั่วก็ตามที่ทำด้วยความปรารถนานี้ ไม่อาจหลุดพ้นกันได้ ไม่อาจตัดขาดกันได้ด้วยอโหสิกรรม ต้องนิพพานจากกันเท่านั้น
๘) กฎแห่งการลากรรม

กรรมบางอย่างหมดได้ด้วยการ “ลากรรม” เช่น การอธิษฐานลาพุทธภูมิ เช่น เทวดาผู้น้อยได้เห็นพระพุทธเจ้าก็อยากเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานปรารถนาพุทธภูมิ จะเป็นอย่างพระพุทธเจ้าไว้ โดยไม่ได้ทำบุญอะไรเลยในขณะอธิษฐานนั้น แบบนี้ คือ “ความหลง” ไม่รู้กำลังตน ไม่อาจตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ สุดท้ายต้องทำการ “ลาพุทธภูมิ” หรือ “ลากรรม” นั้นๆ ก็จะหลุดพ้นกรรมที่เกิดจากการอธิษฐานโดยไม่ได้ก่อกรรมหนักไว้ได้ สำหรับท่านที่อธิษฐานพร้อมก่อกรรมหนักไว้ ไม่สามารถลากรรมได้ด้วยวิธีนี้ การ “ลาพุทธภูมิ” จะไม่สามารถทำได้ แต่หากเพียรพยายามลาพุทธภูมิหลายชาติ แข่งกันกรรมหนักที่ต้องซ้ำรอยกรรมรอยเกวียนหลายชาติเหมือนกัน เมื่อรอยกรรมที่ลาพุทธภูมิมากกว่าเลยรอยกรรมที่ปรารถนาพุทธภูมิแล้ว ก็สามารถลาได้ และบรรลุเป็นพระยูไลที่มีกายและบารมีเฉกเช่นพระพุทธเจ้าได้แต่จะไม่ตรัสรู้บนโลกมนุษย์ ดังนั้น ผู้ที่เคยอธิษฐานไว้แต่ไม่มีกรรมหนักรองรับ เพียงแค่ “การลากรรม” ก็พ้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา