วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ระวังเนื้อปลาแซลมอน‏

จากบรรณาธิการ sarakadee.com






ผมเป็นคนชอบกินปลาครับ

ปลาในดวงใจที่ชอบก็คือปลาจะละเม็ด ปลาทู และปลาแซลมอน

จำได้ว่ากินปลาแซลมอนครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนในต่างแดน อาหารเย็นมื้อนั้นเพื่อนฝรั่งพาไปกินปลาแซลมอนรมควัน ผมยังนึกสงสัยอยู่ในใจว่า ปลาอะไรหนอ เนื้อสีส้มอมชมพูแสนสวย พอได้ชิมเนื้อปลาแล้วก็เริ่มติดใจในรสชาติขึ้นมา เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ยังหาโอกาสกินปลาแซลมอนบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก เพราะตอนนั้นราคาปลาแซลมอนในเมืองไทยจัดว่าค่อนข้างแพง

นาน ๆ ครั้ง เพื่อนพาไปกินอาหารญี่ปุ่น อันดับแรกที่ต้องสั่งคือซาชิมิปลาแซลมอนจิ้มวาซาบิ เพื่อนสั่งปลาดิบมาให้กินกี่จาน ๆ ก็กินหมดจนพุงกาง หากวันไหนเพื่อนพาไปร้านอาหารฝรั่ง ก็จะต้องสั่งปลาแซลมอนรมควัน จนกลายเป็นอาหารจานโปรดไปเสียแล้ว

เพื่อนผมเคยบอกว่า สงสัยชาติที่แล้วผมคงเกิดเป็นหมีสีน้ำตาลแถวอะแลสกา ที่ชอบกินปลาแซลมอนตามลำธารเวลาที่มันอพยพขึ้นมาวางไข่

ผมชอบกินปลาแซลมอนเพราะเนื้อไร้กลิ่นคาว เวลาเคี้ยวก็รู้สึกได้ถึงความลื่นมัน ได้รสธรรมชาติแสนเอร็ดอร่อย และต้องกินแบบไม่ปรุงแต่ง ถ้าเอาปลาไปนึ่งหรือทอด รสชาติก็สู้กินแบบดิบ ๆ ไม่ได้

จนกระทั่ง ๔-๕ ปีให้หลัง ผมสังเกตเห็นว่ามีการนำเนื้อปลาแซลมอนเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรามากขึ้น ราคาก็ไม่แพงเหมือนในอดีต สมัยก่อนอาจมีจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำไม่กี่แห่ง แต่ตอนนี้ตลาดติดแอร์แทบทุกแห่งจะมีเนื้อปลาแซลมอนวางขาย เคียงคู่กับเนื้อปลากะพง ปลาเก๋า ในราคาไม่แตกต่างกัน และดูเหมือนว่าจะถูกกว่าเนื้อปลาจะละเม็ดเสียอีก

กล่าวคือเนื้อปลาแซลมอนที่เคยขายกันกิโลกรัมละ ๗๐๐-๘๐๐ บาท บัดนี้เหลือเพียงกิโลกรัมละ ๓๐๐-๔๐๐ บาท ขณะที่เนื้อปลาจะละเม็ดขนาดใหญ่ยังคงยืนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ ๔๐๐-๕๐๐ บาทขึ้นไป

เมื่อเห็นว่าปลาแซลมอนส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศทางยุโรป ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก วันไหนพอมีเวลาก็แวะซูเปอร์มาร์เกตซื้อปลาแซลมอนมากินเล่น พลางดูรายการสารคดีชีวิตปลาแซลมอนที่ต้องว่ายน้ำข้ามทะเลหลายพันไมล์เพื่อขึ้นมาวางไข่ออกลูกหลานที่ต้นลำธาร ดูแล้วก็นึกเอาเองว่าปลาแซลมอนที่เรากินคงต้องเป็นปลาที่พลานามัยแข็งแรงแน่ แถมยังอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมกา-๓ ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ อย่างนี้จะไม่ให้หลงใหลแซลมอนอย่างไรไหว

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมเหลือบไปเห็นบทความเกี่ยวกับปลาแซลมอนในวารสาร ecologist ฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ตาสว่างขึ้นทันที

ปลาแซลมอนที่เรากินก็คงไม่ต่างจากกุ้งกุลาดำในฟาร์มเลี้ยง ที่เราส่งไปขายเมืองนอกจนติดอันดับโลก คือถูกเลี้ยงให้เติบโตมาด้วยการใช้สารเคมีและอัดยาเยอะ ๆ

ปลาแซลมอนที่ส่งมาขายบ้านเราส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยงปลาในยุโรป ปลาแซลมอนเหล่านี้อุดมไปด้วยเชื้อโรค เจ้าของฟาร์มจึงต้องใส่สารเคมีและยาปฏิชีวนะลงในบ่อปลา เพื่อกำจัดแมลงรบกวนและเชื้อโรคหลายอย่าง

















ปลาแซลมอนในธรรมชาติมีเนื้อเป็นสีชมพู เพราะมันกินพวกกุ้งตัวเล็ก ๆ และพืชทะเล ปลาแซลมอนในฟาร์มก็มีเนื้อสีชมพูน่ากินเช่นกัน แต่เป็นเพราะมันกินอาหารปลาที่มีสารให้สีจำพวก astaxanthin และ canthaxanthin ชนิดเข้มข้น ซึ่งหากมนุษย์ได้รับสารเหล่านี้มากเกินไป อาจจะมีผลต่อระบบประสาทตา

นอกจากนี้ เนื้อของปลาแซลมอนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังยังอุดมไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีผลต่อการอุดตันของเส้นเลือด แถมยังมีกรดไขมันโอเมกา-๓ น้อยกว่าปลาแซลมอนในธรรมชาติถึง ๓ เท่า ดังนั้นหากบริโภคแซลมอนจากฟาร์มเหล่านี้มากเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดได้

ในสหรัฐอเมริกายังมีการวิจัยพบว่า เนื้อปลาแซลมอนจากฟาร์มเลี้ยงมีสารก่อมะเร็งที่มาจากอาหารปลาในระดับที่สูงกว่าปลาแซลมอนจากธรรมชาติถึง ๑๖ เท่า มากกว่าเนื้อวัว ๔ เท่า ไม่นับรวมว่าปลาแซลมอนบางตัวมีพยาธิทะเลอาศัยอยู่ด้วย

ทุกวันนี้การเลี้ยงปลาแซลมอนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะมีความต้องการที่สูงขึ้นทั่วโลก

เมื่อไทยส่งกุ้งกุลาดำตีตลาดยุโรป ฝรั่งก็ส่งปลาแซลมอนมาเป็นบรรณาการบ้าง

ทั้งสองล้วนเป็นอาหารยอดฮิต และอุดมไปด้วยสารเคมีชนิดต่าง ๆ

ปีใหม่นี้คงต้องบอกตัวเองให้รักปลาแซลมอนน้อย ๆ ครั้นจะเหลียวมามองปลาจะละเม็ด ก็อุดมไปด้วยฟอร์มาลีน

กลับมาหาปลาทูเพื่อนยากกันดีกว่า


วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
บรรณาธิการบริหาร
( vanchaitan@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา