วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ได้เวลาชกข้ามรุ่น‏


เรื่องจากปก จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 5 ฉบับที่ 213 ประจำวัน อาทิตย์ ที่ 28 มิถุนายน 2009

โดย ทีมข่าวรายวัน


ได้เวลา..ชกข้ามรุ่น

“การรณรงค์เพื่อลงประชามติ “โนโหวต-ไม่เอารัฐธรรมนูญเผด็จการ 2550” เกิดกระแสไปทั่วแผ่นดิน โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน”นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) กล่าวไว้ในหนังสือ “ชกข้ามรุ่น” ที่เรียบเรียงโดย “โลกวันนี้” ยืนยันถึงแนวทางการต่อสู้ของตนและคนเสื้อแดงว่า ไม่ใช่การเผชิญหน้าระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการและกลุ่มอำมาตย์ เพราะคนเสื้อแดงต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชน“การต่อสู้ของคนเสื้อแดงมีแต่คนเสื้อแดงด้วยกันจริงๆ เวลาพันธมิตรฯต่อสู้เขาเอาหลังพิงกองทัพ เอาหลังพิงอำมาตย์ เอาหลังพิงอำนาจนอกระบบ องค์กรอิสระต่างๆนานา แต่เสื้อแดงเราไม่มีใคร เราทำได้แค่เอาหลังพิงกัน แล้วสู้ด้วยกัน”

เสื้อแดงชุมนุมใหญ่

การชุมนุมของคนเสื้อแดงวันที่ 27 มิถุนายนที่สนามหลวงจึงถือเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกหลังเหตุการณ์สงกรานต์เลือด แม้จะชุมนุมไม่ยืดเยื้อ แต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนายณัฐวุฒิให้เหตุผลของการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ว่าอยู่ภายใต้จุดยืนหลักเหมือนเดิมคือต่อต้านระบอบอำมาตยาธิปไตย และขับไล่รัฐบาลชุดนี้ด้วยเหตุผลเป็นผลผลิตของระบอบอมาตย์ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง ระบุว่า จะระดมแดงทั้งแผ่นดินครั้งใหญ่อีกรอบให้มาร่วมเต็มความจุของสนามหลวง และถ้าเป็นไปได้ครั้งต่อไปจะนัดหมายกันใหม่ให้เต็มไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ครั้งที่ 3 จะให้ไปถึงกองทัพบก และครั้งที่ 4 จะให้ไปถึงทำเนียบรัฐบาล แต่ก็เตือนรัฐบาลและกลุ่มเสื้อน้ำเงินว่าอย่าใช้กลไกอะไรเพื่อสร้างสถานการณ์

“ทักษิณ” ปลุกไล่ “อภิสิทธิ์”

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โฟนอินไปที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่พัทยาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากอ้อนอยากกลับบ้านเพราะรู้สึกเหงาและเป็นห่วงประชาชนแล้ว ยังชักชวนคนเสื้อแดงให้ไปชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในวันที่ 27 มิถุนายนด้วย“ถึงเวลาทวงประชาธิปไตยคืนให้ประชาชนแล้ว ไม่รู้ว่าประเทศไทยไปทำเวรทำกรรมอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์ไว้ เพราะสมัยที่ประเทศเป็นหนี้ IMF ก็มาจากการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังจะไปกู้เงินมาอีก ซึ่งมากกว่าเดิมหลายแสนล้านบาท”

รัฐบาลอภิสิทธิ์สอบตกจึงไม่แปลกที่ผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ที่ประเมินผลงาน 6 เดือนของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะ “สอบตก” คือได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยแค่ 4.06 คะแนน จาก 10 คะแนน ขณะที่ผลงานของพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้เพียง 3.40 คะแนนนอกจากนี้เสถียรภาพของรัฐบาลก็ถูกมองว่าค่อนข้างง่อนแง่น เพราะนายอภิสิทธิ์แทบไม่มีอำนาจสั่งรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลได้เลย ตรงข้ามกลับถูกพรรคร่วมรัฐบาลต่อรองผลประโยชน์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีอำนาจต่อรองอย่างมากกับพรรคประชาธิปัตย์

“มหามิตร” ที่เปลี่ยนไปแม้แต่กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ว.สรรหา ที่ถือว่าเป็นเหมือน “มหามิตร” ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาท้าทายและกดดันรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยการประกาศจะล้มรัฐบาลหากอนุมัติโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน มูลค่ากว่า 60,000 ล้าน นอกจากนี้การลงมติคว่ำร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ด้วยคะแนนเสียง 58 ต่อ 33 งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ก็ถือเป็นการท้าทายและหักหน้ารัฐบาลอย่างชัดเจน!จะเป็นเพราะผลงานของรัฐบาล หรือพฤติกรรมของพรรคร่วมรัฐบาล หรือเกมการเมืองของพันธมิตรฯที่ต้องแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองกับทุกพรรคหลังจากการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาแล้วก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นการตอกย้ำให้นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์รู้ว่าโอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ครบ 1 ปีคงแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะสามารถทำงานและต่อรองผลประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาลได้อีกนานแค่ไหน ขณะที่เสียง ส.ว. ส่วนใหญ่ที่เคยเป็นแรงหนุนสำคัญให้พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ก็ออกมาท้าชนและพร้อมจะเป็นฝ่ายค้านและคว่ำรัฐบาลนี่คือสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่ามหามิตรของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้มีความรู้สึกอย่างไร ขณะที่ผลงานของรัฐบาลก็สอบตก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลออก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.กู้เงิน 800,000 ล้านบาท และปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

“รัฐธรรมนูญ” ระเบิดเวลากระแสข่าวการยุบสภาจึงไม่ใช่แค่ข่าวลือแน่นอน เพราะทุกพรรคการเมืองต่างเตรียมตัวเพื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว แต่ที่มีปัญหาขณะนี้คือทุกพรรคการเมืองต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ได้สรุปไปแล้วว่าต้องการให้แก้ไขมาตราใดและประเด็นใดบ้างไม่ว่าจะเป็นประเด็นการยุบพรรคการเมือง การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค และการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว“ถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ไปไหนไม่ได้ จำต้องอยู่ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ไปแบบผีเน่ากับโลงผุ ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 2 ปีครึ่ง ก็ดูเชิงกันไปเรื่อยๆ และต้องประคับประคองกันไปให้ตลอดรอดฝั่ง”แหล่งข่าวที่อ้างเป็นคำพูดของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลให้ความเห็นกับสื่อ

โดยเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์พยายามดึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง เพราะหากใช้ระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวจะทำให้พรรคร่วมมีโอกาสชนะเลือกตั้งมากขึ้นโดดเดี่ยวประชาธิปัตย์ข่าวแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลนัดหารือกันเมื่อค่ำวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยไม่มีแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ร่วมด้วยนั้น แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะอ้างว่าตนกับนายอภิสิทธิ์ติดธุระก็ตาม แต่คงยากที่จะทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเหมือนเดิม แม้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะอ้างว่าเป็นการพูดคุยกันธรรมดา โดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สกลนคร เขต 3 ที่พรรคภูมิใจไทยแพ้พรรคเพื่อไทยขาดลอยแต่กระแสข่าวอีกด้านหนึ่งยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจพรรคประชาธิปัตย์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการจัดสรรเงินกู้ ซึ่งรายงานข่าวอ้างว่านายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้เตือนไม่ให้พรรคร่วมรัฐบาลทำอะไรผลีผลามในขณะนี้ เพราะถ้ากดดันพรรคประชาธิปัตย์มากไปอาจมีการประกาศยุบสภาขึ้นมา แต่ให้ประคองรัฐบาลไปจนกว่าการพิจารณางบประมาณจะเสร็จเรียบร้อย รวมทั้งเงินกู้ 800,000 ล้านบาทประชาธิปัตย์-เพื่อไทย

ขณะที่กระแสข่าวรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ทวีความรุนแรงมากขึ้นก็มีข่าวว่านายสุเทพได้มีการหารือนอกรอบกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดยนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม และประธานภาคกลาง โดยพรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยเพื่อยุติปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการกดดันและต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ แต่พรรคเพื่อไทยเสนอเงื่อนไขว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ที่มีภาพความเป็นคนกลาง ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่านายอภิสิทธิ์ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปแม้ข่าวดังกล่าวจะเป็นไปได้ยากเหมือนอย่างที่นายสุเทพออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยพบกับนายเผดิมชัย ทั้งไม่เคยคิดทรยศพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะเป็นคนไปเชื้อเชิญพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคให้เข้ามาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเองนับถอยหลังยุบสภาอย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะแตกหักกันในเร็วๆนี้ เพราะในส่วนของพรรคภูมิใจไทยก็มีการปูทางหาเสียงและหาเงินเข้าพรรคอย่างเปิดเผย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ระดมทุนและประชุมแกนนำพรรคเพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งแล้วเช่นกันส่วนพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯที่ถูกมองว่าจะเป็น “หอกข้างแคร่” ของพรรคประชาธิปัตย์ก็เดินหน้าเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้ เพราะแกนนำพันธมิตรฯเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องยุบสภาก่อนสิ้นปีนี้แน่นอนขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจกับการบริหารงานของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญได้อย่างเด็ดขาดทั้งที่ประชาชนให้โอกาส ส่วนตัวรู้สึกว่าในที่สุดคงจะไปไม่ไหว จึงไม่รู้ว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารได้อีกนานหรือไม่ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการสะสมความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลด้วยว่าจะเอาใจออกห่างเมื่อใดได้เวลา “ชกข้ามรุ่น”สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้จึงถือว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าการเมืองจะยังเป็นเบี้ยหัวแตกและแบ่งพวกแบ่งฝ่ายเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ตราบใดที่เงื่อนไขของวิกฤตไม่ได้ถูกแก้ไขหรือทำลายทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญร่างทรง คมช. หรือการพยายามรักษาอำนาจของกลุ่มอำมาตย์และเผด็จการในกองทัพ

แต่กระแสข่าวอีกด้านหนึ่งก็ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะวันนี้กลุ่มอำมาตย์และฝ่ายเผด็จการทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยต่างรู้ดีว่ากระแสของประชาชน โดยเฉพาะระดับรากหญ้าและคนชั้นกลางพร้อมจะออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องและทวงคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา อย่างที่คนเสื้อแดงประกาศจะชุมนุมใหญ่วันที่ 27 มิถุนายน และจะชุมนุมต่อไปอีก 3 ครั้ง โดยจะให้มีจำนวนผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้กลุ่มอำมาตย์และเผด็จการตระหนักว่าไม่สามารถใช้ “อำนาจลี้ลับ” หรือ “อำนาจพิเศษ” มาบงการประชาชนและใช้การยึดอำนาจเหมือนที่ผ่านมาที่สำคัญการต่อสู้ครั้งนี้คนเสื้อแดงอาจไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยว แต่มีความเป็นไปสูงว่าคนเสื้อเหลืองที่เคยต่อสู้กันมาอย่างเอาเป็นเอาตายอาจสร้างปรากฏการณ์ใหม่เพื่อประชาธิปไตยและประชาชน ด้วยการแตะมือกันเพื่อโค่นล้มกลุ่มอำมาตย์และเผด็จการที่มีอำนาจลับและอำนาจพิเศษรักษาผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องตลอด 77 ปีที่ผ่านมาเพราะวันนี้ประชาชนต่างรู้ดีว่าทำไมอำนาจไม่เคยอยู่ในมือประชาชนเลย ทั้งที่ทุกรัฐบาลก็อ้างว่าเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย แต่อำนาจที่แท้จริงกลับไม่ใช่ของประชาชน อีกทั้งยังต้องทนอยู่กับระบอบเผด็จการและวังวนอุบาทว์ครั้งแล้วครั้งเล่า

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระแสของคนเสื้อเหลืองหรือคนเสื้อแดง ต่างเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แม้จะเหมือนการ “ชกข้ามรุ่น” ที่แทบจะไม่เห็นชัยชนะเลยก็ตาม แต่หากประชาชนทุกคนลุกขึ้นสู้เหมือนอย่างคนเสื้อแดงในขณะนี้ แม้จะมีแค่มือเปล่าก็เชื่อว่ากลุ่มอำมาตย์และกลุ่มเผด็จการที่มีทั้งอำนาจและอาวุธมากมายคงไม่สามารถต้านทานกระแสประชาชนได้อย่างแน่นอน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5 ฉบับที่ 213 วันที่ 27 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 หน้า 4 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=3369

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา