วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

คำต่อคำ อำมาตย์ ชื่อ "ดร.สุเมธ " " มีคนมาวิพากษ์วิจารณ์ พระองค์ท่านก็นิ่งเงียบ อดทน‏

คำต่อคำ อำมาตย์ ชื่อ "ดร.สุเมธ " " มีคนมาวิพากษ์วิจารณ์ พระองค์ท่านก็นิ่งเงียบ อดทน



"ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการแห่งมูลนิธิชัยพัฒนา คือคนต้นเรื่อง ที่ทุกผู้คน-ทุกชนชั้น ล้วนอยากให้เล่า บันทึกไว้ในแผ่นดิน...ตามเส้นทางเสด็จฯ ทุกคำ ทุกบรรทัด จากนี้ไป พสกนิกรไทยชาวไทย ไม่อาจ ไม่อ่าน

@ "ดร.สุเมธ" เล่าเรื่องอาการพระประชวร
"พระองค์ท่าน พระชนมพรรษาตั้ง 80 พรรษากว่าแล้ว การที่ทรงพระประชวร ก็เป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งพระวรกายของพระองค์ท่านก็ผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก ทรงเสด็จฯเยี่ยมเยียนพสกนิกรอย่างมากมาย ผมได้มีโอกาสตามเสด็จฯมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 กว่า ๆ เป็นต้นมา เห็นว่าพระองค์ท่านทรงงานเกินกว่าภาวะร่างกายมนุษย์จะพึงแบกรับได้ พระวรกายของพระองค์ท่านก็ต้องสึกหรอเป็นธรรมดา"

"อย่างไรก็ตาม ในขณะที่พระองค์ท่านทรงมีพระวรกายแข็งแรง ทรงมองปัญหา วางแผน การแก้ปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว ทรงตั้งองค์กรที่จะรับงานไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น มูลนิธิโครงการหลวง มูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการพระราชดำริ และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

ทำให้มีองค์กรที่สามารถทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าระยะหลังพระองค์ท่านจะไม่ได้เสด็จออก แต่งานทั้งหลายก็ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่มีกระแสรับสั่งผ่านสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงเข้าเฝ้าฯบ่อยมาก ๆ และทรงรับพระราชกระแสรับสั่งมา ทำให้ในแง่งานไม่ได้หยุดลงเลย

@ "ทรงงานตลอดเวลา...แม้ประทับอยู่โรงพยาบาล"
แม้ว่าในขณะนี้ พระองค์จะประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช สมเด็จพระเทพฯ ก็ยังทรงเข้าเฝ้าฯ และกราบทูลฯถวายรายงาน บางงานพระองค์ท่านก็มีรับสั่งเพิ่มเติม
ในฐานะพระองค์ท่านทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ สถาบันน้ำ ท่านก็รับสั่งให้ข้อมูลตลอดเวลา ในโลกที่เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้า การสั่งราชการสมัยใหม่ สั่งงานที่ไหนก็ได้ และรูปแบบการถวายรายงาน ก็มีหลายช่องทาง ไม่จำเป็นต้องเสด็จฯให้เหนื่อยยากเหมือนสมัยก่อน และงานทุกอย่างพระองค์ท่านทรงหลับตาก็เห็นหมด

มีอยู่ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงโทรศัพท์สายตรงมาถึง ตอนนั้นก็ประมาณตีสอง ตีสาม ก็เคย แสดงให้เห็นว่าท่านทรงงานตลอดเวลา แต่ส่วนมากท่านจะทรงมีกระแสรับสั่งผ่านสมเด็จพระเทพฯ
ตัวอย่างคำแนะนำของในหลวง ตอนนั้นมีเรื่องการตั้งโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยงานอื่น พระองค์ท่านทรงเห็นว่าไม่ควรดำเนินการ แต่ได้ทรงอธิบาย ว่าทำไมพระองค์ไม่เห็นด้วย ผมก็แจ้งให้หน่วยงานนั้นยุติเสีย

@ "ทรงงานอย่างละเอียด...รอบคอบทุกพิกัด"
ท่านมีพระกระแสรับสั่งงานได้เฉพาะเจาะจง บางครั้งงานที่เราถวายรายงานก็ทรงทราบรายละเอียดมากกว่าเราที่อยู่ในพื้นที่ มีอยู่ครั้งหนึ่งพระองค์จะเสด็จฯที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เราไปนอนรออยู่ก่อนที่เวียงจันทน์ แล้วถวายรายงานเรื่องพิกัด ท่านก็มีพระกระแสรับสั่งผ่านศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัย กลับมาตอนสี่ทุ่ม ทรงมีรับสั่งว่า "พิกัดที่ส่งไป ผิดพลาดไปประมาณ 500 เมตร" เราซึ่งอยู่ในพื้นที่ ยังถวายรายงานได้ไม่ครบ แต่พระองค์ท่านประทับอยู่ที่วังยังทราบได้ ทั้ง ๆ ที่คณะทำงานขนระบบ GPS ไปกันเพียบ

พอรุ่งขึ้น...เข้าไปวัดใหม่ก็ปรากฏว่าผิดพลาดจริง ๆ เมื่อพระองค์ท่านประทับลงจากรถ ก็ทรงรับสั่งว่า "เห็นมั้ย...บอกผิด" นี่เป็นตัวอย่างว่าท่านทรงงานละเอียดมาก งานทุกแห่งท่านต้องทรงไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง

@ "ทรงพะวงกับงานโดยไม่คำนึงถึงพระวรกาย"
การทรงงานทุกอย่าง ท่านคิดแต่เรื่องคนอื่นตลอดเวลา ทรงเกรงใจคน ไม่ต้องการให้คนอื่นลำบาก บางคราวเสด็จออกโดยไม่แจ้งหมายกำหนดการล่วงหน้า ทรงทราบว่าจะมีคนมาคอยเฝ้าฯ จะลำบาก พวกเราก็ต้องคอยเก็งเอาว่าท่านจะเสด็จฯไหน เมื่อเสด็จออกถึงได้รู้กันตอนนั้น บางครั้งก็เก็งถูก บางครั้งก็ผิด แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อมเสมอ มีรถนำขบวนเตรียมไว้ทั้งซ้าย-ขวา ท่านเสด็จออกทางไหนก็พร้อม มีโอเปอเรชั่นวางไว้เลย

ครั้งที่แล้วที่เสด็จฯประทับโรงพยาบาล เพราะต้องผ่าตัดอีก 5 ชั่วโมง จะเสด็จฯถึงโรงพยาบาลศิริราช ทรงรับสั่งให้ทีมงานติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตามสถานการณ์พายุที่จะเข้าฝั่ง พระองค์ท่านทรงพะวงกับงาน โดยไม่คิดถึงพระวรกาย
ไม่ใช่ว่าเมื่อทรงพระประชวรแล้วจะหยุดทรงงาน ขณะนี้ก็มีหนังสือราชการ มีการลงพระปรมาภิไธย มีพระบรมราชโองการ ตลอดเวลา

"ผมคิดว่าเป็นเพราะความเกรงใจคนอื่น การประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ขณะนี้ทราบว่าพระอาการทั่วไปหายดีหมดแล้ว เหลือเฉพาะต้องประทับต่อเพื่อทำกายภาพบำบัด หากท่านเสด็จออกจากโรงพยาบาล ก็เกรงใจทีมแพทย์ การประทับโรงพยาบาลต่อเพื่อจะทำให้ทีมแพทย์มีความสะดวก...นี่ผมเดาเอาเองนะ เพราะท่านทรงคิดถึงคนอื่นตลอดเวลา แม้จะเสด็จฯไปหัวหิน ก็ทรงรอให้ถึงวันเปิดเทอม เพราะจะได้มีคนน้อย ๆ รถราไม่ติด ทุกเรื่องทรงคิดหมด"

ฝนตก แดดออก ทรงเสด็จออก ไม่เคยยกเลิกหมายกำหนดการ มีอยู่ปีหนึ่งน้ำท่วม ท่านเสด็จออกโดนแมลงกัดจนมีแผลที่พระบาท ท่านก็ยังมีรับสั่งงานต่าง ๆ ต่อ งานทุกอย่างท่านต้องทอดพระเนตร ทุกงานพระองค์จะทรงห่วงตลอด

@ "พระอามรมณ์ขันและคำเตือน"
"งานผมก็เคยถวายรายงานแล้วไม่ถูกพระทัย เพราะเราพลาด เราก็รู้ว่าเราต้องทำใหม่ มนุษย์คนไหน ไม่พลาดเลยตลอดชีวิต คนนั้นบ้าแล้ว บางคนทำผิดเท่าไร ไม่เคยเห็นความผิดของตัวเอง คนแบบนี้ พระพุทธเจ้าสอนว่า เป็นพวกบัวใต้น้ำ พระองค์ท่านทรงดุ เพื่อไม่ให้เราผิดพลาดอีก"

พระองค์ท่านเคยตรัสถามว่า จะอยู่ถึง 120 ปีด้วยกันมั้ย เราก็ตอบว่า ตอนนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็คง 108 ปี ...ทรงมีอารมณ์ขัน นอกจากนี้ทรงมีการเตือนพวกเราตลอดเวลา ว่าอย่าให้ตัวเองอ้วนเกินไป ให้มีวินัยในการประพฤติตัว ปีที่แล้วเราอายุ 69 ปี ก็ขอพร ท่านตรัสว่า "ให้กินน้อย ๆ"

"ทรงเตือนว่า เป็นนักพัฒนาต้องแข็งแรง เพราะต้องออกเยี่ยมเยียนประชาชน อย่าตามใจปาก พออิ่มก็หยุดได้แล้ว"

@ "ความทุกข์...ของพ่อ"
"เรื่องความทุกข์ ท่านไม่ทุกข์ แต่ก็ธรรมดาถ้าลูก ๆ ทะเลาะกัน พ่อ-แม่ก็ทุกข์...ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร ก็ลูกท่านทั้งนั้น ตามวิสัยพ่อ-แม่ รู้สึก Hurt ทั้งนั้น ถ้าลูกตีกัน ฉันใดก็ฉันนั้น พระองค์ท่านก็ทรงห่วง"
จะเห็นว่าเมื่อมีวิกฤต เป็นระยะ ๆ ท่านก็ทรงเตือนให้รักษาบ้าน รักษาเมือง ประเทศชาติเกิดอะไรก็ไปกันหมด ประเทศไม่สงบ ก็เดือดร้อนกันหมด ทรงเตือนให้มีสติ เอาสติกลับมา ทะเลาะกันก็เดือดร้อนกันทั้งคู่
"พระประมุขแห่งแผ่นดินเห็นอย่างนี้ ก็คงกลุ้มพระทัย แต่เราก็ไม่เคยทูลถาม แต่ก็สังเกตเห็น"

หลายฝ่ายจะให้ท่านทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ทำไม่ได้หรอก พูดอย่างนั้นเป็นการพูดกันตามอำเภอใจ แต่พระองค์ทรงมีทศพิศราชธรรม อยู่ข้อหนึ่งคือ อวิโรธนะ คือทำผิดไม่ได้ ต้องดูความเหมาะสม ถูกกฎหมายหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าอย่างไร ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ บางทีก็ไม่รู้เรื่อง

ตอนหนึ่งมีนักข่าวต่างชาติมาสัมภาษณ์ท่าน เรื่องพฤษภาทมิฬ ท่านรับสั่งว่า ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีก็มี รัฐบาลก็อยู่ จะให้ท่านออกมาได้อย่างไร ถ้าท่านออกมาก็จะถูกหาว่าเข้าข้างรัฐบาลได้ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายควบคุมกันไม่ได้ แล้วมีคนตาย ท่านก็ออกมา ท่านจะทรงทำอะไร ไม่ทำอะไร เป็นเรื่องที่ยากมาก ท่านมีกรอบ มีคนมาวิพากษ์วิจารณ์ท่าน พระองค์ท่านก็นิ่งเงียบ อดทน ไม่เหมือนเรา ใครด่า เราก็ด่าตอบ แต่ท่านทรงทำอย่างนั้นได้ที่ไหน

@ "ในหลวงเป็นนักบุญที่มีชีวิต"
เรื่องที่วิจารณ์เปรียบเทียบกันว่า สถาบันของไทยไม่เหมือนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ประเทศอื่น ก็ใช่ ของเขาก็ของเขา ไม่เหมือนของเรา เปรียบเทียบกันไม่ได้ ผมก็เคยพูดไปว่าไม่เหมือนกันระหว่างเมืองไทยกับประเทศอื่น ก็มีคนหาว่าผมเล่านิทานโกหก

สถาบันของเราถวายคำว่ามหาราช ท่านก็ยังไม่รับ พระองค์ท่านเป็นนักบุญที่มีชีวิต ตลอด 63 ปี ท่านทรงงานตลอด ท่านทรงทำอะไรไม่ดีต่อแผ่นดินบ้าง
พระองค์ท่านเหมือนพระ ท่านทำเพื่อทำ ท่านเคยตรัสว่า "ฉันใช้ระบบสังฆทาน ทำไปโดยไม่เจาะจงว่าเพื่อใคร" หาอย่างนี้ไม่ได้แล้ว

เด็กรุ่นใหม่ เขาอาจจะไม่เคยสัมผัส ทั้ง ๆ ที่สื่อก็ออกมามากมาย แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป เพราะไปศึกษาในโลกตะวันตก ก็มีค่านิยมอีกแบบ ที่สุดก็ถูกครอบงำโดยตะวันตก จนลืมรากเหง้าตัวเอง เด็กรุ่นใหม่ก็คิดเรื่องเงินตัวเดียว ทำงานก็เพื่อเงิน ต้องรวย คุณธรรมช่างหัวมัน ทัศนคติเด็กที่คิดเรื่องคอร์รัปชั่น บอกว่าขอให้สะดวกสบาย มีการบริการ ไม่แยกแยะ เรื่องดีเรื่องไม่ดี


@ "เมื่อถูกอ้าง...จะให้ทำอย่างไร"
เรื่องที่ถูก "อ้าง" คนใกล้ไม่ได้อ้าง คนอ้างไม่ได้ใกล้นั้น "ดร.สุเมธ" ต้องถอนหายใจหลายครั้ง กว่าจะเริ่มตอบอย่างมีคำถาม

จะให้ทำอย่างไร...แต่เราก็ไม่เคย ถ้าพระองค์ไม่เรียกก็ไม่เข้าเฝ้าฯ เรียกหาก็เข้าเฝ้าฯ เรื่องอ้าง เรื่องข่าวลือ มันมีมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว สมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีเรื่องหยุมหยิม เรื่องมูลฝอย ผมเคยอ่านหนังสือสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งว่า "เลิกนินทากันซะทีเถอะ" ขอให้พอทีเถอะ ข่าวโกหกคนโง่ก็เป็นเหยื่อ คนฉลาดฉุกคิดได้ก็รอดไป เป็นเรื่องมนุษย์ บ้านเมืองวุ่นวาย เหมือนเชื้อโรค ย่อมมีอยู่รอบตัวเรา สำคัญว่ามีคนเชื่อหรือเปล่า...ทำไมถึงเชื่อกันง่าย

เมื่อสถาบันถูกกระทบกระเทียบ จากฝ่ายต่าง ๆ "ข้าแผ่นดิน" ที่ตามรอยเส้นทางเสด็จฯ ยังคงก้มหน้าก้มตา เดินตามทางแห่ง "พ่อ" ของแผ่นดิน
ก็ต้องทำหน้าที่ ไปสอน ไปอบรม ไปพูด คนตีกันก็ห่วง พอห้ามตีกันก็โดนด่ากลับมา ผมไม่เข้าใจคนในสังคมนี้ เราบอกให้สงบ เลิกทะเลาะกัน ก็ด่าเราอีก

@ "ดร.สุเมธ-คนกลาง อำมาตย์ 100 เปอร์เซ็นต์"
"ผมเป็นอำมาตย์ 100% ในชีวิตไม่เคยทำอะไร นอกจากเป็นข้าราชการ อำมาตย์ก็คือข้าราชการ มียศ มีศักดิ์ ใช่...แล้วไง แล้วตอนบ้านเมืองจนมุม ก็มีแต่พวกอำมาตย์กู้ชาติ ถ้าผมตายก็ตาย ไม่รู้จะเตือนอย่างไร จำนวนคนอวิชชามันเยอะ ถ้าเขาฟังก็ฟัง เขาด่าเราก็ไม่ด่าตอบ ทำตามบทบาทหน้าที่ ทำได้เท่านี้ แล้วก็ทำไม่เคยหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก็ทำงาน"

ถ้าจะให้เตือน มีอย่างเดียวคือ ไม่ต้องห่วงใคร ถ้ามีสติ ห่วงตัวเองเท่านั้นแหละ ถ้ามีสติ จะรู้ตัวว่าตัวเองยืนอยู่ตรงไหน หรืออยากจะเป็นคนอพยพ อยากอยู่ที่โน่น ที่นี่ ก็เชิญ ผมอยากอยู่ที่นี่ อยากให้ลูกหลานอยู่ที่นี่ ใครจะสร้างรัฐใหม่ ไปอยู่รัฐใหม่ เราไม่ไป เราจะอยู่รัฐเก่านี่แหละ

คนที่เรียกร้องคนกลาง มาแก้ปัญหา เราก็สุดปัญญาจะอธิบาย คนกลางก็มีแล้ว มีหมดทุกอย่าง มีเครื่องมือครบ แต่ก็ไม่อยากจะซ่อมกัน ปล่อยให้เครื่องมือเสีย

เพราะฉะนั้น สื่อเองแหละที่ต้องทบทวนตัวเอง มีหน้าที่พร้อมมูล คนกลางพูดไปเถอะ ไม่มีมรรคผลหรอก คนกลางออกมา คนฟังก็อาจจะมี คนไม่ฟังก็อาจจะมี ถ้าสื่อจับมือกันกระหน่ำคนที่ทำผิด พักเดียวก็อยู่ ตอนนี้สื่อไม่มีเอกภาพ แต่ถ้าลองพร้อมใจกัน หยุดทำมาหากินสักพัก แล้วเห็นใครบ้า ๆ บอ ๆ ก็กระหน่ำให้อยู่...ขุดโคตรมาเลย รับรอง ทุกอย่างจะเข้าที่โดยเร็วที่สุด ดังนั้น สื่อนั่นแหละ คนกลาง

ผมคาดหวังในพลังของสื่อมาก ต้องนำมาใช้ในทาง positive ที่ผมพูดนี้พูดโดยบริสุทธิ์ใจ ผมเสนอว่าลองหยุดสัก 6 เดือน เป็นสื่อกู้ชาติ

@ "พระเจ้าอยู่หัว ท่านทำร้ายใคร...ไม่มี ท่านทรงอยู่เฉย ๆ"
ประชาธิปไตยเขาสอนหรือ ว่าให้อยู่เฉย ๆ เวลาเห็นคนโกง การมาตามประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นให้เขากินกันอย่างนั้นหรือ แล้วมาบ่นกันทำไม...น่าเศร้า

"โดนโจมตีว่าเป็นอำมาตย์ แล้วจะให้ผมทำอย่างไร ผมก็เป็นผม ผมเป็นอำมาตย์ ผมจะเจียระไนให้ดูว่า อำมาตย์คนนี้ทำอะไรบ้าง เป็นคนทำงานพัฒนาชนบท เคยออกรบ โดดร่มกลางป่า ก็อำมาตย์ทำทั้งนั้น ตอนนี้เป็นอดีตอำมาตย์ที่เกษียณ แต่ยังกินเงินเดือนอำมาตย์อยู่ รับเงินเดือนทุกเดือน ใครมาด่าเราก็ปลง เราไปช่วยเขาแท้ ๆ"

ในช่วงสองสามปีมานี้อำมาตย์โดนวิพากษ์วิจารณ์มากเป็นพิเศษ แต่ "ดร.สุเมธ" บอกว่า "ผมอยู่ตรงกลางจริง ๆ แดงก็ด่า เหลืองก็ด่า ทั้ง ๆ ที่อยู่ตรงกลางที่สุดแล้ว ผมก็ทำงานไป จะเอาอะไรไปตอบโต้ ใครเดือดร้อนก็ไปช่วย อย่าพะวงว่าจะโดนด่า พระพุทธเจ้ายังถูกนินทา โดนทำร้ายด้วย แล้วเราจะเหลืออะไร"

"คนที่พูดคำว่า จงรักภักดี คำที่ดีที่สุดคือ สติ เหนือสิ่งอื่นใด ทุกวันนี้สติหด หาย ขาด ถ้ามีสติ มีศีล มีปัญญา ฉลาดรอบคอบ ก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะฉะนั้น คนในสังคมต้องมีสติ อย่าขาดสติ จะให้เราเข้าใจที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา