วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำงานอย่างไรให้มีความสุข‏

ว.วชิรเมธี ทำงานอย่างไรให้มีความสุข


ว.วชิรเมธี

ว.วชิรเมธี ทำงานอย่างไรให้มีความสุข

สุดท้ายที่จะมาเทศน์ผ่านไทยรัฐออนไลน์ คือ ท่าน ว.วชิรเมธี พระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการเทศน์ในทุกหัวข้อ จนได้ฉายาว่าพระผู้รอบรู้ เพราะแทบไม่มีเรื่องอะไรเลยที่ ท่าน ว.ตอบให้กับสังคมไม่ได้ ที่สำคัญทุก ๆ คำตอบของท่านตอบด้วยธรรมะที่คติธรรมโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด...!!!

ศิลปะการทำงานให้มีความสุข

หัวข้อทำงานอย่างไรให้มีความสุขเป็นหัวข้อของอาตมา ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. ทำงานที่ใจรัก เพราะถ้าเราทำงานที่ใจรักทุก ๆ วันจะเป็นวันแห่งความสุข เราไม่ต้องรอว่าความสุขจะมาถึงเราวันเสาร์-อาทิตย์แต่ทุกวันที่เราทำงานจะเป็นวันแห่งความสุขของเราเพราะว่าเราทำด้วยความรัก

2. ทำงานทุกชิ้นให้เต็มที่ให้ดี เพราะเมื่อเราสร้างงาน งานจะย้อนกลับมาสร้างคน งานคือเวทีแสดง ออกซึ่งศักยภาพในการทำงานของเราทุกครั้งที่เราทำงานให้เต็มที่และทำอย่างดีที่สุด คนก็จะเห็นคุณค่าของเราว่ามีมากน้อยเพียงไร ดังนั้นเมื่อเราตั้งใจสร้างงาน งาน 1 ชิ้นก็จะย้อนกลับมาสร้างคน

3. ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสเพราะเมื่อเราทำงานด้วยความสุจริตก็ไม่ต้องมานั่งระแวงภัยที่จะตามมาในอนาคตซึ่งเกิดจากการตามจับผิด โดยหน่วยงานของทางการต่างๆ ถ้าเราทำวันนี้ให้ถูกต้องก็ไม่ต้องนั่งกังวลว่าวันวานมันจะผิด

4. เป็นนักประสานสิบทิศ อย่ามัวแต่ทำงานจนหลงลืมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีใครเก่งอยู่ได้คนเดียว แท้ที่จริงเราจะต้องอาศัยผู้ร่วมงานจากทุกฝ่ายอยู่เสมอ ดังนั้นอย่ามัวแต่ทำงานแต่จงทำคนด้วย เพื่อก่อให้เกิดสภาวะงานก็สำเร็จ ชีวิตก็รื่นรมย์ คนก็สำราญ งานก็สำเร็จ ใครทำงานได้อย่างนี้คน ๆ นั้นจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน จนกล่าวได้ว่า งานก็สำเร็จ ชีวิตก็รื่นรมย์
ถ้าไม่ได้ทำงานที่เรารักจะมีความสุขหรือเปล่า

ตอบได้อย่างนี้ ถ้าไม่ได้ทำงานที่เรารัก วิธีคิดที่ดีคือการมองเชิงบวก เวลาเจองานหนักก็ให้บอกตัวเองว่านี้คือการฝึกตัวเอง เวลาเจอปัญหาซับซ้อนก็บอกตัวเองว่ายิ่งปัญหาซับซ้อนเราก็ยิ่งได้เรียนรู้มากขึ้น เวลาเจอเจ้านายที่ละเมียดละไมเหลือเกินก็ให้บอกตัวเองว่า นายที่รอบคอบแบบนี้จะฝึกเราให้สมบูรณ์แบบ ฉะนั้นถ้าเรามองเชิงบวกให้เป็นถึงแม้เราจะไม่ได้ทำงานที่เรารักแต่เราก็จะมีความสุขเสมอ ในเมื่อไม่มีสิ่งที่เราชอบ เราก็ควรชอบสิ่งที่เรามี เพราะในโลกนี้ไม่มีใครได้อะไรอย่างใจหวัง และจะไม่มีใครพลาดหวังทุกอย่างไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทำมีแง่ดีแง่งามอยู่เสมอขอให้เรามองให้เห็น ถ้ามองเห็นเราก็จะเป็นสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

วิธีการมองเห็นทำอย่างไรถึงจะมองเห็นกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

คุณสมบัติที่จะเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุขนั้น มี 2 อย่าง

1. สังเกต สังเกตหาแง่ดีแง่งามของสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำอยู่ให้เจอ เช่น งานของพระอาจารย์เป็นงานที่ต้องเดินทางบ่อยมากไปเทศน์ไปสอนตลอด หลายคนก็บอกว่าเหนื่อยมาก ๆ ถ้ามาถามพระอาจารย์จะบอกว่ามันเหนื่อยก็จริงแต่มีความสุขมากเพราะได้เดินทางไปทั่วโลก ได้เจอผู้คน ได้พบภูมิประเทศใหม่ ๆ ได้สานสัมพันธ์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา ฉะนั้นในความเหนื่อยเราก็ได้เดินทางท่องไปทั่วทั้งโลก นี่คือแง่ดีแง่งาม แต่ส่วนใหญ่คนมักจะมองอยู่จุดเดียวมองแค่ว่าเรากำลังเหนื่อยหนักจริง ๆ เหนื่อยก็แค่ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ดีเมื่อพิจารณาจริง ๆ แล้วมันมีมากกว่า ให้เราสังเกตอย่างนี้ รู้จักสังเกต รู้จักพินิจ พิจารณา เราจะเห็นความแตกต่างเสมอ

2. สังเกตแล้วต้องสังกาให้ตั้งคำถาม ว่าเราจะสร้างสรรค์งานที่เราทำอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราถามว่า ทำไม ทำไม ทำไม... ก็จะเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาทุกครั้งไป กาลิเลโอก็ดี นิวตั้นก็ดี ประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะว่า เขาชอบตั้งคำถามว่าทำไม นั่นแหละเคล็ดลับในการทำงาน

ทำงานที่ชอบแต่เงินเดือนน้อยมองอย่างไรให้เป็นสุข

ถ้าเงินเดือนน้อยก็ต้องลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของเราทิ้งไป แทนที่จะไปเรียกร้องเงินเดือนให้สูงขึ้นกว่าจะได้ก็ช้ามาก ก็ใช้วิธีปรับวิธีในการบริโภคของเราลง ที่จะบริโภคต่างความอยาก ซึ่งเติมอย่างไรก็ไม่เต็มมาบริโภคตามความจำเป็น ดีกว่ามุ่งประโยชน์ใช้สอยอย่างมุ่งประโยชน์ใช้สวย ถ้าเราจับจ่ายใช้สอยในการถือหลักประโยชน์ใช้สวยมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่ถ้าเราถือหลักจับจ่ายใช้สอย คือจำเป็นแค่ไหนก็จับจ่ายใช้สอยแค่นั้น พอกินพอใช้ ถึงแม้ไม่รวยแต่ก็ไม่ถึงขั้นตกต่ำย่ำแย่ แทนที่เราจะเรียกร้องเงินเยอะ ๆ ทำไมเราไม่ลดหรือเปลี่ยนวิธีในการบริโภคของเราแทน บริโภคต่างตัณหาทำให้เรามีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ แต่บริโภคตามปัญญาถึงเงินไม่มากมายอะไรแต่เราก็มีความสุขตามสมควร...

วิธีการแก้ปัญหาในที่ทำงาน ทั้งโดนนินทา โดนแกล้ง

ให้ถือซะว่ามารไม่มีบารมีไม่เกิด เวลาที่เราทำงานต้องมีอยู่แล้วคนแกล้งคนไม่พอใจคนอิจฉาตาร้อนให้เราถือหลักว่า

1. มารไม่มีบารมีไม่เกิด

2. สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นกำไรเสมอ

3. อยู่ใต้ฟ้าอย่ากลัวฝน เกิดเป็นคนอย่ากลัวคำนินทา

4. ถูกชมก็เข้าท่าถูกด่าก็ไม่เลว เหล่านี้เป็นคติที่พระอาจารย์ใช้ทำงานอยู่เสมอ จึงสามารถรับมือได้ทุกกระบวนท่า

กว่าจะผ่านปัญหาไปได้ต้องฝึกฝนตัวเองอย่างไร

จะต้องทำตัวให้หนักแน่นดังแผ่นภูผา ลมมาพัดก็ไม่ปลิวไปตามลม ฝนสาดก็ไม่เปื่อยสลาย แดดส่องก็ไม่ละลายไปกับแสงแดด ฉะนั้นทำตัวให้หนักแน่นดั่งแผ่นภูผาเราก็จะอยู่ในทุกสภาวะของชีวิต

กรณีสำหรับคนที่ตกงานมีวิธีคิดอย่างไรไม่ให้เครียด

1. ต้องหางานทำ
2. หาแล้วไม่ได้ต้องสร้างงานขึ้นมา ตกงานได้แต่อย่างให้ใจตก เพราะถ้าใจตกชีวิตจะตกต่ำทันที ดังนั้นไม่ต้องเสียใจ คนที่ รวยที่สุดในโลกตอนนี้ สตีฟ จอบส์ ก็เคยตกงาน แต่ว่าเขาตกงานแล้วไม่ตกใจจึงลุกขึ้นมาสร้างบริษัทใหม่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จได้ ฉะนั้นเราตกงานได้แต่ไม่ได้หมายความว่าความรู้ความสามารถของเราตกไปด้วย มันยังอยู่กับตัวเรา ก็เอาความรู้ความสามารถที่อยู่ในเนื้อในตัวเราลุกขึ้นมาสร้างงานใหม่ ทำอย่างนี้แล้วเราจะประสบความสำเร็จได้ โอกาสยังคงมีเสมอสำหรับผู้ที่ไม่ปิดกั้นตัวเอง ต้องหาความรู้เพิ่มเติมให้ถือหลักพึ่งตนเองอย่ารอพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในบรรยากาศที่บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติการพึ่งตนเองสำคัญที่สุดเลย

ถ้ายังไม่ได้งานแล้วหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผิดหรือเปล่า

เอาวันเวลาที่ไปบนบานสานกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น มา พินิจ พิจารณาหาช่องทางทำกิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเราได้ในทางจิตวิทยาคือทำให้เราเคลิ้มๆแต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่แท้จริง พูดอีกอย่าง "หนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นยาทา การใช้ปัญญาเป็นยากิน" การรักษาโลกต้องใช้ยากิน การใช้ยาทาก็เป็นการรักษาแต่ภายนอก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถ้าศักดิ์สิทธิ์จริงประเทศไทยจะมีคนจนไหม ไม่มี... ประเทศที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดในโลกคืออินเดีย ปรากฎว่ามีประชากรกว่าร้อยล้านคนตกงาน นี้คือบทเรียนของการรอพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้นให้หันมาพึ่ง ลำแข้ง ลำขา สติปัญญาของตัวเองจึงจะดีที่สุด

น้อยใจทำงานมานานแล้วได้โบนัสน้อยกว่าที่หวัง มีวิธีคิดอย่างไร...?

ถ้าโบนัสไม่มาเอาเท่าที่มีก่อนก็ได้ มีคนอีกมากที่ตกงานแต่เรายังมีงานทำ มองเป็นก็จะเห็นธรรม แต่ถ้ามองไม่เป็นก็จะมาน้อยใจ เวลาที่เรารู้สึกแย่มองคนที่แย่กว่าเรา แล้วเราจะรู้สึกว่าเรายังได้เปรียบอยู่

ถ้าเป็นพวกที่บ้างานหนักจะทำอย่างไร

ต้องแสวงหาทางสายกลาง พวกที่เป็นโรค Workaholic ทั้งหลาย จะต้องแสวงหาทางสายกลางในการทำงาน การทำงานต้องประสานกับคุณภาพของชีวิตคือผลสัมฤิทธิ์ของมือทำงานระดับอาชีพ การทำงานประสานกับคุณภาพของชีวิตคือผลสัมฤทธิ์ของคนทำงานมืออาชีพ ฉะนั้นอย่างเป็นคนบ้างานจนหลงลืมคุณภาพของชีวิต จะต้องรักษาสมดุลของงานสมดุลชีวิตให้ลงตัวพอเหมาะพอดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา