วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ธรรมในงาน งานในธรรม‏

Subject: Fwd: ธรรมในงาน งานในธรรม


หลวงพ่อชา สุภัทโท

หลวงพ่อชา สุภัทโท พระวิปัสสนาจารย์ผู้ทำให้ดอกบัวบาน ในโลกตะวันตกอย่างหมดจดงดงาม เคยเล่าถึงตัวท่านเองในสมัยที่ยังใช้ชีวิตเป็นนักเรียนน้อยอยู่กับครูบาอาจารย์ว่า ท่านอุทิศตนเจริญจิตภาวนาแทบล้มประดาตาย เดินจงกรมจนทางเดินลึกเป็นร่อง นั่งสมาธินานจนปัสสาวะเป็นเลือด แต่อาจารย์คนหนึ่งของท่าน คือ หลวงปู่กินรี จันทิโย กลับมีปฏิปทาไปคนละอย่าง หลวงปู่ดูไม่ค่อยวุ่นวายกับจิตภาวนาชนิดเอาเป็นเอาตาย หลวงปู่ปฏิบัติสบายๆ นั่งสลับเดิน ทำอย่างนั้นนิดอย่างนี้หน่อย แล้วก็เปลี่ยนอิริยาบถไปบิณฑบาต กวาดลาน เย็บผ้า ซ่อมบริขาร มองอย่างผิวเผินเหมือนหลวงปู่ไม่สู้ให้ความสำคัญกับจิตภาวนาจนหลวงพ่อชาพลอยเข้าใจไปเองว่า
“เราประมาท คิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินานๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอนแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไรเล่า”
คิดเช่นนี้อยู่ไม่นาน พออยู่กับครูบาอาจารย์นานเข้าจึงเริ่มรู้สึก
“เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆ มากกว่าเราเสียอีก”
บทสรุปที่เปลี่ยนไปเกิดจากการได้ความรู้ใหม่ว่า การปฏิบัติธรรมกับรูปแบบในการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นคนละเรื่อง บทเรียนอันทรงคุณค่านี้เกิดขึ้นเมื่อหลวงปู่กินรีมอบหมายให้หลวงพ่อชาเย็บจีวรผืนเก่าคร่ำของท่านในวันหนึ่ง
“เราเย็บไม่หยุด อยากจะให้มันเสร็จเร็วๆ เดี๋ยวนั้น คิดว่าให้มันเสร็จ จะได้หมดเรื่องหมดราวไป จะได้ภาวนากัน”
แล้ววันหนึ่งหลวงปู่กินรีก็สังเกตเห็นความขะมักเขม้นของผู้เป็นศิษย์ จึงถามว่า
“ท่านจะรีบไปไหน”
“ผมจะรีบทำมันให้เสร็จ” หลวงพ่อชาตอบ
“เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร” หลวงปู่ถามอีก
“จะไปทำอันนั้นอีก”
“เมื่ออันนั้นเสร็จ จะไปทำอะไรอีกเล่า”
“ผมจะไปทำอันนั้นอีก”
อันนั้น – ของหลวงพ่อก็คือ การเจริญภาวนาอย่างเข้มข้น ชนิดวางชีวิตเป็นเดิมพัน ทั้งการเดินจงกรม การนั่งสมาธิ กำหนดจิตภาวนาอย่างไม่เห็นแก่ความหนาวเหน็บหรือความแผดเผาของกระไอแดด ความเมื่อยขบของกายสังขาร ท่านคิดแต่ว่าจะปฏิบัติจนลืมวันคืน ตายเป็นตาย ! แต่แล้วโลกทัศน์ของท่านก็เปลี่ยนไปเมื่อถูกหลวงปู่กินรีกระตุกอย่างแรง
“ท่านรู้ไหมว่าทำอย่างนี้แหละ (เย็บจีวร) คือภาวนา ท่านจะรีบไปไหนเล่า ทำอย่างนี้มันเสียแล้วนี่ มันเสียแล้ว ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านไม่รู้เรื่องของตัวเอง...”


ใช่แต่หลวงพ่อชาในวัยวันแห่งการแสวงหาเท่านั้นที่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้ พระฝรั่งหลายรูปที่ยอมทิ้งพยศ ลดมานะ ละทิฐิ มามอบตัวเป็นศิษย์ของท่านพุทธทาสภิกขุ ก็ดูเหมือนจะดูผ่านพบประสบการณ์มิต่างกันกับหลวงพ่อชาเมื่อคราพำนักศึกษาอยู่ ณ สวนโมขพลาราม ไชยา วันๆ แทนที่จะได้มีโอกาสฟังธรรมกถา เจริญจิตภาวนา แต่พระที่สวนโมกข์กลับทำงานทั้งวัน บางทีงานหนักไม่ต่างไปจากกุลี เพราะต้องคอยแบกอิฐ หิน ดิน ทรายไปสร้างเสนาสนะ ศาลาโรงธรรม บางรูปเกิดกังขา คอยรออยู่ว่าเมื่อไรจะได้ปฏิบัติธรรม ต่อเมื่อล่วงกาลผ่านไปได้สักระยะหนึ่งจึงรู้ว่าตัวเองโง่ไปถนัด ที่คิดเอาเองว่าการปฏิบัติธรรมคือการจำกัดตัวเองให้อยู่ในอิริยาบถนั่ง เดินอย่างเคร่งครัดเพียงเท่านั้น หารู้ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้ว “การทำงาน” นั่นเองคือตัวการ “ปฏิบัติธรรม” และคือเวทีแสดงออกของการ “ศึกษาธรรม” อย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด
การปฏิบัติธรรมกับรูปแบบในการปฏิบัติธรรมเป็นคนละอย่าง
บางคนคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการนุ่งขาวห่มขาว โกนศีรษะบวชเป็นพระ หรือบวชชีอยู่ในอาราม จำกัดอาหาร จำกัดกิริยาการ ถือวัตรปฏิบัติแผกจากคนทั่วไป นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ไปไม่ใช่ ไม่ผิดหรอกที่เข้าใจเช่นนี้ แต่ก็ไม่ถูกไปเสียทั้งหมดทีเดียว เพราะรูปธรรมของการเดินตามรอยพระบาทพระศาสดามีหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ก็ถ้าการปฏิบัติธรรมหมายเพียงการครองผ้ากาสาวพัสตร์ การโกนศีรษะบวชชี การมีศีลกว่าคนปกติหลายร้อยข้อ ถ้าเช่นนี้จะมีคนสักเท่าไรกันที่มีโอกาสในการปฏิบัติธรรม และพุทธธรรมที่มีไว้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อยจะมีความหมายอะไร
แท้จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมกับรูปแบบในการปฏิบัติธรรมไม่เหมือนกันเลย การปฏิบัติและสัมผัสกับธรรมอันเป็นสภาพสงบร่มเย็นเป็นสุข มิได้ถูกจำกัดหรือสงวนลิขสิทธิ์ไว้กับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ ทั้งไม่จำเพาะวิธีการให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากแต่การศึกษา ปฏิบัติ เพื่อเก็บรับซึมซับศานติสุขและอิสรภาพทางปัญญา ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยสมบัติของปัจเจกชนเป็นสำคัญ ทางเดินมีหลากหลาย สุดแต่ใครจะเลือกทางที่เหมาะกับตน ถ้าเหตุปัจจัยลงตัวอย่างพอดี ทุกคนก็ไปบรรจบกันที่โพธิปัญญาและพระนิพพานอันเป็นบรมสุขเสมอกัน
การศึกษา ปฏิบัติธรรม จึงเป็นเรื่องของการทำงาน เป็นเรื่องของการใช้ชีวิต เป็นเรื่องของคนทั่วไปในสังคมที่โลดแล่นอยู่ในโลกอันแสนวุ่นวายยุ่งเหยิง ชีวิตกับงานและการปฏิบัติจึงมิอาจแยกจากกัน หากจับหลักได้ อยู่ที่ไหนก็ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมกระทั่งสามารถบรรลุธรรมได้โดยมิต้องกังขา ปรัชญาที่ว่ามีธรรมอยู่ในงาน และมีงานอยู่ในธรรมนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุสรุปไว้สั้นๆ ว่า
“การทำงานคือการปฏิบัติธรรม”

ว.วชิรเมธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา