วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อันตรายจากการกินหอยนางรม‏

อันตรายจากการกินหอยนางรม



ก่อนอื่น ผมขอยกเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่งมาให้เพื่อนๆ อ่าน ก่อน ครอบครัวนี้ได้รับผลกระทบจากเชื้อ Vibrio Vulnificus โดยตรง แต่ผมขออนุญาตตัดเอาส่วนของชื่อและนามสกุลของผู้ที่ได้รับผลกระทบออกจากเนื้อหา ด้วยเกรงว่าเนื้อหาดังกล่าวที่ผมเอาลงไว้ที่บล็อก อาจจะทำให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจต่อบุคคลในครอบครัวของท่านผู้นี้

เรื่องราวเป็นดังนี้ครับระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2549 คุณหมอท่านหนึ่งเดินทางไปราชการที่ภาคใต้ ร่วมกับคณะของสถาบันพระปกเกล้า
ประมาณ 60 กว่าคนในวันศุกร์ที่ 26 ตอนค่ำมีการจัดเลี้ยงรับรองที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เลี้ยงอาหารสดจากทะเล

วันรุ่งขึ้นช่วงกลางวันคุณหมอท่านนี้เริ่มรู้สึกไม่สบาย ต้องย้ายไปเข้า Icu ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ต้องใช้ออกซิเจนช่วยการหายใจและใช้มอร์ฟีนแก้ปวด

วัันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม ต้องย้ายมาเข้า Icu ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้อนี้ชื่อ Vibrio Vulnificus มาจาการรับประทานหอยนางรมดิบ เชื้อที่เข้าสู่กระแสเลือดทำลายระบบต่างๆ ในร่างกายอย่างรวดเร็ว

คุณหมอถึงแก่กรรมในวันที่ 4 มิถุนายน 2549 ครอบครัวคุณหมอจะอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา แต่สภาพร่างกายของคุณ่ำแย่เกินกว่าที่ทางคณะแพทย ์จะรับเป็น "อาจารย์" เพราะอวัยวะภายในถูกทำลายอย่างมาก กินหอยนางรมสดเสี่ยงสุด ติดเชื้อทางกระแสโลหิต กระเพาะอาหาร-ลำไส้อักเสบ มีอันตราย ถึงตาย !!!!!!!!!!!! !!!!!





สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิง ได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ที่เกิดจากเชื้อกลุ่ม Vibrio ในประเทศไทย พบผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (gastroenteritis) จากการติดเชื้อ Vibrio parahaemolyticus สูงเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณปีละ 1,000 - 2,000 ราย สาเหตุจากการรับประทานอาหารทะเลสุก ๆ ดิบ ๆ
เชื้อในกลุ่มนี้อีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญและอันตรายมากที่สุดคือ Vibrio vulnificus เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ พบอัตราการป่วยตายสูงถึงร้อยละ 75 โดยธรรมชาติเชื้อนี้อาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย ผู้ป่วยจะได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารทะเลดิบ ที่สำคัญคือ หอยนางรม (จะก่อให้เกิดโรค เมื่อได้รับเชื้อปริมาณ 103 เซลล์ ในอาหาร 1 กรัม) และทางบาดแผลที่สัมผัสกับเชื้อในแหล่งน้ำ
เชื้อ Vibrio vulnificus ก่อโรคในคนได้ 3 ลักษณะคือ
1. การติดเชื้อที่บาดแผล (wound infection) เชื้อสามารถลุกลามอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดเนื้อเยื่ออักเสบ ผิวหนังมีอาการบวม ร้อนแดง เจ็บปวด อาจกลายเป็นตุ่ม จนเกิดอาการเนื้อเน่าตายของเนื้อเยื่ออ่อนใต้ผิวหนัง การติดเชื้อที่บาดแผล พบประมาณร้อยละ 45 และมีอัตราการตายถึงร้อยละ 50
2. เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ (septicemia) เชื้อสามารถเข้าสู่กระแสโลหิตโดยผ่านทางเยื่อบุทางเดินอาหารจากการรับประทานอาหารทะเลดิบ หรือผ่านทางบาดแผลจากการติดเชื้อที่บาดแผลนั้นเอง มีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำ อาจมีอาการอุจจาระร่วง อาเจียน อาการโลหิตเป็นพิษนี้พบประมาณร้อยละ 43 มีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 75
3. กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ จากการรับประทานอาหารทะเลดิบทำให้อุจจาระร่วง อาเจียน พบประมาณร้อยละ 12 อัตราการตายน้อยมาก
อาการรุนแรงในผู้ป่วยโลหิตเป็นพิษ พบว่า มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรัง เช่น ตับแข็ง ไวรัสตับอักเสบ รวมทั้งผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไตวายเรื้อรัง โรคเลือด เบาหวาน
การรักษา ยาที่ใช้คือ กลุ่ม tetracyclines โดยให้ร่วมกับ third-generation cephalosporin (เช่น doxycycline + ceftazidime หรือ minocycline + cefotaxime) และ fluoroquinolones เช่น levofloxacin, ciprofloxacin หรือ gatifloxacin รวมทั้งควรตัดเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เน่าตายทิ้ง ร่วมด้วย
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลดิบโดยเฉพาะหอยนางรม และการสัมผัสน้ำทะเลและน้ำกร่อยเมื่อมีบาดแผล
ลักษณะทางคลินิก
สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 2 กลุ่มได้แก่
- ภาวะโลหิตเป็นพิษ
พบในกลุ่มคนที่ป่วยด้วยโรคตับ ผู้ที่มีภาวการณ์สะสมธาตุเหล็กมากกว่าปรกติ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่ค่อยพบในคนทั่วไป ลักษณะทางคลินิก เริ่มจากครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ไข้ (ประมาณ 39.8 องศาเซลเซียส) หมดแรง อาจพบภาวะความดันโลหิตต่ำร่วมด้วย หลังจากเริ่มมีอาการประมาณ 36 ชั่วโมง บริเวณผิวหนังอาจ พบผื่นแดง ซึ่งสามารถพัฒนากลายเป็นจ้ำเลือด ตุ่มน้ำใหญ่ขึ้นตามลำดับ ส่วนใหญ่จะพบบริเวณขามากกว่าแขน พบอัตราตายประมาณร้อยละ 50 เนื่องจาภาวะโลหิตเป็นพิษ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมากกว่าภาวะเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น และเกล็ดเลือดต่ำ
- แผลติดเชื้อ พบในบุคคลทั่วไป ที่มีบาดแผลหรือรอยถลอก สัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อ Vibrio vulnificus อาศัยอยู่ อาการแสดงเริ่มต้นคือ บวม แดง ปวดรอบบาดแผล และพัฒนาเป็น Cellulitis จากนั้นอาจพบตุ่มน้ำ ขนาดเล็ก ใหญ่ หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังตาย ไข้ (ประมาณ 38.9 องศาเซลเซียส) การตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะพบภาวะเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น

- อาจพบอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง อาเจียน ได้บ้าง

แนะคนไทยควรกินหอยนางรมสุก แต่ไม่ควรกินบ่อย
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ตอกย้ำผู้นิยมเมนูหอยนางรมดิบคู่ยอดกระถิน ซดเหล้าแกล้ม เสี่ยงอันตราย แนะกินสุกดีกว่า แต่ไม่ควรกินบ่อย ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังมีเมนูสุดอันตราย “ไข่เจียวหอยนางรม ปลาหมึกยัดไส้หมูชุบไข่ทอด” เพิ่มไขมันโคเลสเตอรอล เสี่ยงไขมันอุดตันหลอดเลือดสูงมาก
นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการรับประทานอาหารของคนไทยในขณะนี้ว่า อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เมนูบางอย่างเสี่ยงเชื้อโรค บางอย่างเรียกโรคภัยเข้าหาตัวเองโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่ชอบกินหอยนางรม ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับหอยชนิดอื่น จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจุลินทรีย์ วิบริโอ พาราเฮโมไลติคัส และซาลโมเนลลา ต้นเหตุของโรคระบบทางเดินอาหาร มีอันตรายถึงชีวิตได้ ที่ผ่านมา มีคนไทยนิยมกินหอยนางรมดิบ ๆ คู่กับยอดกระถินสด หรือกินดิบแกล้มกับเหล้าเบียร์ เพราะมีความเชื่อว่ายอดกระถินดิบ กับแอลกอฮอล์จะไปฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในหอยได้นั้น ขอยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ วิธีปลอดภัยที่สุด ควรปรุงให้สุกก่อนไม่ว่าจะเป็นการต้ม ลวกสุก ๆ ผัด นึ่ง ย่าง และอบ ความร้อนจะทำลายเชื้อโรคให้หมดไปได้
นายสง่า กล่าวว่า ประการสำคัญ พบว่าผู้บริโภคจำนวนมากขาดความรู้เรื่องการกินอาหาร โดยเลือกเมนูอาหารที่เห็นแก่ความอร่อยให้รสชาติอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ โดยเฉพาะเมนูที่จะไปเพิ่มไขมันโคเลสเตอรอล ให้กับร่างกาย ซึ่งไขมันชนิดนี้เป็นต้นเหตุของโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เช่น สั่งเมนูไข่เจียวหอยนางรม และปลาหมึกยัดไส้หมูชุบไข่ทอด เมนูเหล่านี้ถือว่าเป็นเมนูสุดยอดอันตราย เพราะเป็นการรวมโคเลสเตอรอล มาไว้ในมื้อเดียวกันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีกว่า 7 ล้านคน จะมีอันตรายมาก เสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดและเสี่ยงอัมพาตจากโรคเส้นเลือดในสมองแตกเร็วขึ้น การกินหอยนางรมบ่อย ๆ จะเพิ่มโคเลสเตอรอลในร่างกายได้
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ พบว่าในหอยนางรมน้ำหนัก 100 กรัม ประมาณ 8-10 ตัว จะมีโคเลสเตอรอลสูงถึง 231 มิลลิกรัม ให้สารอาหารอื่น ๆ เช่น โปรตีนประมาณ 6 กรัม แคลเซียม 147 มิลลิกรัม ธาตุเหล็กประมาณ 6 มิลลิกรัม สังกะสี 7.6 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 36 มิลลิกรัม วิตามินเอ 113 หน่วยอาร์อี โดยปริมาณโคเลสเตอรอลในหอยนางรมนี้ ใกล้เคียงกับโคเลสเตอรอลในไข่ไก่ 1 ฟอง ซึ่งมีประมาณ 213 มิลลิกรัม ส่วนปลาหมึกทั้งตัวน้ำหนัก 100 กรัม จะมีโคเลสเตอรอลสูงประมาณ 250 มิลลิกรัม ขณะที่ร่างกายของคนเราต้องการโคเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา