วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันมาฆบูชาสำคัญอย่างไร?‏

วันมาฆบูชา


มาฆบูชา เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นวันเกิดพระธรรม ถือว่าเป็นวันที่ พระพุทธเจ้า ได้ประกาศ หลักธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ เพื่อให้พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มาประชุมกันในวันนั้น นำไปเผยแผ่
วั น "มาฆบูชา" เป็นวันบูชาพิเศษที่ต้องทำในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือในวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (ซึ่งโดยปกติทำกันในกลางเดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ เดือนแปดสองหน ก็เลื่อนไปกลางเดือน ๔ )
ถือกันว่าเป็นวันสำคัญ เพราะวันนี้ เป็นวันคล้ายกับ วันประชุมกันเป็นพิเศษ แห่งพระอรหันตสาวก โดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งเรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งได้มีขึ้น ณ บริเวณเวฬุวันมหาวิหาร หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลานับได้ ๙ เดือน วันนี้เอง ที่พระพุทธองค์แสดง "โอวาทปาฎิโมกข์" ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา


จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ

๑. วันนั้น เป็นวันมาฆปูรณมี คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย (สาเหตุของการชุมนุม)
๓. พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา คือ ได้ อภิญญา ๖
๔. พระภิกษุ เหล่านั้น ทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา)



โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน

๑. จุดหมายของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา)
๒. หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ต้องมีความอดทน ในการฝึกตนเอง เพื่อบรรลุจุดหมาย (ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา) ต้องประกอบด้วย
ก. ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ (สพฺพปาปสฺส อรกณํ)

ข. ทำความดี หรือสะสมกุศล ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย วาจา และใจ (กุสลสฺสูปสมฺปทา)

ค. การชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบสันติ เป็นอิสระ (สจิตฺตปริโยทปนํ)

๓. วิธีการที่จะบรรลุจุดหมาย คือ ต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง ให้เกิดมรรคสามัคคี คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ** รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๘ เกลียว หรือให้มี ศีล สมาธิ และปัญญา รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๓ เกลียว พัฒนากาย วาจา ใจ ให้พูดดี ทำดี คิดดี ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โมสะ โมหะ ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา หรือความใคร่ ความอยากมี อยากเป็น แบบมืดบอด ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่มันเป็นไปไม่ได้ เช่น ไม่อยากเป็นคนเสื่อมลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้.

ก. ฝึกวาจา ระวังเสมอ มิให้กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ (อนูปวาโท)
ข. ฝึกกาย ระวังเสมอมิให้มีการฆ่า ทำลายชีวิต ตลอดจนถึงการเบียดเบียนทางกาย (อนูปฆาโต)
ค. ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่พระพุทธองค์อนุญาต (ปาฎิโมกฺเข จ สํวโร)
ง. รู้จักประมาณในการบริโภค อาหาร ตลอดจน รู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺสมึ)
จ. ฝึกตนอย่างจริงจัง ในที่ที่สงัดจากสิ่งรบกวน (ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ)
ฉ. ภาวนาอยู่เสมอ คือ พัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา การภาวนา หมายถึง การใช้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนา แก้ปัญหา หรือจัดการกับกิเลส (อธิจิตฺเต จ อาโยโค) เป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ มิให้จิตใจเศร้าหมอง ให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ (สจิตฺตปริโยทปนํ)

จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้จะเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายไว้นั้น พระองค์ได้ย้ำเตือนไว้ว่า จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นอย่างบรรพชิต และเป็นอย่างสมณะ คือ เว้นจากความชั่วทุกประการ และเป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อระงับบาปอกุศล ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอริยบุคคล ทั้งไม่เบียดเบียนและไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทั้งหลาย (น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต)




วิธีการปฏิบัติเพื่อจะเข้าถึง แก่นของโอวาท ปาฏิโมกข์ ไม่ใช่แค่ปรัชญา หรือคำสอนลอยๆ

แต่เป็นตรรกะทางวิทยาศาสตร์ ที่พิสูจน์ได้ ด้วยการนำคำสอนไปปฏิบัติ (สร้างเหตุ)

แล้วจะเกิดผล คือ ความสงบสุขตามมามีดังนี้…



“เราจะต้องฝึกจิต ไว้เพื่อให้เกิดตัวสติ ไประลึกรู้ สภาวะการทำงานของร่างกาย-จิตใจ ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งสมมุติ ต่างๆ

การมีสติระลึกรู้ อยู่ในกาย ในใจนั้น จะทำให้จิตใจของเรามั่นคงในศีลด้วยการพึงสำรวมระวัง

ในการรับผัสสะทางอายตนะทั้ง 6 อันได้แก ทาง หู, ตา, จมูก, ลิ้น, กาย และ ธรรมารมณ์ (ใจ)

ซึ่งไม่ใช่ศีลที่ต้องไปรับมา สมาทานมา แต่เป็นศีลที่เกิดขึ้นจากจิตที่ฝึกฝนดีแล้ว และเฝ้าระวังตัวเอง จากการกระทำผิดทางใจ,

ก่อนที่จะพูดออกมาเป็นวาจา และ แสดงออกมาเป็นการกระทำ

(ก. ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ (สพฺพปาปสฺส อรกณํ)



เมื่อใจมีความเป็นปกติอยู่ด้วย อินทรียสังวรศีลนี้ และมั่นคงอยู่ด้วยความพากเพียรในการเจริญสติ

ความตั้งมั่น แน่วแน่ของจิต ที่มีสติรู้ตื่นอยู่กับ การคิด, พูด และทำ ในชีวิตประจำวันนั้น

ตัวจิตจะมีลักษณะ กล้าหาญ,มั่นคง, ตั้งมั่น และเป็นกลาง ต่ออารมณ์ที่มากระทบ

เราเรียกจิตที่ฝึกฝนมาดีแล้ว ถึงพร้อมแล้ว และพากเพียรมาถึงระดับนี้ว่า จิตมีสัมมาสมาธิ

(ข. ทำความดี หรือสะสมกุศล ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย วาจา และใจ (กุสลสฺสูปสมฺปทา)





และเมื่อใด จิตประกอบไปด้วย สติ และ สัมมาสมาธิ จิตจึงจะถึงพร้อมด้วยการสร้างเหตุแห่งการเกิดปัญญา

อันได้แก่การปล่อยวางความคิด ปล่อยวางสิ่งปรุงแต่งลง ไม่เอามาแบก ไม่เอามาเป็นทุกข์

ด้วยการเข้าถึงความเป็นธรรมดาของกาย-ใจ ซึ่งก็คือ ตัวปัญญา

ตัวปัญญานี้ไม่ได้ฝึกให้เกิดขึ้นได้ ไม่ได้บังคับให้เกิดขึ้นได้ แต่ตัวปัญญาจะเกิดขึ้นเองได้ เมื่อมีเหตุอันสมควร

เหตุที่จะใกล้ให้เกิดปัญญา คือ มีสติระลึกรู้อยู่เสมอๆ ด้วยความพากเพียร และ มีสัมมาสมาธิ เพียงพอที่จะ

ระลึกรู้ทันสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และ เข้าใจความเป็นธรรมดาของรูป-ของนาม ตามความเป็นจริง

ว่ารูป-นาม นั้น เป็น ทุกข์, เปลี่ยนแปลงได้ และ ไม่มีตัวตน อยู่จริง (เรียกว่า มีปัญญาเห็นไตรลักษณ์)

(ค. การชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบสันติ เป็นอิสระ (สจิตฺตปริโยทปนํ)



เมื่อเดินมาถึงจุดนี้แล้ว ทั้งตัวสติ ทั้งตัวสัมมาสมาธิ ก็มีเสื่อมถอยได้

ผู้ปฏิบัติจึงพึงเดินทางสายกลางด้วยการ เจริญในมรรค ๘ อย่าประมาท

(การเจริญในอินทรียสังวรศีลด้วยสติ, การสร้างเหตุของปัญญาอันได้แก่สัมมาสมาธิ นี้แหละ คือ การเจริญในมรรค ๘)



ตัวปัญญาที่เคยเกิดขึ้นแล้วแด่จิต จะเป็นตัวสะสม บ่มพลัง ไว้ต่อสู้กับสิ่งปรุงแต่งที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย

ยิ่งจิตเกิดปัญญามาก สะสมความรู้เท่าทันในสังขารมาก (วิปัสสนาปัญญามีเป็นลำดับๆไป)

จิตจะยกระดับตัวเองให้พ้นจากทุกข์ได้มาก



จนในที่สุดจิตจะหลุดพ้นออกจากความทุกข์ได้โดยไม่กลับมาทุกข์อีก

ที่เรียกว่า จิตเกิด สมุทเฉทนิโรธ หรือ เกิดขบวนการอริยมรรค-อริยผล

จนเรียกว่าจิตได้ก้าวเข้าสู่ โลกุตละภูมิ หรือ ภูมิจิตของพระอริยะที่เหนือโลก เหนือการปรุงแต่งให้เกิดทุกข์นั้นเอง

(ขบวนการอริยมรรคก็มีเป็นลำดับๆไปจนกว่าจะเข้าสู่ที่สุดแห่งการรู้ทุกข์ คือ นิพพาน)

นี่แหละคือเนื้อความทั้งหมดของ พระพุทธศาสนา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา