วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

รากฐานของความดี ต้องมีความกตัญญู

รากฐานของความดี ต้องมีความกตัญญู


มาในยุคนี้ ยุคที่ใคร ๆ ก็เชิดชูในเรื่องเหตุเรื่องผล แม้ในครอบครัวก็เช่นกัน

ลูก ๆ สมัยนี้กล้าที่จะพูดสวนคุณพ่อคุณแม่หากคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเหตุผล โดยไม่รู้จักคำว่า "กุศโลบาย" ในการพูด ในทางที่จะรักษาน้ำใจกันไว้ รวมทั้งคำว่า "กตัญญู" ก็ดูจะเบาบางไปทุกที



จำได้ว่าครั้งแรกสุดที่ไปกราบหลวงปู่ดู่ หลวงปู่ได้สอนเน้นไปที่ความกตัญญู

ท่านไม่ให้มุ่งเอาแต่กราบพระนอกบ้านจนมองข้าม "พระอรหันต์ที่บ้าน" คือคุณพ่อคุณแม่

ท่านว่า ลูกที่ทำบุญกับพ่อแม่ก็เหมือนทำบุญกับพระอรหันต์
ในทางตรงข้ามหากเราทำบาปกับท่าน ก็จะได้รับวิบากกรรมหนักเช่นกัน



สำหรับคนที่ชอบวัตถุมงคลแล้ว หลวงปู่จะสอนว่า เวลาไปต่างจังหวัด นอนค้างอ้างแรมในที่ที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย แม้ไม่มีวัตถุมงคลติดตัวไปก็ไม่เป็นไร ขอให้เราระลึกถึงคุณพ่อแม่ กราบระลึกถึงคุณท่านก่อนนอน แล้วความกตัญญูอันนี้จะช่วยปกปักรักษาเราให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้





แน่นอนว่า ความมีเหตุมีผลเป็นเรื่องสำคัญ

แต่บางครั้งเราก็ไม่ควรเอาเรื่องเหตุผลมาอยู่เหนือความเป็นพ่อ-แม่ เป็นลูก หากไม่เห็นด้วย ก็ควรหากาละเทศะที่เหมาะสมที่จะเรียนท่านให้เข้าใจ มิใช่สวนกลับให้ท่านต้องเสียใจ



นักปฏิบัติโดยมากจะขี้เกรงใจกับเพื่อนฝูงหมู่คณะ แล้วละเลยมิได้เอามาใช้กับพ่อแม่และคนที่บ้าน เรียกว่าออกนอกบ้านก็เป็นนักมวยยกมือตั้งการ์ด รักษาไว้ด้วยดีตลอดวัน แต่พอเข้าบ้านก็ปลดการ์ด อะไรนิดอะไรหน่อยก็หงุดหงิดรำคาญใจ ไม่คิดว่าการปฏิบัติธรรมมีได้ทั้งนอกบ้านและในบ้าน



มองที่บ้านเรามีพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่เราต้องกตัญญูรู้คุณท่าน มองไปที่วัดวา เรามีครูอาจารย์ที่ท่านสอนให้เราเป็นคนดี เป็นคนฉลาดทางธรรมเพื่อว่าจะได้เป็นทั้งคนดีและคนที่มีทุกข์น้อย



โลกแห่งวัตถุนิยมได้ทำคนให้เสียทั้งฆราวาสและพระ...



ได้เห็นพระที่ท่านไม่กตัญญูต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่อดทนต่อคำสั่งสอนที่ท่านตั้งใจอบรมชี้แนะด้วยเมตตา ผลก็คือ ไม่ช้าไม่นานก็จะมีความวิบัติเกิดขึ้น เช่น ถูกขับออกจากสงฆ์บ้าง หรือไม่ก็ไม่สามารถรักษาสมณเพศเอาไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง



จึงว่ารากฐานความดีต้องมีความกตัญญู พระพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้ว่า

"ความกตัญญูคือเครื่องหมายของคนดี"



หลวงปู่ท่านแสดงออกถึงความกตัญญูมาโดยตลอด ใคร ๆ ก็รู้ว่าหลวงปู่ตั้งใจที่จะไม่ออกนอกวัดเลย แต่เมื่อโยมพี่สาวที่เคยดูแลท่านถึงแก่อนิจกรรม ท่านก็ออกไปจัดแจงงานศพให้ หลวงปู่นอบน้อมและกตัญญูต่อหลวงปู่ใหญ่ เจ้าอาวาสวัดสะแก สมัยนั้นเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่หลวงปู่ใหญ่เอ่ยปากให้หลวงปู่ทำอะไร หลวงปู่จะตั้งใจทำถวายครูอาจารย์เสมอ และทำด้วยความนอบน้อม กระทั่งหลวงปู่ใหญ่สิ้น หลวงปู่ก็ทำเหรียญที่ระลึกและตั้งใจอธิษฐานพระตั้งพรรษา ท่านว่าท่านตั้งใจทำถวายครูอาจารย์ หากเหรียญนี้ไม่ดีจริงให้มาว่าท่านได้



ในสมัยหลังที่หลวงปู่ใหญ่สิ้น หลวงปู่ซึ่งเป็นผู้อาวุโสสูงสุด และมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับ สมควรแก่ตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ แต่เมื่อมีคนมานิมนต์ให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ปฏิเสธ เพราะท่านไม่ชอบการปกครองสงฆ์ รวมทั้งต้องการมีเวลาให้กับการอบรมญาติโยมในทางปฏิบัติภาวนามากกว่า



อย่างไรก็ดี เมื่อมีเจ้าอาวาสองค์ใหม่ หลวงปู่ก็วางตัวเป็นพระลูกวัดที่ดี ให้ความยำเกรงในองค์เจ้าอาวาส ปัจจัยสังฆทานต่าง ๆ หลวงปู่ก็ให้รวบรวมนำส่งเจ้าอาวาสทุกวัน ผมเองก็เคยไปช่วยนับเงินในบางวัน กิจการส่วนรวมเช่น พัฒนาวัด พัฒนาโรงเรียนวัดสะแก สร้างสะพาน หลวงปู่ก็รับเป็นธุระ ทำให้สำเร็จด้วยดี



ไม่เพียงหลวงปู่จะแสดงออกถึงความกตัญญูที่มีต่อครูอาจารย์ แม้แต่โยมอุปัฏฐาก หรือโยมที่มาถวายภัตตาหาร หลวงปู่ก็ไม่เคยลืมบุญคุณ หลวงปู่จะแผ่เมตตาให้ หรือบางครั้งที่เกิดเหตุอันตราย หลวงปู่ก็จะส่งกระแสจิตไปปกปักรักษา เช่น กรณีของลุงแกละ โยมอุปัฏฐากท่านหนึ่งของหลวงปู่ ที่กำลังโดนไฟดูด (น้ำท่วมบ้าน) หลวงปู่แม้อยู่ที่วัด ท่านก็ทราบ ท่านได้กำหนดจิตไปช่วยผลักลุงแกละ ทำให้รอดตายออกมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ตัวหลวงปู่เองกลับมีอาการเลือดกำเดาไหล ลูกศิษย์ที่วัดเห็นเข้าก็ตกใจ ถามท่านว่าท่านเป็นอย่างไร ท่านว่าท่านไปช่วยตาแกละ...



ที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งคือ หลวงปู่ท่านจะสอนให้ลูกศิษย์กตัญญูต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ท่านว่าท่านไม่เคยลืมที่จะแผ่เมตตาให้ทุก ๆ วัน มิได้ขาดเลย



ในขณะที่คนยุคสมัยใหม่ค่อย ๆ ลืมเลือนกับคำว่า "กตัญญู" แม้ทุกวันนี้ก็มีให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยกำลัง อกตัญญูต่อแผ่นดินและองค์พระมหากษัตริย์ ก็ขอให้พวกเราพากันเอาหลวงปู่เป็นแบบอย่าง ยึดมั่นในคุณธรรมข้อ "ความกตัญญู" นี้ให้มั่น ว่า…



หากขาดความกตัญญูอันเป็นรากฐานของความดีทั้งหลายแล้วไซร้



ก็ไม่ต้องไปพูดถึงมรรคผลนิพพานหรือธรรมะชั้นสูงอะไรเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา