วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เศรษฐกิจฟื้นเร็ว ปรับแผนก่อหนี้ปี 58 งบสมดุล‏

เศรษฐกิจฟื้นเร็ว ปรับแผนก่อหนี้ปี 58 งบสมดุล

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 สิงหาคม 2552 08:01 น.

คลังปรับแผนก่อหนี้ใหม่หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ระบุ หนี้สาธารณะแตะระดับสูงสุดที่ 57% และใช้งบประมาณขาดดุลครั้งสุดท้ายปี 57 ก่อนเข้าสู่งบสมดุลปี 58 ส่วนยอดเงินกู้ปี 53 พุ่ง 1.6 ล้านล้านบาท เร่งใช้โครงการไทยเข้มแข็งพร้อมกดปุ่มเข้าสู่ระบบวันแรก 28 ส.ค.นี้

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนแผนบริหารหนี้สาธารณะใหม่ หลังจากประเมินภาวะเศรษฐกิจและความจำเป็นในการใช้เงินกู้อีกครั้ง โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ประเมินว่า ตัวเลขหนี้สูงสุดต่อจีดีพีในปี 2557 จะปรับลดลงจากที่ประเมินไว้เดิม 61% เหลือ 57% ภายใต้สมมุติฐานเดิมคือเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวปลายปีนี้และขนายตัวเป็นบวกปีหน้า 2.5% ต่อเนื่องถึงปี 57 ที่ระดับ 4.5-5.0% ส่วนเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 3.5%

ในขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประเมินว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ประเมินไว้สูงเกินไปและอยากดูแลให้ต่ำกว่านี้ ส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณสูงสุดอยู่ที่ 15% ของวงเงินงบประมาณ และคาดว่า ในปี 2557 รัฐบาลจะใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลเป็นปีสุดท้าย โดยตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณปี 2557 ไว้ที่ 1.3 แสนล้านบาทจากนั้น จะกลับเข้าสู่ภาวะงบประมาณสมดุลในปี 2558

“ตัวเลขหนี้ต่อจีดีพีที่ลดลงนั้นยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเป็นไปได้ เพราะยังอยู่ภายใต้สมมติฐานเดิม จึงให้ไปทบทวนดูอีกครั้ง เพราะตัวเลขสูงสุดที่ 60-61% ก็เป็นระดับที่ยอมรับได้และไม่กระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเท่าใดนัก จึงไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวเลขดูดีกว่าความเป็นจริง” นายกรณ์ กล่าว

สำหรับแผนการก่อหนี้ปีงบประมาณ 2552 ที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ได้มีการปรับตัวเลขลดลงจากเดิม 1.3 ล้านล้านบาท เหลือ 1.13 ล้านล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินใหม่ 7.7 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ลดลงเนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ล่าช้า ส่วนปีงบประมาณ 2553 กำหนดแผนก่อหนี้ไว้ที่ 1.6 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินใหม่ 8 แสนกว่าล้านบาท

ซึ่งวงเงินกู้ใหม่กว่า 8 แสนล้านบาทดังกล่าวนั้นได้รวมถึงการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 แสนล้านบาท และการกู้เงินจากต่างประเทศเผื่อไว้แล้ว แต่จะพิจารณาตามความจำเป็นในการใช้เงิน โดยในเบื้องต้นเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นจึงปรับเปลี่ยนแห่งเงินที่ใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใหม่เป็นการใช้เงินกู้ในประเทศแทนนทั้งหมด

ส่วนปีงบประมาณ 2552 นี้ จะมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.อีก 3 หมื่นล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2553 จะกู้อีก 3.2 แสนล้านบาท ขณะที่ความจำเป็นในการใช้เงินของโครงการไทยเข้มแข็งนั้นจะอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำรายละเอียดของโครงการใช้เงินเสนอเข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ส.ค.นี้ จากนั้นวันที่ 28 ส.ค.จะเปิดตัวโครงการไทยเข้มแข็งและเริ่มกดปุ่มโอนเงินล็อตแรกเข้าบัญชีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา