วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มีไหม? ที่ที่คุณเรียนน่ะ เคยฉงน สงสัยบ้างไหม? ป.เอก??

Subject: มีไหม? ที่ที่คุณเรียนน่ะ เคยฉงน สงสัยบ้างไหม? ป.เอก??




การเรียนเพื่อเอาปริญญานั้นเป็นแค่เสี้ยวเดียวของชีวิต เมื่อจบแล้วควรเรียนรู้ด้วยว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีคุณภาพ

การเรียนปริญญาเอก

แบ่งปัน โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 17 ตุลาคม 2553 12:55 น.



ผมไม่ได้สอนหนังสือมานาน แต่เวลานี้เพื่อนชวนไปสอนปริญญาโทและเอกที่รามคำแหง ผู้มาเรียนเกือบทั้งหมดมีงานทำแล้ว ทำให้ย้อนคิดไปถึงสมัยที่สอนอยู่นิด้า ผมเพิ่งอายุ 27 แต่นักศึกษาส่วนใหญ่อายุ 30 ขึ้นไป เป็นพวกทำงานแล้วมีตำรวจเรียนหลายคนเพราะจบใหม่ๆ เป็นร้อยตำรวจตรี หากจบปริญญาโทก็ได้เป็นร้อยตำรวจเอกเลย บางคนก็มาจากมหาดไทย เช่น มนุชญ์ วัฒนโกเมร และพงศ์โพยม วาศภูติ เป็นต้น

การเรียนนิด้าตอนนั้นเข้มมาก นักศึกษาต้องภาษาอังกฤษดีเพราะหนังสืออ่านเป็นภาษาอังกฤษเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ละวิชาต้องมีการทำรายงาน แม้จะให้เลือกทำวิทยานิพนธ์ได้แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีคนเลือก จะสอบไล่ความรู้รวบยอดแทน การเรียนปริญญาโท 2 ปีก็จบ

เดี๋ยวนี้มีการเปิดหลักสูตรปริญญาโท และเอกในหลายสถาบันทั้งของรัฐและเอกชน ค่าเล่าเรียนแพงมาก มีคนเล่าว่ากว่าจะจบต้องเสียเงิน 1-2 ล้านบาท กระนั้นก็มีผู้เรียนมากมาย ที่สำคัญก็คือการเรียนปริญญาเอกที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ กว่าจะจบก็ใช้เวลา 5-6 ปี ไม่ค่อยจะมีคนจบ 3 ปีเลย

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์นานมาก บางคนใช้เวลาถึงหนึ่งปี การหาข้อมูล และการเขียนก็ใช้เวลามาก ที่น่าสังเกตก็คือการเรียนวิชาระดับปริญญาเอก มีเฉพาะการสอบ แต่ไม่มีการเขียนรายงาน ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกให้ทำวิจัยค้นคว้าหาข้อมูล พอจบหลักสูตรแล้วตอนจะเขียนวิทยานิพนธ์ก็ไม่เคยชิน กว่าจะเขียนได้บทหนึ่งก็ใช้เวลามาก

ผมเสนอว่าควรให้มีการเขียนรายงานในทุกวิชา ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ทุกวิชาจะต้องมีการเขียนรายงาน ผมเองใช้การเขียนรายงานเป็นการเตรียมวิทยานิพนธ์ ที่สำคัญก็คือจะต้องรู้หัวข้อเสียก่อน และเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเรา (มีโอกาสไหม? RSU)

ผมอาศัยรายงานเป็นการเตรียมบทต่างๆ ได้ 3 บท พอเขียนวิทยานิพนธ์ ก็เขียนบทที่หนึ่ง และบทสรุปดังนั้นเวลา 3 เดือนที่เรียนก็ใช้รายงานที่เพื่อนในห้อง และอาจารย์ช่วยวิจารณ์ให้แล้ว เราก็นำมาแก้ไขปรับปรุงผล ปรากฏว่า ผมใช้เวลาทำวิทยานิพนธ์เพียง 6 เดือน และเมื่อนำเสนอก็ไม่มีการแก้ไข เพราะหลายบทที่เป็นเนื้อหาสำคัญได้ผ่านการวิจารณ์มาแล้ว

ผมเห็นว่า การเรียนปริญญาเอก ควรใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี มิฉะนั้นก็จะเป็นการเสียเวลามากเกินไป และผู้เรียนควรมีการเตรียมตัวอย่างดี

ผมชอบแนะนำลูกศิษย์ว่า การเรียนเพื่อเอาปริญญานั้นเป็นแค่เสี้ยวเดียวของชีวิต เมื่อจบแล้วควรเรียนรู้ด้วยว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีคุณภาพ ครูที่เป็นที่ปรึกษาของผมสอนตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ที่ผมยังจำได้ดี ท่านไม่ชอบให้ผมกินแฮมเบอร์เกอร์ ท่านว่าเป็น “เศษเนื้อ” ท่านบอกว่า ต้องกินสเต๊ก หากไม่มีเงินก็ไม่ต้องกิน หากจะกินเหล้าก็ต้องกินวิสกี้ดีๆ ที่บ่มนานๆ อย่างมอลต์บริสุทธิ์ 25 ปี เป็นต้น และควรสวมรองเท้าดีๆ รองเท้าไม่ดีอย่าใช้ นอกจากนั้นก็ยังแนะนำกลายๆ ให้รู้จักฟังเพลงคลาสสิก และโอเปร่า อ่านหนังสือดีๆ ในอเมริกามีบุ๊กคลับให้เราเป็นสมาชิก และมีการคัดเลือกหนังสือดีๆ ส่งมาให้อ่าน ส่วนมากเป็นหนังสือคลาสสิก และพวกหนังสือขายดี

อาจารย์ผมทานเหล้า แต่ไม่สูบบุหรี่ ท่านมีเวลาทานเหล้าตอนทำอาหาร จะดื่มเพียงแก้วสองแก้ว มีเนยแข็งอย่างดีแกล้ม การใช้ชีวิตก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย ชอบไปเที่ยวสวนป่าธรรมชาติ ส่วนภรรยาไปส่องดูนก ผมเคยไปดูนก บางทีนั่งเงียบๆ อยู่สองชั่วโมงกว่าจะมีนกบินมาสักตัวหนึ่ง แล้วก็ขับรถกลับบ้าน

นักศึกษาของเราก็ควรเรียนรู้การใช้ชีวิตเช่นกัน ตั้งแต่รู้จักฟังเพลงดีๆ ผมแนะนำให้ฟังเพลงแนวซิมโฟนีของไทยที่ประพันธ์โดยประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง และฟังเสียงโซปราโนอันเพราะพริ้งของคุณใจรัตน์ พิทักษ์เจริญ ที่หากใครได้ฟังเสียงของเธอแล้ว ก็จะเลิกฟังเพลงสมัยนี้ที่ร้องโดยนักร้องที่เสียงเทียบคนอย่างคุณใจรัตน์ ไม่ได้เลย

การเรียนรู้การใช้ชีวิตให้มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่มีการสอนกันในโรงเรียน ตอนผมอยู่วชิราวุธได้จัดให้มีห้องสมุดมีหนังสือดีๆ มีเพลง และมีหนังดีๆ ฟัง สมัยก่อนผู้บังคับการโรงเรียนคือ เจ้าคุณภรตฯ ท่านแต่งตัวเนี้ยบมาก เสื้อและกางเกงเรียบ หากสวมเสื้อแขนสั้นแขนก็จะไม่สั้นมาก คือ ยาวลงมาเกือบถึงข้อศอก ทำให้ดูเรียบร้อยเป็นพิเศษ ท่านจะพานักเรียนไปทานอาหารฝรั่งดีๆ

เด็กๆ ของเรามักไม่เคยถูกสอนการใช้ชีวิต โชคดีที่วชิราวุธมีทั้งกีฬา ดนตรี และศิลปะ ดังนั้นเด็กๆ จึงซึมซับเรื่องพวกนี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเติบโตขึ้นก็ยังคงเล่นกีฬา และเมื่อเล่นกีฬาหนักๆ ไม่ได้ก็หันมาเล่นกอล์ฟแทน พอแก่ตัวเข้าก็สบาย เลือกกินอาหารดีๆ มีคุณภาพ

การเรียนปริญญาเอกในเมืองไทยมีสองแนวทาง คือ แนวทางอาชีพกับแนวทางวิชาการ แต่ผมเห็นว่าควรเน้นแนววิชาการซึ่งบางโครงการก็ทำได้ดี นักศึกษามีคุณภาพ ตอนผมเรียนครูของผมให้ทำ outline วิชาการเมืองไทย ผมก็ต้องไปค้นหนังสือที่เกี่ยวกับการเมืองไทย อ่านทุกเรื่อง และมาทำหัวข้อมีบรรณานุกรม เท่ากับเป็นการฝึกฝนทางอ้อม ดังนั้นอาจารย์ปริญญาเอกไม่ควร แต่มุ่งเนื้อหาสาระวิชา แต่ควรช่วยฝึกฝนทักษะอื่นๆ รวมทั้งทักษะชีวิตด้วย ผมจำได้ว่า ตอนที่เรียนผมได้ A ทุกวิชา พอมาถึงวิชาที่เรียนกับอาจารย์ที่ปรึกษา ผมได้ B+ อาจารย์บอกว่าที่จริงผมได้ A แต่ให้ B+ เพราะจะช่วยให้ผมไม่หลงตัวเองจนเกินไป อย่างนี้ก็มีด้วย ทำให้ผมเลิกบ้าเกรด เพราะเดิมตั้งใจว่าจะจบด้วยเกรด 4 เต็ม

เวลาผมสอน ผมชอบแนะนำหัวข้อวิทยานิพนธ์ และวิธีการค้นข้อมูล ตลอดจนนำเสนอเรื่องให้นักศึกษาด้วย เพราะจะช่วยให้เขาเห็นแง่มุมที่แตกต่างออกไป และจะได้รู้ มีความมั่นใจว่าการทำวิทยานิพนธ์ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา