วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

"กรน" บ่อยระวัง! เบาหวาน-ความดัน-สมองช้า

“กรน” บ่อยระวัง! เบาหวาน-ความดัน-สมองช้า

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤศจิกายน 2553 00:25 น.


ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต


แพทย์เตือนคน “นอนกรน” เสี่ยงป่วยเรื้อรัง ชี้เด็กต่ำกว่า 10 ปี นอนกรนอาจป่วยเป็นสมองเฉื่อย แนะรีบตรวจหาสาเหตุก่อนสู่ขั้นรุนแรง หลังพบร้อยละ 30 ของคนนอนกรนส่อป่วยเป็นเบาหวาน-ความดัน-หัวใจ แถมปัญหาหลับใน ง่วงกลางวัน

ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ประธานกรรมการมูลนิธิโรคนอนกรนและการนอนหลับผิดปกติ กล่าวใน “มหกรรมรวมพลคนรักสุขภาพแห่งชาติกับแพทยสภา” เกี่ยวกับปัญหาการนอนกรนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โรคนอนกรนพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งจากรายงานข้อมูลพบว่า ในโรงพยาบาลทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคนอนกรนเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉลี่ยวันละ 30 ราย โดยสาเหตุหลักของโรคมาจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจตั้งแต่จมูกลงไปถึงคอ ได้แก่ ลิ้นไก่ เพดานอ่อน โคนลิ้น ทอนซิล มีความหนาหรือโตขึ้น และไปกีดขวางทางเดินอากาศทำให้บริเวณทางเดินอากาศแคบลงขณะหลับ และลิ้นก็ตกลงด้านล่างไปกดทับทางเดินอากาศส่งผลให้มีการหายใจเข้าออกที่แรงกว่าปกติ ทั้งนี้หากอาการนอนกรนเกิดขึ้นกับเด็กอายุ ต่ำกว่า 10 ปีอาจที่มีต่อมทอนซิลสั้นหนา เป็นไปได้ว่า เด็กอาจเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ แพ้ฝุ่นเป็นต้น ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆเมื่อเด็กโตขึ้นอาจเสี่ยงต่อการมีความจำสั้นได้ เนื่องจากเวลาเด็กกรนบ่อยครั้งจะทำให้เด็กได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อพัฒนาการสมองได้

ศ.นพ.ชัยรัตน์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันอาการนอนกรนในวัยผู้ใหญ่สามารถพบได้ในอายุระหว่าง 20-50 ปี ซึ่งต่างจากเดิมที่พบในวัย 30 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ พบมากที่สุดในผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งอาการดังกล่าวไม่เพียงแต่ก่อความรำคาญกับคนรอบกาย แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างที่คาดไม่ถึง โดยพบว่าการนอนกรนสามารถเป็นจุดเริ่มของการเกิดโรคหลายๆอย่าง เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคสมอง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคสมรรถภาพทางเพศเสื่อม โรคเบาหวาน ความจำเสื่อม หลับในง่าย ปวดศีรษะหลังตื่นนอน ส่งผลต่อปัฯหาความเครียด อ่อนเพลียง่าย และง่วงนอนตลอดเวลา

“ระดับการนอนกรน 3 ระดับ ได้แก่ 1.เสียงกรนดังขึ้นเมื่อนอนหงาย หากเปลี่ยนเป็นนอนตะแคงก็จะดีขึ้นโดยพบได้ร้อยละ 60 ของผู้ป่วย 2.กรนทุกที่และทุกท่าที่นอนหรือนั่งหลับพบได้ร้อยละ 10 สุดท้าย คือ ระดับ 3.มีการหายใจติดขัด สะดุด สำลักน้ำลายหรือหยุดหายใจเป็นระยะๆ ส่งผลให้ตอนกลางวันง่วงนอนง่าย ขี้เซา หลับในพบร้อยละ 30 ซึ่งระดับนี้เสี่ยงต่อการป่วยโรคเรื้องรังที่กล่าวมามากที่สุด” ศ.นพ.ชัยรัตน์กล่าว

ประธานกรรมการมูลนิธิโรคนอนกรนและการนอนหลับ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศไม่ยิมนิ่งเฉยต่อปัญหาที่มี และพยายามที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อลดอัตราผู้ป่วยโรคเรื้อรังลง ซึ่งแพทย์เชื่อว่าหากมีการตรวจคัดกรองการนอนกรนโดยเร็ว เพื่อรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถลดอัตราผู้ปป่วยโรคเริ้อรังได้ราวร้อยละ20-30 ทั้งนี้สำหรับวิธีการรักษาสามารถทำได้หลายวิธีที่สามารถทำได้ในผู้ป่วยเด็กซึ่งมีอาการไม่รุ่นแรง ได้แก่ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 0.9% ถ้ามีอาการ แน่นจมูก หรือเป็นโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย หรือถ้าเป็นการรักษาในวัยผู้ใหญ่ในทางการแพทย์ ทำได้ด้วย 1.การใส่พิลลาร์ ผู้ป่วยที่เหมาะสมกับวิธีการใส่พิลลาร์นี้ ควรเป็นผู้ป่วย นอนกรนชนิดไม่อันตราย หรือชนิดอันตรายขั้นน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่เพดานอ่อน และไม่แนะนำในกรณีป่วยระดับ 3 ซึ่งเป็นนอนกรนชนิดอันตรายขั้นรุนแรง

“2.เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) ผู้ป่วยที่มีปัญหาหยุดหายใจ ขั้นรุนแรงมักได้ผลค่อนข้างดี โดยผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากที่ครอบบริเวณจมูก รัดให้แน่นและเป่าลมเข้าไปในจมูก ซึ่งจะช่วยแก้ไขการหยุดหายใจขณะหลับได้ 3.การผ่าตัดรักษานอนกรน ผู้ป่วยโรคนอนกรน ถ้ารักษาโดยการใช้ เครื่องช่วยหายใจ CPAP แล้ว ไม่ได้ผลเนื่องจากปัจจัยต่างๆ หรือไม่สะดวกในการ ใช้เครื่อง การผ่าตัดรักษานอนกรน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ผลการรักษาดี วิธีสุดท้ายอาจหายขาดจากโรคนอนกรนได้ แต่ผู้ป่วยต้องพยายามควบคุมน้ำหนัก โดยเพศหญิงไม่ควรเกิน 55 กก.เพศชายไม่เกิน 75 กก. และพยายามเลิกสูบบุหรี่ด้วย” ประธานกรรมการมูลนิธิฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สงสัยว่าป่วยโรคนอนกรนหรือไม่ สามารถตรวจคัดกรองได้ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ รพ.พระมงกุฎเกล้าเปิดบริการภายใต้แนวคิด “คนไทยห่างไกลเสียงกรน ทุกคนหลับสบาย” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติชั้น 10 เวลา 13.00-16.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหา